“ชีวิตบนเส้นด้าย” ชะตากรรมหญิงอัฟกันในวันที่ “ตาลีบัน” ครองเมือง

“ชีวิตบนเส้นด้าย” ชะตากรรมหญิงอัฟกันในวันที่ “ตาลีบัน” ครองเมือง

“ชีวิตบนเส้นด้าย” ชะตากรรมหญิงอัฟกันในวันที่ “ตาลีบัน” ครองเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพผู้คนมากมายวิ่งกรูกันเข้าไปในสนามบิน ภาพคนร่วงหล่นจากฟ้าหลังจากพยายามเกาะล้อเครื่องบินเพื่อหนีออกจากประเทศ ภาพเด็กทารกถูกส่งข้ามกำแพงสูงให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร หรือภาพประชาชนที่ดูสิ้นหวังบนท้องถนนที่อบอวลไปด้วยความหวาดกลัว สร้างความสะเทือนใจให้กับคนทั้งโลก ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นใน “อัฟกานิสถาน” หลังจากกลุ่ม “ตาลีบัน” บุกยึดและโค่นอำนาจรัฐบาลพลเมืองได้สำเร็จ 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอัฟกานิสถานได้สร้างความกังวลเรื่อง “การละเมิดสิทธิมนุษยชน” ให้กับประชาคมโลก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิเด็กและสตรีภายใต้กรอบ “กฎหมายชารีอะห์” ของกลุ่มตาลีบัน แม้กลุ่มตาลีบันจะออกมาแถลงให้สัญญาว่าจะปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกเรื่องสิทธิสตรี แต่เนื่องจากพฤติกรรม “กดขี่” ผู้หญิงในอดีตของกลุ่มตาลีบัน ก็ทำให้นานาชาติยังคงมีความกังวลอยู่

คำสัญญาใหม่ของตาลีบัน 

ประเด็นเรื่องสตรีมีความสำคัญมาก รัฐอิสลามให้สิทธิสตรีภายใต้กรอบของกฎหมายชารีอะห์ พี่สาวน้องสาวของเรา ผู้ชายของเรามีสิทธิเหมือนกัน พวกเธอจะสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิของตัวเองได้ พวกเธอสามารถทำกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ได้ บนพื้นฐานของกฎและข้อบังคับของเรา ทั้งด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านอื่น ๆ พวกเธอจะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเรา หากประชาคมระหว่างประเทศมีข้อกังวล เราขอรับรองว่าจะไม่เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่แน่นอนว่าต้องอยู่ในกรอบของเรา ผู้หญิงของเราเป็นมุสลิม พวกเธอจะยังคงมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบกฎหมายชารีอะห์ของพวกเรา” 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงที่ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกประจำกลุ่มตาลีบัน ได้กล่าวในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของกลุ่มตาลีบัน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากเข้าบุกยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ โดยใจความของแถลงการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นความพยายามของกลุ่มตาลีบันที่จะปรับตัวให้เข้ากับประชาคมโลก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิสตรี ที่พวกเขาให้คำมั่นว่าจะให้สิทธิผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายชารีอะห์หรือกฎหมายอิสลาม ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรอบกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตที่มุสลิมต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้า 

แม้จะคำสัญญาใหม่ของกลุ่มตาลีบันจะมีความทันสมัย และให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีมากขึ้น แต่ทั่วทั้งโลกก็ยังมีท่าทีเป็นกังวลต่อความเป็นไปได้เรื่องนโยบายดังกล่าว เนื่องจากการกระทำของกลุ่มตาลีบันต่อผู้หญิงในช่วงที่พวกเขาเรืองอำนาจ (ปี 1996 - 2001) ซึ่งจำกัดสิทธิมากมายของผู้หญิง เช่น ผู้หญิงต้องสวมบูร์กาหรือผ้าคลุมทั้งร่างกายและใบหน้า ผู้หญิงห้ามออกไปนอกบ้านลำพังหากไม่มีญาติผู้ชายออกไปด้วย หรือการห้ามผู้หญิงปรากฏตัวในสื่อโทรทัศน์ เป็นต้น รวมไปถึงบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้หญิง ตั้งแต่เฆี่ยน ตัดนิ้ว ไปจนถึงประหารชีวิต 

ยิ่งไปกว่านั้น แม้กลุ่มตาลีบันจะมีท่าทีประนีประนอมและให้สัญญาว่าผู้หญิงอัฟกันจะสามารถทำงาน รวมถึงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ แต่การกระทำหลายอย่างของพวกเขากลับไม่เป็นไปตามถ้อยแถลงที่เกิดขึ้น เมื่อล่าสุดมีข่าวว่ากลุ่มตาลีบันได้สั่งห้ามผู้ประกาศข่าวหญิง 2 คน ออกหน้าจอโทรทัศน์ และข่าวหญิงอัฟกันถูกกลุ่มตาลีบันยิงเสียชีวิตเพียงเพราะเธอไม่ได้สวมบูร์กา 

เสียงของผู้หญิงในดินแดนเพลิง 

สำนักข่าว The Guardian ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “An Afghan woman in Kabul: ‘Now I Have to burn everything I achieved’” ซึ่งเป็นเรื่องเล่าของหญิงสาวชาวอัฟกันคนหนึ่ง ในช่วงเวลาที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ เธอเล่าว่าทันทีที่ทราบข่าวดังกล่าว เธอและผู้หญิงคนอื่น ๆ ต้องรีบเดินทางกลับบ้าน สิ่งที่เธอมองเห็นคือสีหน้าหวาดกลัวของผู้หญิง และใบหน้าที่อัปลักษณ์ของผู้ชายบางกลุ่มที่เกลียดผู้หญิง ผู้ชายที่ไม่อยากให้พวกเธอมีการศึกษา ทำงาน หรือมีอิสระ

สิ่งที่ผู้หญิงอัฟกันทำได้ในตอนนี้ คือทำลายทุกสิ่งที่พวกเธอเคยมีมาตลอดชีวิต ทั้งบัตรประชาชน ใบปริญญา และความฝันในชีวิต 

ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองตกเป็นเหยื่อของสงครามทางการเมืองที่ผู้ชายเป็นคนเริ่ม ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองไม่สามารถหัวเราะได้อีกแล้ว ไม่สามารถฟังเพลงที่ฉันชอบ ไม่สามารถไปเจอเพื่อน ๆ ที่คาเฟ่สุดโปรดของเรา ไม่สามารถสวมชุดเดรสสีเหลืองที่ฉันชอบ หรือทาลิปสติกสีชมพู และฉันก็ไม่สามารถทำงานหรือคว้าปริญญาที่ฉันพยายามมาหลายปีได้อีกแล้ว” 

ทางด้านสำนักข่าว Aljazeera ก็ได้นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงอัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน ในบทความเรื่อง “‘I am very afraid’: Women on the front lines of a new Afghanistan” โดยเมลิซซา ฟัง ซึ่งรายงานว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 มีผู้หญิงอัฟกันถูกฆาตกรรมไปแล้วกว่า 219 คน เช่น เด็กผู้หญิงมากกว่า 70 คน โดนระเบิดระหว่างเดินทางจากโรงเรียนกลับบ้านในกรุงคาบูลเมื่อเดือนพฤษภาคม ผู้พิพากษาหญิง 2 คนถูกลอบยิงในกรุงคาบูลเมื่อเดือนมกราคม หรือผู้สื่อข่าวหญิงถูกยิงเสียชีวิตระหว่างกลับบ้าน เป็นต้น แต่กลับมีผู้ได้รับการลงโทษจากเหตุฆาตกรรมเหล่านั้นเพียงไม่กี่คนเท่านั้น 

เมลิซซา ฟัง บรรยายว่า ขณะที่เธอกำลังรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้หญิงอัฟกันในประเด็นการฆาตกรรมผู้หญิง กลุ่มตาลีบันก็บุกยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือข้อความจากเพื่อนชาวอัฟกันที่ถูกส่งมาให้เธออย่างต่อเนื่อง 

มันเป็นความกลัวที่เจาะจงเมื่อผู้หญิงเล่าเรื่องตาลีบันให้ฉันฟัง มันคือความกลัวว่าจะย้อนกลับไปสู่ยุคมืดของการปราบปรามและคุมขัง ความกลัวว่าจะสูญเสียการควบคุมชะตากรรมของตัวเอง ความกลัวว่าจะไม่สามารถฝันได้อีกต่อไป” เธอเขียน  

“ภาวะฉุกเฉินทางเพศ”

โมฮัมหมัด นาซิรี ผู้อำนวยการ UN WOMEN Asia-Pacific ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP โดยแสดงความกังวลว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานขณะนี้ คือ “ภาวะฉุกเฉินทางเพศ” ที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมักตกเป็นเป้าหมายอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ซึ่งประชาคมโลกและองค์การสหประชาชาติจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มตาลีบัน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิงและเด็กในประเทศจะได้รับสิทธิอย่างแท้จริง

 

เช่นเดียวกับอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ ที่ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน ทันทีที่กลุ่มตาลีบันสามารถยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ โดยข้อความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของกูเตอร์เรส ระบุว่า

ผมมีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสตรีและเด็กหญิงในอัฟกานิสถาน ผู้หวาดกลัวการหวนคืนสู่ยุคที่มืดมน การปกป้องสิทธิสตรีและเด็กหญิงชาวอัฟกันที่ได้รับมาอย่างยากเย็นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

พร้อมกันนี้ UN WOMEN ยังได้ออกแถลงการณ์ว่าจะยืนหยัดทำงานและให้การสนับสนุนผู้หญิงและเด็กในประเทศอัฟกานิสถานอย่างแข็งขันต่อไป เช่นเดียวกับเรียกร้องให้อัฟกานิสถานรักษาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน 

สิทธิของสตรีและเด็กหญิงในอัฟกานิสถานต้องมีทิศทางเดียว และนั่นคือการก้าวไปข้างหน้า พวกเธอมีบทบาทที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเธอจะสามารถทำสิ่งที่ทำอยู่ได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มตาลีบันจะยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะให้สิทธิกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่ชัดเจนในตอนนี้คือ ชีวิตของผู้หญิงอัฟกันกำลังตกอยู่ในอันตรายและมีความเสี่ยงตลอดเวลา 

ในวันนี้ เมื่อฉันได้ยินว่าตาลีบันมาถึงกรุงคาบูลแล้ว ฉันก็รู้สึกว่าฉันกำลังจะกลายเป็นทาส พวกเขาสามารถเล่นกับชีวิตของฉันอย่างไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ” หญิงสาวชาวอัฟกันเขียนปิดท้ายในบทความของเธอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook