สภา ม.ธรรมศาสตร์ ประกาศใช้ข้อบังคับนำเข้ายา-วัคซีน-เวชภัณฑ์ เพื่อรับมือโควิดระบาด
สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019
วานนี้ (16 ส.ค.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์การประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีเนื้อหาดังนี้
"สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติโดยเอกฉันท์ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 เห็นชอบให้ประกาศใช้ "ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564" ซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยได้ลงนามประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าวในวันนี้แล้ว
การตราข้อบังคับฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 มาตรา 14 (1) และ (14) ประกอบกับมาตรา 23 (2) (4) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยในการออกข้อบังคับเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนทั้งในและต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศในกิจการหรือภารกิจของมหาวิทยาลัยได้
โดยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและคณะวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวนมาก ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการให้บริการแก่สังคมในเรื่องการป้องกัน การแก้ไขปัญหาและการรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สามารถเสนอต่ออธิการบดีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามข้อบังคับนี้ให้สามารถจัดหา ผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคชีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้อง ทั้งที่ดำเนินการในประเทศและกับต่างประเทศได้
การดำเนินการต่างๆ ตามที่ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉบับนี้กำหนดให้สามารถกระทำได้จะต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันหรือบำบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเป็นสำคัญ
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉบับนี้ มีผลในวันถัดจากวันที่ลงนามประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และมหาวิทยาลัยจะได้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้บุคคล องค์กรที่เกี่ยวข้องได้ทราบต่อไป"
ทั้งนี้ การประกาศข้อบังคับดังกล่าวนั้น หลายฝ่ายมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวแบบเดียวกับที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ดำเนินการในการนำเข้าวัคซีนโควิดยี่ห้อซิโนฟาร์มเข้ามาเป็นวัคซีนตัวเลือก โดยอาศัยประกาศ ศบค. เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64
โดยในข้อ 3 ระบุว่า ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึงภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้นๆ กำหนด