ศาลฎีกายกฟ้อง 6 แกนนำพันธมิตรรวม "จำลอง-สนธิ" คดีชุมนุมไล่รัฐบาลสมัคร ปี 51

ศาลฎีกายกฟ้อง 6 แกนนำพันธมิตรรวม "จำลอง-สนธิ" คดีชุมนุมไล่รัฐบาลสมัคร ปี 51

ศาลฎีกายกฟ้อง 6 แกนนำพันธมิตรรวม "จำลอง-สนธิ" คดีชุมนุมไล่รัฐบาลสมัคร ปี 51
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 8 เดือน "3 แกนนำพันธมิตร" ไม่รอลงอาญา ขณะยกฟ้อง "จำลอง-สนธิ" กับพวกรวม 6 คน คดีชุมนุมดาวกระจายไล่ "รัฐบาลสมัคร" ปี 51

วันนี้ (31 ส.ค.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมดาวกระจายขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 และจำเลยที่ 1-9 ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สุริยะใส กตะศิลา, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, อมร อมรรัตนานนท์ หรือ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และเทิดภูมิ ใจดี

ล่าสุด ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 1-6

ส่วน ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, อมร อมรรัตนานนท์ หรือ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และเทิดภูมิ ใจดี จำเลยที่ 7-9 ให้จำคุกเป็นเวลา 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวอัยการฟ้องเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 ในความผิดสำคัญๆ ฐานร่วมกันกระทำเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ และที่เกี่ยวข้อง

คดีนี้จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 ส่วนจำเลยที่ 7-9 ให้รอการกำหนดโทษ อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 9 คน และนำไปสู่การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ โดยจำเลยต่างทยอยเดินทางมาฟังคำตัดสิน

ไชยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นฟังคำตัดสินฎีกาว่า ส่วนตัวไม่ได้กังวลต่อคำตัดสินในวันนี้เพราะอายุมากแล้ว หากศาลยกฟ้องหรือลงโทษแต่ให้รอลงอาญาก็เดินทางกลับบ้าน แต่หากศาลตัดสินว่าผิดและไม่รอลงอาญา ตนก็เข้าคุกตามกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม ไชยวัฒน์ ยืนยันว่า กลุมพันธมิตรฯ ใช้สิทธิชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ การตัดสินคดีวันนี้จึงเป็นการยืนยันว่ารัฐธรรมนูญจะปกป้องคุ้มครองประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและทำหน้าที่ได้ระดับใด และขอบเขตของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายอาญาเป็นอย่างไร ซึ่งคำตัดสินฎีกาในคดีนี้จะทำให้ชัดเจนได้

ไชยวัฒน์ ยังเทียบเคียงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มราษฎรและผู้ที่ออกมาขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ในห้วงที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันการใช้สิทธิชุมนุมกลายเป็นคล้ายๆ กับทำให้เกิดความรุนแรง แต่มีการอ้างโดยใช้คำว่าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ และถ้าเทียบบรรทัดฐานกับกลุ่มพันธมิตรฯ จะเห็นขอบเขตและพฤติกรรมต่างๆ ชัดเจน ดังนั้น จึงเห็นว่าผลของคดีของกลุ่มพันธมิตรฯ นี้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในปัจจุบัน จะเป็นบรรทัดฐานและข้อยุติทางการเมืองของสังคมไทยในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook