อึ้งไปเลย! "โฆษกตาลิบัน" โทรหาผู้ประกาศข่าวสาวของ BBC ขณะกำลังรายงานสด
สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "ยัลดา ฮาคิม" ผู้ประกาศข่าวหญิงของบีบีซี ชี้ขณะที่เธอกำลังรายงานข่าวอยู่นั้น ก็ได้รับสายจากโฆษกของกลุ่มตาลิบันที่ปัจจุบันสามารถบุกยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในคลิปวิดีโอไลฟ์ดังกล่าว แม้จะตื่นตกใจแต่ "ยัลดา" ยังสามารถรักษาท่าทีมืออาชีพได้ดีเยี่ยม เธอสื่อสารกับทั้งผู้ชมรวมไปถึง "เชล ชาฮีน" โฆษกตาลิบันที่อยู่ในสายโทรศัพท์ส่วนตัวของเธอว่า “โอเค ตอนนี้มีโฆษกตาลิบัน เชล ชาฮีน อยู่ในสายกับเรา คุณชาฮีน คุณได้ยินฉันไหมคะ”
เธอถามโฆษกตาลิบันอีกครั้งเพื่อความแน่ใจว่าเขาพร้อมจะให้สัมภาษณ์กับเธอผ่านทางไลฟ์ครั้งนี้ไหม ก่อนที่โฆษกตาลิบันจะตอบตกลงกลับมา
เมื่อทุกอย่างลงตัว คำถามแรกที่ "ยัลดา" เอ่ยคือ ขณะนี้มีความโกลาหลและความสับสนมากมายในอัฟกานิสถาน ตาลิบันจะช่วยให้สังคมโลกทำความเข้าใจได้หรือไม่ว่าทางกลุ่มฯ วางแผนจะบริหารจัดการอย่างไรในภาวะปัจจุบันและอนาคตต่อจากนี้
ชาฮีม ตอบกลับว่า ภายใต้การนำประเทศของตาลิบันทุกคนจะปลอดภัย อีกทั้ง “จะไม่มีการตามล้างแค้นใครทั้งสิ้น เราเป็นผู้รับใช้ของประชาชนและประเทศนี้”
“เรากำลังรอการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ” ชาฮีม ย้ำ
ในการสัมภาษณ์ "พิเศษ" ที่กินระยะเวลาถึง 32 นาทีในครั้งนี้ โฆษกตาลิบันได้พื้นที่ในการให้ข้อมูลจากฝั่งตัวเอง แม้จะไม่ได้ลงรายละเอียดลึกนักกับบางคำถาม แต่ก็ได้ตอกย้ำถึงแนวทางโดยแกนสำคัญของกลุ่ม เช่นการยืนยันว่าจะกลับไปใช้กฎหมายศาสนาในการปกครองผู้คนอย่างแน่นอน
“แน่นอน เราต้องการรัฐบาลอิสลาม”
แม้โฆษกตาลิบันจะยืนยันว่าทางกลุ่มเคารพในสิทธิของผู้หญิงที่จะเข้าถึงการศึกษา แต่หลายภาคส่วนไม่เชื่อเช่นนั้น และมองว่าผู้หญิงในอัฟกานิสถานอาจหลุดออกจากระบบการศึกษาและการจ้างงานได้
ความบังเอิญอันประจวบเหมาะของการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือ แท้จริงแล้ว "ยัลดา ฮาคิม" แม้จะถือสัญชาติออสเตรเลียแต่พ่อและแม่ของเธอเป็นคนอัฟกานิสถาน เธอเล่าว่าพวกเขาตัดสินใจหนีออกจากประเทศตอนเธออายุได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น ผ่านการเดินเท้ากว่า 10 วัน จากกรุงคาบูลไปยังประเทศปากีสถาน
ครอบครัวของ "ยัลดา" ซึ่งประกอบไปด้วยเธอ พี่สาวของเธอ และพ่อแม่ของเธอ อาศัยอยู่ในปากีสถานราวสองปีครึ่ง ก่อนจะเดินทางเข้าออสเตรเลียในปี 2530 เมื่อ "ยัลดา" อายุได้ 3 ขวบ
“บางทีฉันก็รู้สึกว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของชีวิต” ยัลดา กล่าว
เมื่อเวลาผ่านไป "ยัลดา" ในช่วงวัยรุ่นรู้ตัวว่าชื่นชอบในการเป็นข่าวจึงเลือกเรียนสาขาศิลปะและการสื่อสารของมหาวิทยาลัยแมคควอรี ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ก่อนจะจบการศึกษาในปี 2550 และเริ่มต้นการทำงานกับสำนักข่าว SBS ของออสเตรเลีย
เธอก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบีบีซีเมื่อปี 2552 ในฐานะผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าว ทั้งยังมีความสามารถผลิตสารคดีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ "ยัลดา" ยังสามารถพูดได้ทั้งหมด 6 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ, ฮินดี, อูรดู (กลุ่มอินโด-อารยัน, เป็นภาษาราชการของปากีสถาน), ฟอร์ซี (ตระกูลภาษาเปอร์เซีย), ปัชโต (หรือภาษาปาทาน เป็นภาษาแม่ของชาวปาทานซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานและแคว้นทางตะวันตกของปากีสถาน) และ ดารี (อีกหนึ่งตระกูลภาษาเปอร์เซีย)