บช.น. เผยจำเป็นต้องควบคุมพื้นที่ เหตุผู้ชุมนุมปาพลุ-ประทัดใส่ไม่หยุด ตำรวจเจ็บ 8 นาย
รอง ผบ.ชน. เผยจำเป็นต้องควบคุมพื้นที่ เหตุผู้ชุมนุมปาพลุ-ประทัดใส่ไม่หยุด ตำรวจเจ็บ 8 นาย นอกจากนี้ยังมีอีก 2 นายถูกทำร้ายขณะเดินทางกลับที่พัก
(11 ส.ค.64) พลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษก บช.น. พร้อมด้วยพลตำรวจตรี ยิ่งยศ เทพจํานงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงสรุปผลการปฏิบัติงานควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งภายหลังจากกลุ่มทะลุฟ้ายุติการชุมนุมไปแล้ว ยังมีมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และใช้วัตถุต่างๆ ยิงใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงปาพลุและประทัดยักษ์ใส่เจ้าหน้าที่อยู่ตลอดเวลา จนตำรวจจำเป็นต้องเข้าควบคุมพื้นที่เพื่อคลี่คลายสถานการณ์
จากการเผชิญหน้าของตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในกองร้อยควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บ 8 นาย โดยได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดของพลุและประทัดยักษ์ที่ผู้ชุมนุมปาใส่ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย ซึ่งกำลังเดินทางกลับที่พักถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล
โดยในระหว่างการเข้าควบคุมสถานการณ์สามารถควบคุมผู้ต้องหาได้ 13 คน พร้อมทั้งยึดรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในการก่อเหตุได้อีกจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะควบคุมตัวไปดำเนินคดีตามขั้นตอน
ส่วนกรณีที่มีผู้เผยแพร่ภาพคลิปวิดีโอเป็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกประทัดยักษ์ระเบิดใส่มือขณะที่กำลังจะปาใส่เจ้าหน้าที่ จนทำให้นิ้วมือขาด เจ้าหน้าที่ตำรวจขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ รับวัตถุระเบิดมาจากชายอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชุมนุมด้วยกัน ไม่ได้เป็นตำรวจตามที่มีการกล่าวอ้างกันในโลกโซเชียล
ทั้งนี้ การกระทำของชายที่ได้รับบาดเจ็บเข้าข่ายความผิดหลายข้อหา ซึ่งตำรวจทราบแล้วว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร แต่ต้องให้เข้ารับการรักษาให้ปลอดภัยก่อนจึงจะดำเนินคดีตามขั้นตอน ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวจงใจที่จะปาวัตถุระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ หรือเป็นการหลงผิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ใกล้เคียงยุยงต้องรอการสอบปากคำอย่างละเอียด
ส่วนกรณีที่ในการชุมนุมหลายครั้งพบว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งตำรวจได้มีการจับกุมดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้หลายคนแล้ว แต่บางคนกลับมาก่อเหตุซ้ำอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีแนวคิดว่า อาจต้องมีการดำเนินการกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชนผู้ก่อเหตุ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและสตรี เพราะถือว่าปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานออกมาก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนและทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาเป็นรายๆไป