สธ.เผยปัจจุบันไทยฉีดวัคซีนโควิด 8 สูตร! ใช้สูตรไขว้เป็นหลัก เพราะกระตุ้นภูมิสูงใน 5 สัปดาห์
กระทรวงสาธารณสุข ใช้สูตรวัคซีนไขว้ “ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า” เป็นสูตรหลักฉีดให้ทั้งประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากสร้างภูมิคุ้มกันสูงภายใน 5 สัปดาห์ และต้านเชื้อเดลตาได้ มีความปลอดภัยส่วนสายพันธุ์ย่อยเดลตามีรายงานพบในหลายประเทศ ในไทยพบเพียง 7 ราย ยังไม่ต้องกังวล
วานนี้ (25 ส.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ยอดรวมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทยสะสมอยู่ราว 28,197,659 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 21,231,498 ราย คิดเป็น 29.5% และเข็มที่ 2 จำนวน 6,405,537 ราย คิดเป็น 8.9%
ขณะที่ปัจจุบันมีสูตรฉีดวัคซีนในไทยอยู่ 8 สูตร แบ่งเป็นสูตรสำหรับประชาชน 3 สูตร และสูตรสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 5 สูตร จัดสรรตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
การฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรต่างๆ สำหรับประชาชนไทย
- ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จะมี 2 สูตร ได้แก่
1. วัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ (สูตรไขว้) เป็นสูตรหลัก
2. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ ในบางกรณีที่จำเป็นทางการแพทย์
- ประชาชนทั่วไปกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปีที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
- กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า จะมีทั้งหมด 5 สูตร ได้แก่
1. วัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม บูสเตอร์เข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า กระตุ้น 1 เข็ม
2. วัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก
3. วัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ (สูตรไขว้)
4. วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
5. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์
การกระจายวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก 1.5 ล้านโดส ยังคงเน้นไปที่พื้นที่ที่มีการระบาดหนัก 13 จังหวัดสีแดงเข้มก่อน ขณะที่ไฟเซอร์ล็อตถัดๆ ไปที่จะเข้ามาทั้งหมด 30 ล้านโดส จะค่อยๆ ทยอยส่งมอบต่อไป
สำหรับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ จากการศึกษาภูมิคุ้มกันต่อการยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาพบว่า มีระดับภูมิคุ้มกันสูง 78.65 สูงระดับเดียวกันกับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มที่ได้ภูมิคุ้มกัน 76.52 ส่วนการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าในบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนพบว่าภูมิคุ้มกันสูงถึง 271.17 ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าจะเร่งส่งมอบวัคซีนให้ครบ 61 ล้านโดส ภายในปีนี้ ไทยจึงนำเข้าซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดเป็นสูตรไขว้ มีระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ จะมีภูมิคุ้มกันระดับสูงที่ต้านเชื้อเดลตาได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับมาฉีดสูตรนี้ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในเวลาอันรวดเร็ว โดยจากการฉีดที่ผ่านมาพบอาการไม่พึงประสงค์ไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนตัวอื่น
ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการตรวจพบสายพันธุ์ย่อยเดลตาในไทย ยังไม่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ไทย เพราะมีรายงานตรวจพบในหลายประเทศอยู่ก่อนแล้ว ทั้งอังกฤษ เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และยังไม่มีการจัดระดับความรุนแรงหรือความน่ากังวลของสายพันธุ์ย่อยนี้ โดยในไทยพบเพียง 7 ราย ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวังในเรื่องความรุนแรงของเชื้อ สัดส่วนการตรวจพบ ความสามารถในการแพร่กระจายโรค เพื่อเตรียมการรับมือต่อไป
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