สธ.-ศิริราช เผยผลศึกษา ฉีดวัคซีนไขว้ซิโนแวคต่อด้วยแอสตร้าฯ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี

สธ.-ศิริราช เผยผลศึกษา ฉีดวัคซีนไขว้ซิโนแวคต่อด้วยแอสตร้าฯ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี

สธ.-ศิริราช เผยผลศึกษา ฉีดวัคซีนไขว้ซิโนแวคต่อด้วยแอสตร้าฯ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุข และ ศิริราช เปิดเผยผลศึกษาการฉีดวัคซีนโควิดในรูปแบบต่างๆ พบว่า การฉีดไขว้สลับชนิดด้วยซิโนแวคก่อนแล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า รวมถึงการฉีดแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นเป็นเข็ม 3 ต่างให้ผลลัพธ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตามที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019; COVID-19) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา (Severe acute respiratory syndrome-related coronavirus-2; SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นเชื้ออุบัติใหม่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรง และมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก จึงได้มีการผลิตวัคซีนและใช้เพื่อป้องกันโรคโควิด-19

ในขณะที่ไวรัส SARS-CoV-2 มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมจนเกิดการกลายพันธุ์ทำให้การติดเชื้อง่ายขึนมีความรุนแรงมากขึ้นและสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีจนองค์การอนามัยโลกประกาศไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ที่ต้องควบคุมป้องกันว่าเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern, VOC) ซึ่งได้แก่ ไวรัสสายพันธุ์อัลฟา เดลตา เบตา และแกมมา

ปัจจุบันประเทศไทยพยายามเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน และมีการนำมาใช้เป็นหลักในขณะนี้คือ วัคซีน CoronaVac ผลิตโดยบริษัท Sinovac วัคซีน AstraZeneca ผลิตโดยบริษัท AstraZeneca ทำให้มีการตั้งคำถามเกิดขึ้นว่าวัคซีนเหล่านี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ถ้ามีการสลับการให้วัคซีน (Mix and Match) รวมถึงการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แบบ heterologous prime-boost

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมกับศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีน โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่า 90% ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปคือ วิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งต้องปฏิบัติในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน

และทำการศึกษาในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV) กลุ่มที่ ได้รับ วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ)  กลุ่มที่ ได้รับ วัคซีน CoronaVac และตามด้วย AstraZeneca (SV+AZ) กลุ่มที่ ได้รับ วัคซีน AstraZeneca และตามด้วย CoronaVac (AZ+SV) กลุ่มที่ 5 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย Covilo 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm) กลุ่มที่ ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย AstraZeneca 1 เข็ม (SV+SV+AZ)

ผลการศึกษา พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่างๆ หลังการได้รับวัคซีนครบโดส 2 สัปดาห์ ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เดลตา มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัส (ดังแสดงในแผนภูมิ)

moph-study-vaccine-190821

ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาการให้วัคซีนสลับแบบ (SV+AZ) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV) และเทียบเท่ากับการให้ AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ) แต่ใช้เวลาสั้นลง แต่ไม่แนะนำให้ฉีด AstraZeneca เข็มแรกและตามด้วย CoronaVac (AZ+SV) ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย AstraZeneca (SV+SV+AZ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า ในขณะที่การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Sinopharm (SV+SV+Sinopharm) ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเพียง 2.5 เท่า

จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับแผนการให้วัคซีนมีความเหมาะสม โดยให้ฉีดแบบสลับ (SV+AZ) และให้ฉีดเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca (SV+SV+AZ) ส่วนในการศึกษาต่อไปนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เบตา โดยใช้ไวรัสจริงเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการใช้วัคซีนสลับและการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการให้วัคซีนที่เหมาะสมโดยให้ประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

“เนื่องด้วยมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนสลับ (SV+AZ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัครที่มารับวัคซีนในศูนย์ฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้ติดตามผู้ได้รับวัคซีน ทำการศึกษาผู้ที่ได้รับวัคซีน CoronaVac 3 สัปดาห์ โดยได้รับเข็มสองเป็น AstraZeneca ทั้งหมด 125 ราย (ชาย 61 หญิง 64 อายุเฉลี่ย 40 (18-60 ปี) พบว่า มีระดับภูมิคุ้มกัน Quantitative Anti-S RBD เฉลี่ยที่ 716 (399-1127) สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ SS 117 (58-204), AA 207 (123-338) และภายหลังการฉีดวัคซีนเข็ม 2 พบ มีไข้ ร้อยละ 66 ปวดศีรษะ ร้อยละ 33 อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ง่วงซึม ร้อยละ 28 ใกล้เคียงกับอาการจากการฉีด AstraZeneca 2 เข็ม เป็นการศึกษาที่สนับสนุนมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขกำลังติดตามประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสูตรนี้อย่างใกล้ชิด” นพ.ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ อีกด้านหนึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เปิดเผยผลความคืบหน้างานวิจัยวัคซีนโควิดว่า การฉีดวัคซีนแบบเข็มสลับ ซิโนแวคก่อนแล้วตามด้วยแอสตร้าเซเนก้าใน 3-4 สัปดาห์ ภูมิขึ้นสูงเฉลี่ย 1,355 หน่วย ใกล้เคียงกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มที่มีภูมิขึ้นเฉลี่ย 1,900 หน่วย

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกไม่แนะนำให้ฉีดแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มหนึ่งและตามด้วยซิโนแวคเป็นเข็มสอง เพราะสร้างภูมิคุ้มกันได้ต่ำกว่า ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในผู้ที่ฉีดซิโนแวคแล้วสองเข็ม พบว่าแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นที่สูงกว่าซิโนฟาร์ม

