เปิดประวัติ "ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ" อดีตสตรีหมายเลข 1 นายกฯ ชาติชาย

เปิดประวัติ "ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ" อดีตสตรีหมายเลข 1 นายกฯ ชาติชาย

เปิดประวัติ "ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ" อดีตสตรีหมายเลข 1 นายกฯ ชาติชาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประวัติอดีตสตรีหมายเลข 1 "ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ" ภริยา อดีตนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังโควิด-19 คร่าชีวิต ด้วยวัย 101 ปี

นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวชุณหะวัณ หลังจาก น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ บุตรสาวนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Tisana Choonhavan แจ้งข่าวเศร้า ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ภริยาของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมแล้วจากการติดเชื้อโควิด-19 ในวัย 101 ปี 

ทั้งนี้ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ถือว่าเป็นสตรีหมายเลข 1 ที่มีบทบาทสำคัญที่อยู่เคียงข้าง พล.อ.ชาติชาย ตลอดเวลา ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ

สำหรับประวัติของ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ สกุลเดิม โสพจน์ เกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2463 เป็นภริยาของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นพระญาติฝ่ายพระชนนีในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ เป็นบุตรคนที่สามจากทั้งหมดสี่คนของ แช่ม โสพจน์ มีพี่น้องชื่อ ชื่น, สนิท และอำไพ (เดิมชื่อ: ทุเรียน) ตามลำดับ บิดาเป็นลูกพี่ลูกน้องทางพระชนนีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ท่านผู้หญิงบุญเรือนและพี่น้องทั้งหมดได้รับการอุปการะจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นผู้ติดตามเมื่อครั้งเดินทางไปโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ โดยโดยสารทางเรือจากปีนังเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล

 

ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงจัดให้ท่านไปอยู่กับครอบครัวชาวสวิตเซอร์แลนด์ และไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำสำหรับเด็กผู้หญิง

ท่านผู้หญิงบุญเรือน สำเร็จการศึกษาด้านการเลี้ยงเด็ก และตามเสด็จ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ 

ท่านผู้หญิงบุญเรือน สมรสกับ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นผู้บังคับหมวดกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 มีบุตรธิดาด้วยกันสองคน คือ

  • วาณี ชุณหะวัณ (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488) สมรสและหย่ากับร้อยโทระวี หงสประภาส มีธิดาหนึ่งคนคือ ปวีณา หงสประภาส
  • ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (8 ตุลาคม พ.ศ. 2490–11 มิถุนายน พ.ศ. 2563) สมรสกับอโณทัย ชุณหะวัณ (สกุลเดิม จิตราวัฒน์)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)
  • พ.ศ. 2526 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1
  • พ.ศ. 2481 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 5 (อ.ป.ร.5)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook