ใต้โต๊ะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องเล่าหลากสีสันจากเหยี่ยวข่าวการเมือง
ไฮไลท์
- พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหาร The MATTER ให้คำนิยามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นหนึ่งใน “เวทีแกรนด์สแลม” ทางการเมือง
- ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว The Standard มองว่า ความน่าสนใจของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คือ “บรรยากาศนอกสภา” ซึ่งมีการชุมนุมคู่ขนานของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
- พงศ์พิพัฒน์ยกให้การอภิปรายเรื่องไอโอ ของ ส.ส.วิโรจน์ จากพรรคก้าวไกล เป็นช่วงที่เขาประทับใจที่สุด ขณะที่ธนกรยกให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของพลเอกประยุทธ์
- ธนกรและพงศ์พิพัฒน์เห็นตรงกันว่า ยังต้องจับตาการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ต่อไป เพราะการอภิปรายจะกินเวลาถึง 4 วัน ดังนั้น “ข้อมูลเด็ด” อาจจะโผล่มาในวันท้าย ๆ
ปฎิเสธไม่ได้ว่า “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” หลายครั้งที่ผ่านมา มีเรื่อง “ว้าว” จนกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” มากมาย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากประชาชนจะตั้งตารอชมและรอฟังเรื่องราวสุด “พีค” ที่จะเกิดขึ้นในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด โดยในครั้งนี้ ฝ่ายค้านได้ตั้งเป้าที่จะ “ซักฟอก” การทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย 5 รัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ฟังข้อชี้แจ้งในเรื่องต่าง ๆ จากภาครัฐ
ขณะที่เหล่านักการเมืองและรัฐมนตรีต่างทำงานอย่างหนักสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกตัวละครสำคัญอย่าง “นักข่าว” ที่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอรอจับประเด็นสำคัญกันทั้งวันทั้งคืน ก็ถือว่าทำงานหนักไม่แพ้กัน แล้วนักข่าวสายการเมืองผู้คลุกคลีอยู่กับแวดวงอภิปรายมาอย่างยาวนาน จะมีความคิดเห็นอย่างไรกับศึกซักฟอกที่กำลังเกิดขึ้น Sanook พูดคุยกับเหยี่ยวข่าวการเมืองตัวเก๋า เพื่อวัดชีพจรนักข่าวในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ในช่วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ
แกรนด์สแลมทางการเมือง
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเห็นว่าการทำงานของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีไม่เป็นที่พอใจ หรือมีข้อสงสัย และไม่ควรไว้วางใจให้ปฎิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้น หลายฝ่ายก็จะจับจ้องไปที่ “บุคคล” ผู้ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งตั้งตารอชม “ความมัน” ของการปะทะฝีปากในรัฐสภา ซึ่งพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหาร The MATTER ให้คำนิยามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นหนึ่งใน “เวทีแกรนด์สแลม” ทางการเมือง
“มันเป็นเวทีโชว์ของฝ่ายค้าน แล้วบางทีดาวสภาจะเกิดในเวทีแบบนี้ อย่างที่บอกว่ามันเป็นเวทีแกรนด์สแลม ใครอยากปล่อยของ โชว์บุคลิก โชว์ความสามารถ ก็ต้องสู้บนเวทีแบบนี้” พงศ์พิพัฒน์อธิบาย
แม้ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมา การโหวตคว่ำรัฐบาลเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว The Standard ก็มองว่าสิ่งที่ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีความสนุก คือ “ข้อมูลเด็ด” ที่ฝ่ายค้านเตรียมมา ที่จะทำให้สังคมได้เห็นการทำงานของรัฐบาลที่ไม่ถูกต้องและชอบธรรม ซึ่งอาจชี้ให้เห็นปัญหาคอร์รัปชั่น การทุจริต หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในรัฐบาล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำหน้าที่สั่นสะเทือนสังคม และคณะรัฐบาลก็ต้องหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยน ครม. หรือนำไปสู่การยุบสภา
“ความสนุกของมันคือ ท่าทีของฝ่ายค้านก่อนอภิปราย เหมือนกับ ‘โอ้ มีข้อมูลเด็ด รอบนี้โดนแน่’ ซึ่งสุดท้ายเวลาเราไปดูในสภาก็จะเห็นว่า บางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามที่พูด ข้อมูลก็ไม่ได้เด็ดอะไร หรือทำให้รัฐบาลสะเทือนได้ ซีกรัฐบาลก็น่าสนใจ คือมันเป็นเกมการเมืองของทั้งคู่ ว่ารัฐบาลจะรับมือกับข้อหาเหล่านี้อย่างไร จะชี้แจงแบบไหน และที่ผ่านมาก็จะมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองขึ้นมา เช่น รัฐมนตรีถูกอภิปรายใช่ไหม ก็มีการชี้แจงแบบคู่ขนาน คือให้ข้าราชการประจำมาชี้แจงที่สภาเลย อย่างวันนี้ก็เริ่มมีแล้ว พอพูดถึงการจัดหาวัคซีน ก็ให้องค์การเภสัชกรรมมาชี้แจงกับสื่อมวลชน เหมือนใช้คนทำงานตอบแทน มันก็จะดูหนักแน่น ‘คุณจะเถียงไหมล่ะ นี่คนทำงานนะ’ อะไรแบบนี้” ธนกรเล่า
อภิปรายครั้งใหม่ ไฉไลกว่าเดิม (?)
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด จะกินเวลาทั้งหมด 58 ชั่วโมง 30 นาที ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน 2564 โดยจะพุ่งเป้าไปที่เรื่องการจัดการบริหารโควิด-19 ที่ล้มเหลว รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ และการทุจริต ซึ่งธนกรมองว่า ภายในรัฐสภาอาจจะไม่มีอะไรแปลกใหม่มากนัก แต่ความน่าสนใจของรอบนี้คือ “บรรยากาศนอกสภา” ซึ่งจะมีการชุมนุมคู่ขนานของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่จะส่งแรงกดดันเข้าไปให้บรรยากาศการเมืองที่กำลังร้อนระอุอยู่ในสภา
“มันจะมีบรรยากาศสองแบบ คือบรรยากาศภายในสภากับนอกสภา ทีนี้ที่ผ่านมาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทุกคนก็โฟกัสอยู่ในสภา แล้วก็ดูผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่สุดท้ายก็จะจบลงด้วยการไว้วางใจอยู่ดี ดังนั้น ในรอบนี้ก็ต้องดูว่าม็อบจะสามารถเพิ่ม กดดัน หรือทำให้อุณหภูมิทางการเมืองสูงขึ้นไหม ต้องลุ้นว่าฝ่ายค้านจะมีงูเห่าเพิ่มหรือเปล่า ส่วนซีกรัฐบาลก็ต้องดูว่าจะมีมติแบบไหน เพราะว่ามันก็มีความไม่ไว้วางใจกันภายในพรรคร่วมอยู่เหมือนกัน”
ทางด้านพงศ์พิพัฒน์ก็เผยว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ทำให้ยังคาดเดายากว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ยังต้องจับตาดูว่าจะมีหลักฐานอะไรใหม่ ๆ โผล่มา เพราะการด่าหรือใช้วาทกรรมอย่างเดียวก็คงไม่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลสะเทือน
“วันนี้น่าจะเป็นเรื่องข้อมูลราคาซิโนแวค ของ ส.ส.เพื่อไทย จริง ๆ เพื่อไทยก็โดนดูถูกมานาน ว่าเน้นแต่วาทกรรมโวหาร ไม่ค่อยมีข้อมูลมาให้คนดูได้เห็น แต่ครั้งนี้ก็แปลว่าเขาทำการบ้านมาประมาณหนึ่ง”
สอดคล้องกับธนกร ที่ให้ความสนใจกับการอภิปรายของประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ว่าด้วยการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ซึ่งพูดถึงส่วนต่างของการจัดหาวัคซีน และตั้งคำถามถึงเรื่อง “เงินทอน” จากการจัดซื้อ
“วันนี้ดูคุณอนุทินกับนายกฯ ตัวติดกันนะ แล้วก็มีรัฐมนตรีเข้าไปไหว้นายกฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ก็คงมาให้กำลังใจแหละมั้ง หรือไม่ก็บอกกันว่าอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน แล้วก็มีคุณไพบูลย์ที่ประท้วง ประท้วงว่า ‘มาพูดว่าค้าความตายคงไม่ได้’ หรือ ‘นายกฯ เป็นผู้นำโง่เราจะตายกันหมด’ ซึ่งก็เป็นลีลาของเขา เขาประท้วงเหมือนตัดบท เหมือนเรากำลังอภิปรายได้เครื่องร้อนเลย แล้วก็มีคนคอยตัดบท” ธนกรกล่าว
“เตะตัดขาไง” พงศ์พิพัฒน์เสริม “แต่ไพบูลย์จะล็อกเป้านะ ไม่ได้มั่วซั่ว แต่มันจะมี ส.ว. คนหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ ที่จะลุกประท้วงตลอด”
สีสัน ความคาดหวัง และความสนุก
เมื่อถามถึงช่วงเวลาประทับใจของนักข่าวสายการเมือง ผู้คลุกคลีกับเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจมาอย่างยาวนาน พงศ์พิพัฒน์รีบตอบทันทีว่าเป็นตอนที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล แฉปฏิบัติการไอโอ ซึ่งมีการแชร์คิวอาร์โค้ดกรุ๊ปไลน์ของผู้ทำหน้าที่ไอโอบนหน้าจอของรัฐสภา
“มันอินเตอร์แอคทีฟมาก เป็นการอภิปรายในรอบ 7-8 ปี เลยมั้ง แล้วตอนนั้นเขาทำได้ดีเกินคาด มันมีข้อมูล คือเรื่องไอโอเราคุยกันมานานแล้ว แต่เพิ่งจะเห็นข้อมูลแบบเป็นระบบก็คือในการอภิปรายตอนนั้นแหละ แล้วมันกลายเป็นเวทีแจ้งเกิดของ ส.ส.วิโรจน์ด้วย” เขาชี้
ส่วนธนกรก็ยกให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นช่วงที่เขาประทับใจมากที่สุด เพราะตลอดหลายปีก่อนหน้า พลเอกประยุทธ์ไม่เคยถูกตรวจสอบจากสภาเลย เขาจึงไม่เคยเจอนักการเมืองที่เป็นลูกล่อลูกชน หรือฝีปากกล้าในรัฐสภา
“ความน่าสนใจก็อยู่ที่ตอนถูกอภิปรายครั้งแรกเลย เราอยากเห็นว่าท่าทีเป็นยังไง แบบไหน จะมีวิธีการตอบคำถามกับสภาผู้แทน หรือ ส.ส.ที่เขี้ยว ๆ ยังไงบ้าง ไม่เหมือนกับสภาที่เขาแต่งตั้งขึ้น อารมณ์ของเขาก็จะเหมือน ‘ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน’ แต่อันนี้เป็นอารมณ์เหมือนกับมีลูกล่อลูกชน มีวิธีการ มีข้อมูล มีลักษณะการพูดของนักการเมืองมืออาชีพที่เราเห็นกันมา ก็จะเห็นว่าพลเอกประยุทธ์เก็บอาการไม่อยู่ ก็เห็นว่าเขาปรี๊ดแตก มีลักษณะของอะไรที่ออกมา ก็ค่อนข้างเป็นความสนุก เป็นสีสันที่ไม่ได้เห็นแบบนี้มานาน” ธนกรกล่าว
“จริง ๆ อภิปรายทุกรอบมันจะมีช่วงสนุกไม่เกิน 5% ที่เหลือก็จะนั่งฟังไปเรื่อย ๆ เบื่อ ๆ แต่ถามว่าจะมีไฮไลต์สนุกไหม ก็คาดหวังให้มีนะ เพราะมันเหมือนเป็นเทศกาลในการมาตั้งคำถามกับรัฐบาลแบบเป็นจริงเป็นจัง อย่างประยุทธ์เนี่ย ปกติกว่าจะถามได้เรื่องได้ราว บางทีก็หนี ก็งอน ทำเป็นโกรธบ้าง ไม่ค่อยได้น้ำได้เนื้อ แต่เวทีอภิปรายมันล็อกให้ประยุทธ์ต้องนั่งฟังและนั่งตอบ” พงศ์พิพัฒน์เสริม
แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ธนกรก็คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะรอดเหมือนกับในทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทั้งธนกรและพงศ์พิพัฒน์ก็เห็นตรงกันว่า ยังต้องจับตามองต่อไป เพราะการอภิปรายจะกินเวลาถึง 4 วัน ดังนั้น “ข้อมูลเด็ด ๆ” อาจจะโผล่มาในวันท้าย ๆ เช่นเดียวกับตัวแปรสำคัญอย่าง “ม็อบ” ที่จะส่งแรงกดดันจากนอกสภาสู่ในสภา
“การอภิปรายมันสำคัญ คือคนชอบคิดว่าต้องอภิปรายเพื่อลงมติให้ถอดถอนรัฐมนตรีคนนั้นเลย ซึ่งตั้งแต่ทำข่าวมา ก็ไม่เคยเห็นนะ แต่ว่าอภิปรายแล้วมันไปต่ออย่างอื่นได้ เช่น ไอโอ ตอนนี้ทุกคนก็รู้จักการมีอยู่ของมันแล้ว หรือตั๋วช้างที่โรม (รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล) อภิปรายคราวก่อน ทุกวันนี้คนก็พูดถึงมันแล้ว มันเป็นข้อมูลที่เอาไปต่อยอดทางการเมืองแบบอื่นได้” พงศ์พิพัฒน์ทิ้งท้าย