โดย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) กล่าวว่า งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดในช่วงแรกเป็นการศึกษาในอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม ใช้การทดสอบด้วยวิธีเดียวกัน ในผู้ที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน พบว่าหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงสู้การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มไม่ได้ และเมื่อทดสอบการต่อต้านไวรัสเดลตาที่มีชีวิต พบว่าซิโนแวค 2 เข็มจะปกป้องได้ไม่ดีเท่าแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่พบการติดเชื้อเดลตาจำนวนมากในผู้ที่เคยฉีดซิโนแวค 2 เข็มมาก่อน

อย่างไรก็ดี ก็ยังพบว่าวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มยังป้องกันการติดเชื้ออย่างรุนแรง และการเสียชีวิตได้ค่อนข้างสูงมากกว่า 70%

ทั้งนี้ การเกิดเชื้อกลายพันธุ์ทำให้การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแบบเดิม ป้องกันเชื้อเดลตาไม่ได้ดี แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะยังสามารถลดความรุนแรงได้ จึงมีการศึกษาการฉีดสลับเข็มไขว้ ระหว่างซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า แอสตร้าเซนเนก้า+ซิโนแวค ซิโนแวค+ไฟเซอร์ และ แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

ผลการศึกษา โดยทำการวัดภูมิต่อไวรัสโดยวิธีที่ใช้ทั่วไป anti-RBD IgG (BAU/mL) หลังเข็มสอง 2 สัปดาห์ พบว่า การฉีดสลับเข็ม ซิโนแวคก่อนตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า พบภูมิจาก 24 หน่วย ขึ้นสูงเป็น 1,355 หน่วย แต่ถ้าฉีดแอสตร้าเซนเนก้าก่อน แล้วตามด้วยซิโนแวค พบว่าภูมิขึ้นน้อยกว่ามาก จาก 147 หน่วยขึ้นเป็น 222 หน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดชนิดเดียวกัน ซิโนแวค 2 เข็มภูมิขึ้น 229 หน่วย ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มภูมิขึ้น 424 หน่วย ไฟเซอร์ 2 เข็มภูมิขึ้น 1,900 หน่วย

ส่วนคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงระบาดที่สมุทรสาครเมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ภูมิขึ้น 181 หน่วย และจากการวัดภูมิแบบจำเพาะต่อสายพันธุ์เดลตาที่มีชีวิต พบว่า ถ้าฉีดเข็มสลับซิโนแวคแล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า สามารถต่อต้านเดลต้าได้ดีกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าแล้วตามด้วยชิโนแวค หรือซิโนแวค 2 เข็มมาก และดีกว่าการฉีดด้วยแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็มเล็กน้อย

ส่วนผลการศึกษาการฉีดเข็มสลับด้วยไฟเซอร์กับวัคซีนตัวอื่น ต้องรออีก 1 เดือนจึงจะทราบผล เนื่องจากเพิ่งได้รับวัคซีนมาศึกษา

นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับบุคลากรด่านหน้าที่เคยฉีดวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม เพราะถ้าติดเชื้อแม้จะไม่รุนแรงก็ต้องหยุดงาน ไม่มีคนดูแลผู้ป่วย

ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช จึงได้เริ่มทำการศึกษาเพิ่มเติม โดยแบ่งการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์เต็มโดส และไฟเซอร์ครึ่งโดส (ซึ่งมีศึกษาการใช้ครึ่งโดสของวัคซีน mRNA ฉีดกระตุ้นมาบ้างแล้วในต่างประเทศ)

เบื้องต้นผลการศึกษา โดยทำการวัดภูมิด้วยวิธีทั่วไป พบว่า ผู้ที่ได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 3 หลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว 2 เดือน พบว่าภูมิขึ้นจาก 52 หน่วยเป็น 1,500 หน่วย ไม่ต่างจากการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มมากนัก ส่วนผู้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นเข็ม 3 ภูมิขึ้นจาก 44 หน่วย เป็น 218 หน่วย ซึ่งภูมิขึ้นในระดับที่น้อยกว่าการใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 3 และยืนยันด้วยการตรวจภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะต่อเดลตาที่มีชีวิต ก็พบว่าแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 3 ให้ผลต่อต้านไวรัสได้ดีกว่ามาก

จากผลการศึกษาเหล่านี้ จึงขอแนะนำว่าในยามนี้ที่มีสายพันธุ์เดลตาระบาดเช่นนี้ ควรฉีดเข็มสลับ ซิโนแวคแล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพดีและใช้วัคซีนที่เรามีได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด สูตรสลับแบบนี้จะดีกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เพราะทำให้จบการฉีดเข็มที่ 2 ได้เร็วกว่า คือ ภายใน 3-4 สัปดาห์แทนที่จะเป็น 10-12 สัปดาห์ และยังให้ระดับภูมิคุ้มกันที่วัดได้สูงกว่าด้วย

ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเริ่มฉีดแบบนี้ในขณะนี้แล้ว และไม่แนะนำการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วตามด้วยซิโนแวค หรือซิโนแวค 2 เข็ม ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ต้องรอดูว่ามีวัคซีนอะไรในประเทศ ตอนนี้แอสตร้าเซนเนก้าดีที่สุดเมื่อเทียบกับซิโนฟาร์ม ส่วนไฟเซอร์ต้องรอดูผลการทดลองที่จะออกมาในอีกประมาณ 2 สัปดาห์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook