สมาคมทนายความฯ ชี้ ตร.สัมภาษณ์ "ผู้กำกับโจ้" ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี-ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สมาคมทนายความฯ ชี้ ตร.สัมภาษณ์ "ผู้กำกับโจ้" ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี-ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สมาคมทนายความฯ ชี้ ตร.สัมภาษณ์ "ผู้กำกับโจ้" ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี-ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แถลงการณ์ชี สตช.จัดแถลงข่าวสัมภาษณ์ "ผู้กำกับโจ้" ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เพราะให้สิทธิผู้ต้องหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จี้เอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี กู้วิกฤตศรัทธาของประชาชน

28 สิงหาคม 2564 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ในนามสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุ

กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดแถลงข่าวการจับกุม พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564
สมาคมทนายความฯ เห็นว่าการแถลงข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การให้สัมภาษณ์ของผู้ร่วมแถลงข่าว และการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน สภ. เมืองนครสวรรค์มีความไม่เหมาะสม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายเสียเอง กล่าวคือ

1.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา7/1ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุม และสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรกและให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปด้วย คือ (1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว (2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้ในชั้นสอบสวน (3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร และ (4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ดังนั้น การยินยอมให้ผู้ต้องหาแถลงข่าวด้วยการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนจึงเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

2. แม้ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 465/2550 ลงวันที่ 15สิงหาคม 2550 ข้อ 2.3 ที่ห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงสัมภาษณ์ผู้ต้องหาในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีข้อยกเว้นให้กระทำได้หากได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาก็ตาม แต่การให้สิทธิตามข้อยกเว้นดังกล่าวเกินไปกว่าสิทธิตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 7/1 บัญญัติไว้ คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมาย ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของผู้ต้องหายังไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เพราะย่อมจะมีลักษณะเป็นการแก้ตัว หรือชักจูงสังคมให้เห็นใจหรือคล้อยตามคำแก้ตัวของตน หรือสร้างความชอบธรรมให้กับกระทำความผิด หรือให้สัมภาษณ์ผิดไปจากข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์แห่งคดีของตน คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวอาจจะมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน เหนือพนักงานสอบสวนหรือผู้เสียหายหรือพยานซึ่งจะถูกกดดันจากกระแสสังคมอันจะทำให้การดำเนินคดีเสียความยุติธรรม

3. การที่รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 (พลตำรวจตรีเอกลักษณ์ ลิ้มสังกาจ) แถลงว่าผู้ต้องหารายนี้นัดให้มารับตัวที่หน้า สภ. แสนสุข จังหวัดชลบุรี ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 สิงหาคม 2564 โดยมีรถยนต์เก๋งสีขาวนำตัวผู้ต้องหามาส่งแต่ตนไม่ได้สังเกตและไม่ได้จำทะเบียนรถดังกล่าว นั้น เห็นว่าผู้ต้องหารายนี้หลบหนีการจับกุมหลายวันโดยหลบหนีมาจากจังหวัดนครสวรรค์จนมาถูกจับกุมที่จังหวัดชลบุรีจึงอาจมีผู้ช่วยเหลือให้พำนัก โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้ต้องหาด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา189 ดังนั้น ผู้ขับขี่และรถยนต์ที่นำตัวผู้ต้องหามาส่งให้รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญแห่งคดี ที่พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนให้ได้ความดังกล่าว การที่รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 อ้างว่าไม่ได้สังเกตและจำหมายเลขทะเบียนรถไม่ได้จึงอาจเข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดฐานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหาไม่ให้ถูกจับกุมอันอาจเป็นความผิดฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 และ 189 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขอเรียนเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นนายตำรวจระดับผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจและการกระทำความผิดเกิดขึ้นใน สภ. เมืองนครสวรรค์ โดยมีผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคน อาทิ (1) การจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีบันทึกการจับกุม (2) ซ้อมทรมานและฆ่าผู้ต้องหา (3) ทำลายหลักฐานแห่งคดี (4) ไม่แจ้งเหตุแก่พนักงานสอบสวน และ (5) ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการชันสูตรพลิกศพ เป็นต้น อีกทั้งกระทำความผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2564 แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวน สภ. เมืองนครสวรรค์ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาและผู้ร่วมกระทำความผิดทันทีที่เกิดเหตุทั้งที่เหตุเกิดใน สภ. ดังกล่าว

ในทางกลับกันกลับ มีการช่วยเหลือโดยปกปิดการกระทำความผิดและทำลายพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ. เมืองนครสวรรค์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ดังนั้น หากให้พนักงานสอบสวน สภ. เมืองนครสวรรค์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีย่อมจะเสียความเป็นธรรม จึงควรให้กองบังคับการกองปราบปรามเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกรายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพื่อกู้วิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook