ศิริกัญญา สับไม่ยั้ง! อัดนายกฯ คลั่งอำนาจ ทำเศรษฐกิจชาติลงเหว ก่อเกิดวิกฤตคนจน
ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเริ่ม! "ก้าวไกล" ส่ง "ศิริกัญญา" มือแรก สับไม่ยั้ง "ประยุทธ์" คลั่งอำนาจ จนพาเศรษฐกิจชาติลงเหว ชี้ "หุบเหวแห่งความตาย" ทั้งลึกทั้งกว้าง เพราะรัฐบาลบริหารล้มเหลว ก่อเป็น "วิกฤตของคนจน" ย้ำยิ่งอยู่ยาวยิ่งขโมยอนาคตประเทศ
วันนี้ (31 ส.ค.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมกับรัฐมนตรีอีก 5 คน ซึ่งในวันแรกนี้ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยเหตุผลว่าเป็นผู้นำที่คลั่งอำนาจจนพาเศรษฐกิจชาติลงเหว ซึ่งจะทำให้ประชาชนรับผลกระทบต่อเนื่องไปในอนาคตข้างหน้า
อันดับโลก "ดิ่งเหว" ตรงกันหลายดัชนี
ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องขอแสดงความยินดีที่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลนี้ ทำให้ประเทศไทยติดอันดับโลกในหลายเรื่อง Nikkei Recovery Index ชี้ว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจช้าที่สุดในโลก โดยได้อันดับที่ 120 จาก 120 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า เศรษฐกิจจะกลับมาโตในแทร็คเดิมอีกครั้งในปี 2570 แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นผู้นำ เชื่อว่าจะใช้เวลานานกว่านั้น เช่นเดียวกับ ข้อมูลจาก gallup poll ที่ชี้ว่า แรงงานโดนลดชั่วโมงทำงานมากที่สุดในโลกและรายได้ของแรงงานก็ลดลงมากที่สุดในโลกเช่นกัน
“มีอีกมากที่ตอบกับ gallup poll ว่า โดนลดชั่วโมงทำงาน โดนลดโอที ยิ่งถ้าอยู่ภาคบริการ ร้านอาหารเปิดไม่ได้เต็มที่ ร้านสะดวกซื้อยังเจอเคอร์ฟิว ต้องแบ่งกะกับเพื่อนๆ ให้ยังพอได้ทำงาน ยังไม่นับว่ามีคนที่ถูกพักงานเพราะติดโควิดหรือต้องกักตัว ถ้ารวมเอาคนที่เสมือนทำงานแต่ทำไม่ถึงครึ่งวันหรือทำงานได้น้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน คาดว่าจะสูงถึง 3,400,000 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดมากกว่า 1 ล้านคน รายได้คนเหล่านี้ คนที่ว่างงานคือเป็น 0 ส่วนคนที่ทำงานแค่ครึ่งวัน เงินที่ได้คงไม่พอยาไส้ ยังมีคนที่ตกงานจากโควิดระลอกแรกที่กลับไปอยู่บ้าน ช่วยพ่อแก่แม่เฒ่าทำเกษตร ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1,600,000 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคน บางรายจากเดิมขายเสื้อผ้าอยู่จตุจักรได้เงิน เดือนละ 40,000-50,000 ตอนนี้ขายผักอยู่สุพรรณฯ ได้เดือนละ 6,000 บาท และการกลับไปทำเกษตรตอนนี้ใช่ว่าจะดี เพราะราคาตกรูดกันหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ทุเรียน มังคุด เงาะ แต่ราคาสวนทางกับราคาปุ๋ยที่ขึ้นเอาๆ ขึ้นมาตั้งแต่เมษา กว่ารัฐมนตรีจะแก้ปัญหาก็ปาเข้าไปสิงหา เท่ากับย้ายกลับบ้านไปก็ลำบาก จะกลับเข้าเมืองก็น่าจะอดตาย”
ศิริกัญญา อภิปรายต่อไปว่า โควิดอยู่กับเรามาเกิน 18 เดือนแล้ว จึงมีคนที่ตกงานมาตั้งแต่รอบแรกและจนบัดนี้ยังหางานใหม่ไม่ได้หรือเป็นผู้ว่างงานระยะยาว เกิน 1 ปี มากถึง 170,000 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว พอตกงานนานจะเริ่มเกิดความท้อแท้ เลิกหางานและออกจากกำลังแรงงานไปในที่สุด เช่นเดียวกัน เด็กจบใหม่ที่ยังหางานทำไม่ได้ อยู่ที่ 290,000 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 85,000 คน
“ที่แสดงปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อชี้ให้เห็นว่า ด้วยการแก้ปัญหาแบบนี้ ทำให้เกือบทุกคนรายได้ลดลง ปีที่แล้วรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยหายไป 10% แต่เมื่อมารวมกัน ปีที่แล้วรายได้จึงหายไปเกือบ 1 ล้านล้านบาทหากเทียบกับก่อนโควิด ปีนี้เศรษฐกิจแบบนี้ก็น่าจะหายไปอีกเกือบล้านล้านบาท ปีหน้าก็น่าจะดีขึ้นมาหน่อยแต่ก็หายไปอีกราว 800,000 ล้านบาท รวมกันแล้ว ปี 63 - 65 รายได้ประชาชนจะหายไปราว 2.6 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้มาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอาจเรียกมันว่าหลุมรายได้ แต่ดิฉันขอเรียกว่า ‘หุบเหวแห่งความตาย’ ที่ทั้งกว้างและลึก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล ถ้าจะแก้ปัญหานี้ทำให้เหวนี้มันตื้นขึ้น ให้คนพอจะกระเสือกกระสนตัวเองออกมาได้ ก็ต้องมีเม็ดเงินจากรัฐบาลที่จะมาช่วยถม มาเยียวยาให้ดีขึ้น และแน่นอนจากที่กู้ไปแล้วแต่เมื่อผลเป็นแบบนี้ก็ต้องบอกว่ายังไม่พอ เพราะมันถูกใช้อย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง”
ศิริกัญญา กล่าวว่า ที่ต้องเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่ใช่เพราะพวกเขาขี้เกียจ อยากทำงานน้อย เพราะถึงเวลานี้แทบไม่มีใครเกี่ยงงานแล้ว จากนักบินไปขับแกร็บ จากแอร์โฮสเตสไปขายเสื้อผ้าออนไลน์ ที่ลำบากทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าไปทำธุรกิจเสียหรือบริหารแย่จนธุรกิจเจ๊ง แต่เงินเก็บก้อนสุดท้ายถูกเอามาใช้ตั้งแต่ปีก่อน เพื่อวางเดิมพันว่าจะรักษากิจการไว้ให้ได้ ว่าจะเก็บลูกน้องฝีมือดีไว้ให้ได้ แต่สุดท้ายพวกเขาแพ้ เพราะสิ่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้อย่างเดียวคือ หนี้
ใน "วิกฤตของคนจน" ยังมีบางคนทำ "กำไร"
อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญา กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่กล่าวข้างต้น ก็ยังมีคนที่มีรายได้เพิ่ม ครึ่งปีแรกกำไรของบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มถึง 14% จากปี 62 หลายภาคธุรกิจฟื้นตัวและมีกำไรสูงจากเดิมมาก สินค้าอุปโภคบริโภคกำไรเพิ่ม 14 เท่า อสังหากำไรเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า และสามารถจ่ายปันผลได้ที่ 2.4% ขณะที่บริษัทเหล่านี้ไม่ได้จ้างงานเพิ่มและงบลงทุนเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนวิกฤต สรุปแล้ววิกฤตครั้งนี้มันจึงเป็นวิกฤตของคนจนชัดๆ
“เพราะแบบนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ จึงเพิกเฉยกับปัญหารายได้ของประชาชนรากหญ้า เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีจะมีสภาพไม่ต่างไปจากปีที่แล้ว นักวิเคราะห์หลายสำนักทยอยปรับลด GDP ลงกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ภาครัฐอย่างข้อมูลของสภาพัฒน์ นายกฯ อาจจะมาตอบว่าส่งออกยังดี เพราะครึ่งปีแรกโต 15% แต่ก็ยังฟื้นตัวล้าหลังกว่าอีกหลายประเทศ ถ้า GDP จะโตได้ในช่วงนี้ก็คงมาจากส่งออก แต่มันคือภาคเศรษฐกิจที่กระจุกตัว ภาคส่วนที่ส่งออกได้ดีจ้างงานอยู่แค่ 2.5 ล้านคนจากกำลงแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็น 8% ของกำลังแรงงานเท่านั้น
“แต่สิ่งที่ท่านทำเพื่อปกป้องการส่งออกคือแรงงานต้องถูก Bubble and Seal มีการสุ่มตรวจ แต่ถ้าพบว่าติดโควิดเกิน 10% ก็ไม่ตรวจต่อ ให้ทำงานต่อ แต่ห้ามออกไปไหน นี่เราแทบจะไม่มองว่าเขาเป็นมนุษย์กันแล้วใช่หรือไม่ เพียงแค่จะลากจูงการส่งออกให้โต แรงงานต้องเสียสละตัวเองขนาดนี้เลยหรือ สิ่งที่บอกชัดว่าประเทศนี้มันไม่มีอนาคตแล้วคือ ดูจากเงินลงทุนที่ไหลออกไม่หยุด คนรวย นายทุน ขนเงินออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ ก่อนโควิดอยู่ราว 140,000 ล้านดอลลาร์ ต้นปีนี้ไตรมาสแรกไหลออกไปถึง 170,000 ล้านดอลลาร์ ขนาดเจ้าสัวคู่บุญรัฐบาลของท่านยังจะขนเงินไปลงทุนใน 74 ประเทศ เอาออกลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก 50% จากช่วงก่อนโควิด คนรวยๆ เค้าเห็นแล้วว่าประเทศนี้มันไร้อนาคต ก็คงเหลือแต่คนจน/คนชั้นกลางที่ถูกล็อกให้ต้องเผชิญกับชะตากรรมภายใต้การปกครองของนายกฯ ที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
สร้างความเหลื่อมล้ำที่ "อัปลักษณ์ที่สุด"
“รายได้ที่หายไปจะไม่มีความหมายเท่าครั้งนี้ ถ้ามันไม่ได้มากำหนดความเป็นความตายและโอกาสรอดชีวิต ความเหลื่อมล้ำที่อัปลักษณ์ที่สุด คือ ความเหลื่อมล้ำในการรอดชีวิตระหว่างคนจนกับคนรวย เป็นความเหลื่อมล้ำที่ Credit Suisse ไม่ต้องมาจัดอันดับให้ และแม้แต่ World Bank ก็ยังไม่มีข้อมูล”
ศิริกัญญา ชี้ว่า จากประสบการณ์ที่ตนเข้าไปเป็นอาสาสมัครตรวจเชิงรุก พบว่า มีหลายคนที่อยากจะตรวจเชื้อแต่ไม่มีปัญญา เราพบคุณแม่ลูก 3 ทั้งอุ้ม จูง และเข็นรถพาลูก 3 เดือนมาตรวจ เพราะค่าตรวจให้คนทั้งบ้านเท่ากับ 4 เท่าของค่าจ้างรายวันที่คนเป็นพ่อจะหาได้ในแต่ละวัน ผู้หญิงวัยทำงานคนหนึ่งถามย้ำแล้วย้ำอีกว่าตรวจฟรีใช่ไหม ผู้ชายคนหนึ่งถูกหัวหน้างานไล่กลับบ้านเพียงเพราะมีอาการหวัดหลังจากขาดงานมาหลายวัน แถมยังต้องกังวลและหัวเสียกับการต้องจ่ายค่าถ่ายเอกสารเพิ่มอีก 5 บาท เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คิดไว้ทำให้อาจจะต้องเดินกลับบ้านแทนการขึ้นรถประจำทาง หรือแม้แต่การใช้ ATK ในการตรวจที่วันนี้จะได้รับอนุญาตแล้วซึ่งเราเองก็ผลักดันมาตั้งแต่ปีก่อน แต่ราคาตอนนี้ก็ยังแพงเกินเอื้อม
