รัฐสภาผ่านฉลุยร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระ 2-ก้าวไกล เตือนสูตรปาร์ตี้ลิสต์อย่าใช้ระบบโบราณ
ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สูตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในวาระที่ 2 เสร็จสิ้นทุกมาตรา โดยเห็นชอบ 440 เสียงในมาตราสุดท้าย ด้าน "โรม" เตือนสูตรปาร์ตี้ลิสต์อย่ากลับไปใช้ระบบโบราณ ขณะที่ "เพื่อไทย-ปชป." ชงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
วานนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 20.20 น. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นด้วยตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ในมาตรา 4/1 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของการพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งกำหนดให้ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ มาบังคับใช้จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 440 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 132 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เป็นอันจบการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 2
ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อเวลา 17.00 น. ที่สัปปายะสภาสถาน ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ในวาระที่ 2 โดยเข้าสู่การพิจารณามาตรา 4 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 เกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยคณะกรรมาธิการฯ กำหนดให้เขียนสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอ 3 ข้อเพื่อคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย
- กำหนดให้การเลือกตั้งใบที่ 2 ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น
- พรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 0.2 ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อหาสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- เมื่อได้คะแนนดังกล่าวแล้ว ให้เอาไปคำนวณเพื่อหาคะแนนพึงมีของพรรคการเมือง เมื่อได้ ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงจะได้แล้ว จึงให้นำไปลบกับจำนวน ส.ส.เขตที่พรรคการเมืองนั้นได้มา จำนวนที่เหลือคือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะได้
รังสิมันต์ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา เราต่างมีบทเรียนเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งที่มีความไม่เป็นธรรม ไม่สะท้อนต่อเสียงของประชาชน ซึ่งตอนนี้เรากำลังเดินทางกลับไปหาระบบการเลือกตั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ถูกต้อง รัฐสภาต้องยอมรับว่าระบบเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะยอมรับได้ เราจะเพิกเฉยต่อระบบที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้จริงๆ หรือ
"ที่เสนอมานั้นเป็นระบบการเลือกตั้งที่พัฒนาจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาแล้วเมื่อปี 2540 แล้วเป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทยในวันนี้ ไม่ได้สร้างความยุ่งยากและไม่เป็นภาระต่อประชาชน การเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบนั้น การคำนวณต้องมีความทันสมัยไม่โบราณเหมือนที่เกิดขึ้นในยุคเก่า นี่ไม่ใช่การนำทางประเทศไทย แต่กลับไปหายุคดั้งเดิม” ส.ส.รังสิมันต์ ระบุ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่า สำหรับมาตรา 91 ร่างของคณะกรรมาธิการฯ กำหนดว่า การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งนั้น ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม
ซึ่งมีเจตนารมณ์เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 คือ คำนวณหาสัดส่วนร้อยละ ส่วนรายละเอียดการคำนวณ คณะกรรมาธิการฯ ให้มีการกำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการเขียนไว้เช่นนี้อาจก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการตีความ ก่อให้เกิดปัญหาภายหลัง ดังนั้น จึงเสนอวิธีการคิดคำนวณคะแนน ดังนี้
- การกำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 1 ของคะแนนทั้งหมด กล่าวคือ สมมติคะแนนทั้งหมดมี 40,000,000 เสียง คะแนนขั้นต่ำอยู่ที่ 400,000 คะแนน โดยพรรคการเมืองใดได้คะแนนมากกว่า 400,000 ขึ้นไป จึงจะสามารถนำมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่ำกว่านั้นไม่มีสิทธิ วิธีการนี้จะได้ไม่มีพรรคเล็กพรรคน้อยเกินความจำเป็น
- ให้นำคะแนนที่เลือกทั้งพรรคและเขตมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี
“ยกตัวอย่างสูตรการคำนวณแบบระบบเลือกตั้งเยอรมนี วิธีการนี้เกาหลีและเยอรมนี เขาไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีและเกาหลีได้ตัดสินว่า เป็นการละเมิดสิทธิ ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขาเลือกแล้วแต่ไปตัดเขาออก เยอรมนีเลยต้องยอม ต้องชดเชยส่วนเกิน ไม่ตัด แต่เติมเต็ม สำหรับประเทศไทยถ้าเราไม่ตัดออก ในการเลือกตั้งปี 2562 จะมี ส.ส.ทั้งหมด 525 คน เขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 175 คน ถามว่าเราพร้อมหรือไม่ที่จะทำอย่างนั้น ถามว่าอะไรสะท้อนความต้องการของประชาชนมากที่สุด อย่าใช้สภาแห่งนี้ตัดสิน อย่าใช้นักวิชาการแค่ 2-3 ท่านตัดสิน ถามประชามติว่าการเลือกทั้งพรรคและทั้งคน หรือการเลือกพรรคอย่างเดียวสะท้อนความต้องการของประชาชน” ส.ส.ชลน่าน กล่าวสรุป
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ขอแปรญัตติ โดยเสนอว่า คะแนนที่จะถูกนับเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น จะต้องมาจากพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบ 100 คน และต้องส่ง ส.ส.เขตอย่างน้อย 100 เขต นอกจากนี้ยังจำเป็นจะต้องกำหนดจำนวน ส.ส.พึงมี ลบด้วย ส.ส.เขต หากพรรคใดได้จำนวน ส.ส.เขตมากแล้ว ก็ให้กระจายจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อไปให้พรรคที่เหลือ ส่วนพรรคที่ได้ ส.ส.เขตน้อย ก็จะเพิ่มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ เพราะการแยกนับ ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนทั้งประเทศ และทำให้ระบบนี้เกิดพรรคใหญ่ได้คะแนนทั้งสองข้าง หรือพรรคใหญ่กินรวบ
หลังจากที่ประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครบทุกมาตราเรียบร้อยแล้วนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ กล่าวขอบคุณสมาชิกรัฐสภา โดยระบุว่า ในนามของคณะกรรมาธิการขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่ได้พิจารณารายงานของกรรมาธิการและลงมติเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม คณะกรรมาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการพิจารณาวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย สมาชิกรัฐสภาจะลงมติเห็นชอบ เพื่ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
จากน้ัน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกรัฐสภา และแจ้งต่อที่ประชุมว่าจะต้องทิ้งเวลาไว้ 15 วันจึงสามารถลงมติในวาระที่ 3 ได้ พร้อมทั้งสั่งปิดประชุมในเวลา 20.33 น.