ศาลแพ่งสั่งตำรวจคำนึงความปลอดภัยสื่อมวลชน ยกคำร้องห้ามสลายชุมนุม-ใช้กระสุนยาง
ศาลแพ่ง มีคำสั่งเมื่อวันอังคาร (10 ส.ค.) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จำเลยที่ 1) ระมัดระวังต่อการปฏิบัตหน้าที่ควบคุมและสลายการชุมนุม โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน
"จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน" ศาลแพ่ง ระบุ
นายธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวพลัสเซเว่น และพวกอีก 1 คน ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนคุ้มครองฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ (9 ส.ค.) หลังจากได้รับบาดเจ็บจากการที่ตำรวจยิงกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ (7 ส.ค.)
ยกคำร้องห้ามใช้กระสุนยาง-สลายชุมนุม-จำกัดพื้นที่ทำงานสื่อ
อย่างไรก็ตาม ศายแพ่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในประเด็นอื่นอีก 3 ประเด็น คือการห้ามตำรวจใช้กระสุนยาง การห้ามสลายการชุมนุม และห้ามข่มขู่สื่อมวลชน
ศาลแพ่งอธิบายว่า สาเหตุที่ยกคำร้องห้ามตำรวจใช้กระสุนยาง เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจพิเศษแก่ฝ่ายบริหาร ทำให้ตำรวจมีอำนาจในการสลายการชุมนุมด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อแต่ละสถานการณ์ และยังไม่พบว่าตำรวจมุ่งใช้กระสุนยางต่อสื่อมวลชน ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ก็นำมาใช้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้
ส่วนการยกคำร้องการสลายการชุมนุม ศาลแพ่งระบุว่า เป็นคำขอให้คุ้มครองผู้ชุมนุม แต่โจทก์เป็นสื่อมวลชนไม่ใช่ผู้ชุมนุม
ประเด็นสุดท้าย คือ การห้ามตำรวจข่มขู่และจำกัดพื้นที่การทำงานของสื่อมวลชนนั้น ศาลแพ่งระบุว่า พยานของโจทก์ไม่ได้เบิกความว่าสื่อมวลชนถูกตำรวจจำกัดพื้นที่ทำงาน และโจทก์ไม่ได้เขียนคำขอท้ายฟ้องให้ศาลห้ามตำรวจจำกัดพื้นที่ทำงานของสื่อมวลชน ศาลจึงให้การคุ้มครองก่อนมีคำพิพากษาไม่ได้