คนสนใจยอดโควิด แนะรัฐบาลอย่าปิดบังข้อมูล
สวนดุสิตโพล คนสนใจยอดโควิด มองการรายงานค่อนข้างน่าเชื่อถือ แนะรัฐบาลไม่ปกปิดข้อมูล
สวนดุสิตโพลมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,270 คน เรื่อง “คนไทย” กับ “ตัวเลข/สถิติ” เกี่ยวกับโควิด-19 ระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคม 2564 พบว่า ร้อยละ 71.84 ระบุ ติดตามการรายงาน “ตัวเลข/สถิติ” เกี่ยวกับโควิด-19 จากโทรทัศน์ รองลงมา ร้อยละ 70.49 ระบุ โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ ร้อยละ 56.49 ระบุ เว็บไซต์ข่าว/แอปพลิเคชันข่าวต่าง ๆ
ทั้งนี้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 40.95 ระบุ ใช้เวลาในการติดตามการรายงาน ตัวเลข/สถิติเกี่ยวกับโควิด-19 น้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน รองลงมา ร้อยละ 31.98 ระบุ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 13.73 ระบุ 2-5 ชั่วโมงต่อวัน
เมื่อถามถึงเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ พบว่า ร้อยละ 92.33 ระบุ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิตรายวัน รองลงมา ร้อยละ 65.69 ระบุ จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 60.87 ระบุ เปรียบเทียบยอดผู้ป่วยรายใหม่และผู้ที่รักษาหาย
เมื่อถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลการรายงาน “ตัวเลข/สถิติ” เกี่ยวกับโควิด-19 ในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 45.87 ระบุ ค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือ รองลงมา ร้อยละ 33.89 ระบุ มีความน่าเชื่อถือน้อย ร้อยละ 14.13 ระบุ ไม่มีความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้เมื่อถามถึงความสำคัญของ ตัวเลข/สถิติ พบว่า ร้อยละ 89.29 ระบุ สะท้อนให้เห็นแนวโน้ม ระดับความรุนแรงของโควิด-19 รองลงมา ร้อยละ 85.25 ระบุ ช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญ ระมัดระวังป้องกันตัวเองมากขึ้น ร้อยละ 61.93 ระบุ ทำให้เข้าใจสถานการณ์โควิด-19 มากขึ้น
พร้อมกันนี้สิ่งที่ประชาชนอยากจะให้นำเสนอ “ตัวเลข/สถิติ” เกี่ยวกับโควิด-19 พบว่า ร้อยละ 92.01 ระบุ ชัดเจน ไม่ปกปิด บอกแหล่งอ้างอิง ที่มาของข้อมูล รองลงมา ร้อยละ 66.77 ระบุ มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ตรวจสอบก่อนเผยแพร่ ร้อยละ 43.83 ระบุ ผู้รายงานหลักสื่อสารได้ดี สร้างความเข้าใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงตัวเลข/สถิติเกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีความเครียดและวิตกกังวลมากน้อยเพียงใด พบว่า ร้อยละ 57.05 ระบุ ค่อนข้างเครียดและวิตกกังวลพอสมควร รองลงมา ร้อยละ 24.30 ระบุ เครียดและวิตกกังวลมากที่สุด ร้อยละ 14.42 ระบุ ไม่ค่อยเครียดและวิตกกังวล