“ติดแล้วเตียงไม่มี เป็นคนจนยิ่งหาเตียงยาก ลองโทรถามโรงพยาบาลเอกชนใกล้ๆ บ้าน เขาถามหาประกันสุขภาพ ถามหาเงินสำรองจ่าย ถามว่าเคยเป็นลูกค้าไหม ถามว่ามีเงินวางไหม 400,000 ได้เตียงทันที แบบนี้คนจนจะมีโอกาสได้เตียงได้อย่างไร 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ท่านมะงุมมะหราคุมการแพร่ระบาดอยู่ แต่มีกี่ชีวิตที่ต้องถูกเซ่นสังเวย เสียชีวิตก่อนได้เตียง ถ้ามีคนลองเก็บข้อมูลรายได้ของผู้ที่ต้องเสียชีวิตที่บ้าน เชื่อว่าจะมีสัดส่วนคนที่มีรายได้น้อยจำนวนมากอย่างแน่นอน การกักตัวเองยังลำบากสำหรับคนรายได้น้อย บ้านแคบ ห้องเล็ก อยู่กัน 5-6 คน แม่ที่ต้องกักตัวเองที่ระเบียง แต่ก็ยังโดนเจ้าของอพาร์ทเมนต์ไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น ลูกสาวที่ป่วยไม่ยอมไปไหน เพราะแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงยังไม่ได้เตียง กว่าศูนย์พักคอยจะค่อยๆ ผุดขึ้นมา การระบาดก็เกิดขึ้นในระดับครัวเรือนแล้ว แบบนี้จะล็อกดาวน์ยังไงถ้ามันแพร่ระบาดกันในบ้าน”
“ยอดคนตายจากโควิดหลักร้อยตอนนี้ แต่ความจริงคือในสถานการณ์ปกติก่อนหน้านี้มีคนตายปกติหลักพัน เพราะคนตายไม่ได้ถูกตรวจโควิดทุกคน เนื่องจากไม่มีระเบียบเบิกจ่ายการตรวจโควิดให้คนตาย มีคนที่เสียชีวิตไปโดยยังไม่ทันได้ตรวจ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าได้เตียง หรือได้ยาอีกเป็นร้อยๆ และแน่นอนคนเหล่านั้นคือคนมีรายได้น้อย ความอัปลักษณ์แบบนี้ที่เราเห็นเต็มตาอยู่ทุกวัน ถามว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลีกเลี่ยงได้รึเปล่า หลีกเลี่ยงได้แน่นอนถ้าเราไม่ได้มีผู้นำที่หวงอำนาจ”
คุมโควิดด้วยความ "อำมหิต"
ศิริกัญญา ชี้ต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ คุมโควิดอย่างอำมหิต มีการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาด ช้าไป น้อยไป และไม่หลากหลาย จนวันนี้พิสูจน์แล้วว่าที่พรรคก้าวไกลเคยอภิปรายไปเมื่อตอนต้นปีเป็นจริงทั้งหมด และอีก 2-3 วันถัดจากนี้ แทนที่จะได้วัคซีนเต็มแขน ท่านคงได้รับฟังเรื่องนี้กันจนเต็มหูแทน
“ท่านล็อกดาวน์ตอนระบาดน้อยและล็อกนาน เมื่อปีที่แล้วเคอร์ฟิวเริ่มเดือนเมษาจบมิถุนา รวม 2 เดือน 11 วัน กว่าจะกลับมาเป็นปกติจริงๆ ก็เข้ากรกฎา ทั้งสภาแห่งนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันเรื่องที่ท่านกอดความสำเร็จของระบบสาธารณสุข แต่กดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์แลกกับความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ แต่คราวนี้ระบาดหนักท่านกลับล็อกดาวน์น้อยกว่า เยียวยายิ่งน้อยลงไปอีก รอบแรกยังมี 5,000 ให้ 3 เดือน ระลอกสอง 3,500 ให้ 2 เดือน มารอบนี้การเยียวยายังไม่ถึงครึ่งรอบแรกด้วยซ้ำ การเยียวยาผู้ประกอบการยิ่งไม่มีเลย เพิ่งมาให้แบบจิ้มเฉพาะภาคส่วนบริการ แต่ย้งมีคนที่โดนปิดโดยคำสั่งรัฐต้องตกหล่น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก ร้านนวด คลินิกเวชกรรม และสถานที่จัดอีเวนท์ เป็นต้น
“เงินกู้กว่า 1.5 ล้านล้านบาท ที่ควรจะกู้มาพยุง มาถมเหวรายได้ 1 ล้านล้านแรกกำลังจะครบกำหนดในเดือนหน้า ตอนนี้เหลือไม่ถึง 4,000 ล้าน แต่พอไปอ่านมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พบแต่โครงการยกเลิก เลื่อน เปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการ แทนที่จะเยียวยาท่านเอาไปใช้ในโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ซึ่งยังไม่ถึงเวลากระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงนี้ ส่วนโครงการ "คนละครึ่ง" ท่านกลับใช้แทนเงินเยียวยาซึ่งเป็นการเยียวยาแบบที่ต้องมีเงินก่อนถึงจะใช้ได้และมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ ที่น่าช้ำใจที่สุด เงินกู้ถูกละเลงลงจังหวัดอย่างไร้ยุทธศาสตร์ อนุมัติ 2 รอบ จำนวน 210 โครงการ แต่ไม่รู้เลยว่าจังหวัดที่ได้ไปเหล่านั้นได้ไปเพราะเหตุผลอะไร ซึ่งเป็นการแจ้งขอใช้เงินกู้ 184 โครงการ และอนุมัติไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เบิกจ่ายไปแค่ 169 โครงการและยังเบิกจ่ายไม่หมด ผลงานขนาดนี้ก็ยังจะได้เงินเพิ่มอีก 86 โครงการใน 50 จังหวัด โดยเป็นการอนุมัติให้ใช้งบกลางเพื่อแก้โควิด ซึ่งเป็นการอนุมัติก่อนที่จะมีระเบียบเบิกจ่ายงบกลางแก้โควิดด้วยซ้ำ แบบนี้อยากใช้ยังไงค่อยไปเขียนระเบียบย้อนหลังเอาใช่หรือไม่
“ใช้เงินแบบนี้ ถ้าจะมียุทธศาสตร์ใดๆ ที่นึกได้ก็คงแค่ยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ใช้เงินแบบนี้ เหวรายได้ประชาชนคงลึกขึ้นเรื่อยๆ ที่น่ากังวลก็คือสถานการณ์งบประมาณการคลังก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะกำลังเจอปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากจัดหารายได้ได้ลดลงปีละ 300,000-400,000 ล้านบาทในอนาคตข้างหน้า และได้กู้เงินไปจนเต็มเพดานแล้ว”
นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า ขณะนี้รายงานความเสี่ยงทางการคลังไม่สามารถสืบค้นเข้าไปดูข้อมูลได้ตามปกติ ต่อมาจึงพบว่าได้ระบุให้เป็นเอกสารลับซึ่งก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไมต้องเป็นเอกสารลับ
ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะหวงอำนาจ กลัวเสียการเมือง
ศิริกัญญา อภิปรายต่อไปว่า มาถึงตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนขาดรายได้ จนเป็นเหวลึกที่ยากจะเติมเต็ม หลายคนเสนอว่า ทางอออกเดียวคืออาจต้องกู้ครั้งต่อไป แต่ดูเหมือนท่านก็ไม่กล้ากู้เงินมาเพิ่มเพื่อให้ทันสถานการณ์ จึงไม่กล้าแก้กรอบเพดานหนี้สาธารณะ เพียงเพราะกลัวโดนโจมตีทางการเมือง กลัวเสียคะแนนนิยม กลัวโดนเพื่อนล้อว่าเก่งแต่กู้ กลัวโดนด่าว่าเป็นนักกู้สู้สิบทิศ ไม่กล้ากู้เพราะกลัวจะเสียอำนาจ แต่วิกฤตครั้งนี้หนักหนากว่าทุกครั้ง หุบเหวแห่งความตายรายได้ของประชาชนจะไม่มีวันถมเต็ม และประชาชนจะลืมตาอ้าปากอีกครั้งหลังวิกฤตนี้ไม่ได้ ถ้าขาดงบประมาณเยียวยาปากท้องและงบอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่มากพอ
“แม้จะถมเหวรายได้ประชาชนได้ไม่เต็ม แต่ก็ทำให้ตื้นขึ้นได้ แม้จะสร้างงานที่ดีที่สุดไม่ได้ แต่ก็เป็นงานที่จะประทังชีวิต รักษาครอบครัวของคนตัวเล็กตัวน้อยไว้ได้ งบประมาณที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ท่ามกลางกิจการที่ปิดตัว และ SME ล้มหายตายจากเป็นกองพะเนิน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่ยอมทำสิ่งเหล่านี้ เพราะมันเสี่ยงในทางการเมือง เพราะ credit มันไม่เหลือแล้ว ความเชื่อมั่นไม่เหลือแล้วจากการละลายเงินกู้ในรอบแรก ไม่ยอมเสี่ยงกู้เงินเพิ่มเพียงเพราะต้องการรักษาอำนาจ หวงตำแหน่ง ยอมปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตตามยถากรรม เพื่อแลกกับการไม่โดนโจมตีในเรื่องการกู้ แลกกับนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ”
ในช่วงท้าย ศิริกัญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยถามว่า สภาแห่งนี้จะเลือกประยุทธ์หรือเลือกประเทศ ถ้าวันนั้นเราเลือกประเทศ เศรษฐกิจคงไม่ต้องรอถึงปี 2570 เพื่อฟื้นตัวอย่างช้าๆ มีแผลเป็นทั้งในใจประชาชนและแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ต่อให้ฟื้นก็ไม่มีทางเป็นเหมือนเดิม
“เพื่อหยุดการขโมยอนาคตของประเทศ จะขอเสนอแนะแนวทางออกตามระบอบประชาธิปไตยต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนี้ รัฐมนตรีของประเทศมองโกเลียลาออกเพราะประชาชนประท้วง เนื่องจากจัดการโควิดอย่างไร้ประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีของสโลวาเกียลาออกเพราะแอบตกลงซื้อวัคซีนจากรัสเซียซึ่งสหภาพยุโรปไม่รับรอง นายกรัฐมนตรีอิตาลีลาออกหลังถูกวิจารณ์รับมือโควิดไม่ได้ จนพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว แนวทางนี้น่าสนใจ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกเซ่นการจัดการโควิดที่ล้มเหลว แต่นั่นอาจไม่ใช่ทางที่ประยุทธ์เลือก งั้นลองดูทางเลือกสุดท้าย นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรีสวีเดนลาออกจากตำแหน่ง เพราะพ่ายโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ศิริกัญญา สรุป