สะพัด! คณะกรรมการวัฒนธรรมฯ มีมติถอด สุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากศิลปินแห่งชาติ

สะพัด! คณะกรรมการวัฒนธรรมฯ มีมติถอด สุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากศิลปินแห่งชาติ

สะพัด! คณะกรรมการวัฒนธรรมฯ มีมติถอด สุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากศิลปินแห่งชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีข่าวแพร่สะพัดในสื่อหลายสำนักว่า คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติในการประชุมเมื่อวานนี้ (19 ส.ค.) ยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554

วานนี้ (19 ส.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom) โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

ซึ่งสื่อหลายสำนักรายงานผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการตามขั้นตอนต่อไป โดยนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี สามารถยื่นคำร้องคัดค้านไปยังคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติภายในไม่เกิน 30 วันหลังมีการประกาศมติดังกล่าว

ประวัติโดยย่อของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี

นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นนักเขียนเจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง ผู้ก่อตั้ง รางวัลช่อการะเกด เกิดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2488 ปัจจุบันอายุ 76 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) สาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2509

นายสุชาติ เคยประกอบอาชีพหลากหลาย อาทิ ครูโรงเรียนราษฎร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเขียน บรรณาธิการนิตยสาร บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ร่วมก่อตั้งกลุ่มวรรณกรรม ร่วมก่อตั้งกลุ่มละคร ที่ปรึกษากลุ่มกิจกรรมฯ เป็นผู้ก่อตั้งรางวัลช่อการะเกด และก่อตั้งสำนักช่างวรรณกรรม

ทั้งนี้ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2554

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ถือเป็นบุคคลแรกที่ถูกยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จากกฎกระทรวงวัฒนธรรมที่ระบุไว้ว่า หากปรากฏว่าศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรคสอง ให้งดการจ่ายประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ

นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา เคยเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ซึ่งลงนามโดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 5 ศิลปินแห่งชาติต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย

(2) มีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ

(3) เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ของวงการศิลปะในสาขานั้น

(4) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับกำรประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ

(5) เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ

(6) เป็นผู้ทุ่มเท อุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

(7) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย

(8) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 10 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 10 ในกรณีที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้เสนอผลการตรวจสอบ รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชำติ เมื่อได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว หากปรากฏว่าศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรคสอง ให้งดการจ่ายประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ”

ขณะนี้ยังไม่มีการระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใด นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี จึงถูกถอดออกจากการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติดังกล่าว แต่มีการพยายามคาดเดากันว่าอาจจะเป็นเพราะนายสุชาติเป็นบุคคลหนึ่งที่มักจะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่บ่อยๆ เช่น การออกมาพูดเรื่องการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมดูแลการชุมนุม เป็นต้น

pita-post-suchat

ในขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ส่งกำลังใจให้กับนายสุชาติผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของตนเองภายหลังทราบข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า

"วัฒนธรรมที่ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีค่าอะไรในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับคุณค่าของตำแหน่งจอมปลอมที่ต้องพินอบพิเทาผู้มีอำนาจ

จะ #พูดหยุดโกง ในประเทศนี้ได้จริง ต้องปกป้องเสรีภาพในการพูด ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกเท่านั้น

ผมขอเป็นกำลังใจให้ อ.สุชาติ สวัสดิ์ศรี #ศิลปินแห่งราษฎร์ ครับ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook