“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ กับเรื่องราวในหนังสือที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กอ่าน

“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ กับเรื่องราวในหนังสือที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กอ่าน

“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ กับเรื่องราวในหนังสือที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กอ่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight:

  • ไครียะห์ ระหมันยะ หรือสมญานามว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” เป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในการต่อต้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา
  • การสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อาจก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
  • ไครียะห์และชาวบ้านในชุมชนต้องการสื่อสารให้รัฐและสังคมเข้าใจว่า ชุมชนควรมีสิทธิออกแบบการพัฒนาด้วยตัวเอง นั่นคือการเป็นแหล่งอาหาร ไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม
  • เรื่องราวของไครียะห์ได้เป็นหนึ่งในเรื่องราวการต่อสู้ของเยาวชนทั่วโลก ในหนังสือ “Know Your Rights and Claim Them” ซึ่งจัดทำโดยแองเจลินา โจลี และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล

ไครียะห์ ระหมันยะKhairiyah Rahmanyahไครียะห์ ระหมันยะ

นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนธรรมดากลายเป็นภาพที่ปรากฏในหน้าสื่ออย่างแพร่หลาย และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคนที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการต่อสู้ครั้งนี้ คือคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบอำนาจนิยมในสังคมเท่านั้น แต่พวกเขายังจะกลายเป็นกลุ่มคนที่จะอยู่ต่อไปท่ามกลางซากปรักหักพังที่คนรุ่นเก่าได้ทิ้งไว้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาส่งเสียงในรูปแบบต่างๆ เพื่อถางเส้นทางของตัวเองไปสู่อนาคตที่ดีกว่า สมรภูมิการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในหลายพื้นที่ จึงกลายเป็นเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เปิดตัว

ท่ามกลางดาวดวงใหม่ที่เป็นความหวังของสังคมไทย “ไครียะห์ ระหมันยะ” หรือ “ยะห์” เยาวชนวัย 19 ปี จาก จ.สงขลา เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาเดินหน้า แสดงจุดยืนเพื่อต่อต้านโครงการนิคมอุตสาหกรรม และกำหนดชะตาชีวิตของชุมชนของตัวเอง จนได้รับสมญานามว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ”

ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ

“หนูไม่รู้เลยว่าใครเรียกหนูแบบนี้คนแรก ยังหาไม่เจอค่ะ แต่หนูว่า หนูเป็นลูกสาว เป็นผู้หญิง พ่อแม่หนูก็ประกอบอาชีพประมง บ้านหนูก็อยู่ริมทะเล หนูก็เป็นลูกสาวชาวประมงจริงๆ นั่นแหละ แต่พอมีคนเอาไปพูดเป็นอีกภาษาของเขาเอง เขาจะเรียกว่าเป็นลูกสาวแห่งทะเลจะนะก็ได้ เพราะว่าบ้านของหนูก็คือทะเลจะนะอยู่แล้ว” ยะห์เริ่มเล่าถึงสมญานามอันอลังการ ที่บ่งบอกตัวตนของเธอได้เป็นอย่างดี

ยะห์เกิดและเติบโตในชุมชนบ้านสวนกง ใน อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีพประมง ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งยะห์เรียกว่า “ควน ป่า นา เล” คือมีทั้งภูเขา ป่าไม้ และทะเล ที่ให้ทั้งอากาศบริสุทธิ์และแหล่งอาหารสำหรับคนทั้งในและนอกประเทศ

“ชาวบ้านที่เขาทำอาชีพประมงเขาจะรู้ทันทีเลยว่า ทุกวันเขาได้ปลาเป็นสิบๆ ชนิด ที่ได้ขึ้นมา มีทั้งหมึก กุ้ง หอย ปู ปลา ชาวบ้านก็เลยทำชุดข้อมูลขึ้นมา ปรากฏว่ามันไม่ได้เจาะจงเฉพาะปลาค่ะ มันเป็นสัตว์ทะเล 157 ชนิดเลย แล้วเราก็ได้ติดตามการขนส่งสินค้าอาหารทะเลไปยังพื้นที่ต่างๆ เราก็ได้ทราบว่า อาหารทะเลที่เราส่งไป มันโกอินเตอร์มากเลย โกอินเตอร์กว่าเราอีก พอเราทำข้อมูลชุดนี้เสร็จ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในตอนนั้นเซ็น MOU ให้จะนะเป็นแหล่งผลิตอาหาร ความมั่นคงทางอาหารคือเห็นได้ชัดเจนเลย” ยะห์เล่า

นอกจากนี้ ยะห์ยังได้บรรยายถึงวิถีลูกสาวแห่งท้องทะเลของเธอว่า เธอมักจะใช้เวลาช่วงวันหยุด กางเต็นท์นอนบนชายหาด เพื่อเฝ้ารอดูพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น พร้อมฟังเสียงคลื่นทะเลเพื่อพักผ่อนจิตใจ

“จะนะเป็นพื้นที่ที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา มีทะเล แล้วก็เป็นทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีสัตว์น้ำ มีระบบนิเวศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีทั้งเต่า โลมา ฉลามวาฬ ขึ้นมาเล่นบนผิวน้ำ แล้วตอนที่พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เราสามารถยืนอยู่จุดเดียวกัน แค่หันหน้าหันหลังเราก็สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว”

Khairiyah Rahmanyah

นิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ภาพธรรมชาติและชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชุมชนชาวประมง กลับตกอยู่ในความเสี่ยงในที่สุด เพราะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 มีมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่กินพื้นที่ 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน ของ อ.จะนะ ที่ติดริมชายฝั่งทะเล รวมทั้งสิ้น 16,753 ไร่ และเปลี่ยนเมืองริมทะเลให้กลายเป็นอาณาจักรอุตสาหกรรม ทว่าคำว่า “ก้าวหน้า” และ “อนาคต” กลับมีราคาที่ชาวบ้านต้องจ่ายอย่างมหาศาล จากมลพิษที่ถูกปล่อยจากโรงงานออกสู่ชั้นบรรยากาศและแหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ไม่มีใครสามารถกั้นน้ำ กั้นอากาศได้ ซึ่งวัดกันได้ง่ายๆ เลยค่ะ เหตุการณ์ที่อินโดนีเซีย ควันที่อินโดนีเซียมาถึงประเทศไทย เมืองที่เริ่มต้นทำนิคมอุตสาหกรรม 16,753 ไร่ นับประสาอะไรมันจะไม่มาถึงคนไทยด้วยกัน แล้วถ้าเมืองเริ่มต้นนี้สามารถตั้งได้สำเร็จ มันก็จะขยาย กินพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมดเลย ปลายด้ามขวานของไทยจะเต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม ถ้านิคมอุตสาหกรรมเต็มไปทั้งหมดทั่วประเทศไทย แล้วจะมีอะไรมารับประกันความปลอดภัย และสุขภาพจิตใจ” ยะห์อธิบาย

อย่างไรก็ตาม ยะห์ยืนยันว่า ชาวจะนะไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาใดๆ เพียงแต่มองว่าตนเองเป็นเจ้าบ้าน และมีสิทธิที่จะออกแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับตัวตนของชุมชน นั่นคือการเป็นแหล่งผลิตอาหาร ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี ถึงความสำคัญของการเป็นแหล่งอาหาร นอกจากนี้ ยะห์ยังมองว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ใช้เทคโนโลยีทำงานแทนมนุษย์ จึงไม่จำเป็นต้องตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่ต้องมีคนเข้าไปทำงานในโรงงาน

ถ้าจะบอกว่านิคมอุตสาหกรรมเป็นการพัฒนา หนูจะเรียกแบบนี้เลยว่าเป็นการพัฒนาที่ล้าหลังมาก เพราะว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่จำเป็นต้องเอานิคมอุตสาหกรรมมาเพื่อที่จะบอกว่า นี่เป็นการพัฒนานะ หรือ ถ้าคิดว่านิคมอุตสาหกรรมเป็นการพัฒนาจริง ไปศึกษาแล้วก็ไปถอดบทเรียนที่ภาคตะวันออก ที่มาบตาพุดก่อนว่าคุณภาพชีวิตของคนดีจริงหรือเปล่า สภาพจิตใจย่ำแย่หรือเปล่า มีคนป่วยหรือเปล่า มันเป็นไปตามแผนพัฒนาแบบสากลหรือเปล่า หนูมองว่ามันเป็นผลประโยชน์กับแค่บางคน บางท่าน เท่านั้นเอง” ยะห์กล่าว

Khairiyah Rahmanyah

การต่อสู้ของไครียะห์

แม้ว่ายะห์จะมีบทบาทที่โดดเด่นในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมของ อ.จะนะ แต่ที่จริงแล้ว เธอไม่ได้เกิดมาเป็นนักสู้เพื่อบ้านเกิดทันที แต่ถูกหล่อหลอมจากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ได้เห็นผู้ใหญ่ในชุมชนลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนมาก่อน ตั้งแต่ปี 2536 เรื่อยมาจนถึงปี 2560 ที่เธอได้เข้าร่วมเดินขบวนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และได้เห็นการสลายการชุมนุมของชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทิ้งคำถามไว้ในใจของเธอ ถึงภาพความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2563 ยะห์และแม่ของเธอได้ไปค้างคืนหน้าบันไดศาลากลางจังหวัดสงขลานานเกือบ 50 ชั่วโมง เพื่อรอคำตอบหลังยื่นจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เนื่องจากมองว่า เวทีดังกล่าวจำกัดสิทธิการเข้าร่วมของคนในพื้นที่ และยังจัดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาด รวมทั้งยังตรงกับช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม จากนั้น ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ยะห์เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง ขอให้ยกเลิกมติ ครม. เรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ การเคลื่อนไหวของเธอได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและโลกโซเชียล จนเกิดแฮชแท็ก #SAVECHANA ในทวิตเตอร์

Khairiyah Rahmanyah

นอกจากนี้ ชื่อของยะห์และเรื่องราวของชาวจะนะ ยังได้รับการถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลก เมื่อเธอตัดสินใจเขียนจดหมายถึงเกรตา ทูนแบร์ก เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่ชุมชนของเธอกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนสวีเดนที่มาลงพื้นที่สัมภาษณ์

“หนูจะเป็นคนที่ขาดเรียนเยอะมาก ต้องบริหารเวลาให้ดีค่ะ มันเป็นเรื่องที่ต้องจัดการเวลา จริงๆ หนูก็ทำมาตั้งแต่ ม.1 เลย จนถึงตอนนี้ ปี 1 แล้ว ชีวิตหนูยุ่งๆ ก็เป็นเรื่องปกติ” ยะห์กล่าวถึงชีวิตนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ ที่เติบโตจากการลงพื้นที่ทำงานในชุมชนและเข้าค่ายฝึกอบรมต่างๆ มากกว่าอยู่ในรั้วโรงเรียน ซึ่งเธอยอมรับว่า หลายครั้ง วิถีชีวิตเช่นนี้ก็ทำให้เธอคุยกับเพื่อนวัยเดียวกันไม่เข้าใจ

“ในมุมมองลึกๆ ของหนู ส่วนตัวเนี่ย บางทีก็อยากจะเป็นเด็กที่ไร้สาระไปเลย เพราะว่ามันก็ต้องมีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ต้องทบทวนตัวเอง เวลานั่งคนเดียว เวลากางเต็นท์ หนูก็นั่งคิดของหนูคนเดียวแบบนั้นแหละค่ะ แต่ว่ามันก็โชคดีที่มีคนคอยสนับสนุน มีพ่อแม่คอยสนับสนุน มีเพื่อน มีครู หลายๆ คนคอยสนับสนุน คอยให้คำแนะนำ หนูจะเป็นคนหนึ่งที่เวลามีปัญหา หนูจะชอบถาม ชอบปรึกษาผู้ใหญ่ เพราะว่าเขาจะให้คำแนะนำหนูได้ดี”

Khairiyah Rahmanyah

แต่ยิ่งกว่าการสูญเสียชีวิตวัยรุ่นไป คือการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนับตั้งแต่ที่เธอไปแสดงจุดยืนหน้าศาลากลางจังหวัด ก็มีเจ้าหน้าที่มาวนเวียนอยู่ในละแวกบ้านหลายครั้ง นอกจากนี้ การคุกคามยังไม่ได้หยุดที่เธอและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงเพื่อนๆ ของเธอด้วย

“วันที่หนูไปโรงเรียน แล้วมีเวทีอะไรสักอย่างจัดขึ้น เขาก็มาถามแม่หนูที่บ้าน แม่หนูก็เป็นผู้หญิง แล้วก็อยู่บ้านคนเดียว แม่ก็ตกใจมาก มาถามว่าไครียะห์อยู่ที่บ้านไหม ไครียะห์อยู่ไหน แล้วก็ไม่รู้ว่าเอาเบอร์โทรเพื่อนหนูมาจากไหนด้วย โทรไปหาเพื่อนหนู ถามว่าวันนี้หนูไปโรงเรียนไหม คุกคามหนูไม่พอ คุกคามพ่อแม่หนูไม่พอ คุกคามเพื่อนหนูอีก โทรไปถามเพื่อน เหมือนพยายามที่จะบอกว่าใครที่อยู่ใกล้หนู เป็นบุคคลอันตราย” ยะห์เล่า

อย่างไรก็ตาม ยะห์กล่าวว่า ทุกครั้งที่เธอรู้สึกเหนื่อยล้า เธอจะมองไปยังเป้าหมาย และถามตัวเองว่าเธอทำสิ่งนี้อยู่เพื่ออะไร และเพื่อใคร

หนูโตมาบนพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ตื่นเช้ามาอยากจะกินกุ้งหอยปูปลาก็ได้กิน แล้วมันอยู่บนพื้นฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ แล้วก็อยู่ในพื้นที่ที่ดี อากาศบริสุทธิ์ มันมีไม่กี่ที่แล้วในประเทศไทย หนูอยากให้คนรุ่นหลานๆ หนู เจอกับสิ่งที่หนูได้เจอบ้าง แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง พื้นที่เหล่านี้ เรื่องนิคมอุตสาหกรรมมันเกิดมา 20 กว่าปีแล้ว บรรพบุรุษเราอุตส่าห์ปกป้อง อุตส่าห์รักษาแผ่นดินที่หนูเหยียบอยู่ทุกวันนี้ อุตส่าห์รักษาไว้จนตอนนี้หนูอายุ 19 ปีแล้ว รักษามาเกือบจะ 30 ปีแล้ว แล้วทำไมหนูจะทำไม่ได้บ้าง” ยะห์กล่าว

หนังสือ หนังสือ

หนังสือที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กอ่าน

ณ เวลานี้ แม้เรื่องราวการต่อสู้ของยะห์และชาวจะนะอาจจะห่างหายไปจากหน้าสื่อ แต่เรื่องราวของเธอได้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวของเยาวชนนักกิจกรรมที่มีผลงานโดดเด่นทั่วโลก ในหนังสือ “Know Your Rights and Claim Them” ซึ่งจัดทำโดยแองเจลินา โจลี นักแสดงชื่อดัง ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล โดยโจลีระบุว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่อยากให้เด็กอ่าน เพราะจะทำให้พวกเขามีความรู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและคนอื่น

ยะห์กล่าวว่า เธอรู้สึกดีใจมากที่เรื่องราวของจะนะได้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก และเธอก็ภูมิใจที่หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องหมายที่ยืนยันว่าเธอได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเธอก็จะเดินหน้าทำต่อไป

“หนูคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะรู้ทุกอย่าง ในสิ่งที่อยากจะรู้ และมันไม่สามารถที่จะมีอะไรมาปิดกั้นความรู้ของเด็กได้ ถ้าสมัยนี้ ยิ่งห้ามเด็กไม่ให้ทำอะไร เด็กก็จะทำแบบนั้นแหละ ยิ่งห้ามไม่ให้เด็กอ่านหนังสือเรื่องนี้ หนูว่าห้ามเขาไม่ได้หรอก เพราะว่าเด็กตอนนี้เริ่มมีการพัฒนาทางด้านความคิดมากขึ้นแล้ว เราทำได้ทุกอย่างที่มันเป็นประโยชน์ แล้วก็เป็นผลดีต่อสังคม” ยะห์ระบุ

Khairiyah Rahmanyah

รักตัวเอง = รักโลก

เมื่อถามถึงความฝันในอนาคตในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง ยะห์ยอมรับว่าขณะนี้เธอมีเรื่องที่กังวลอยู่เพียงเรื่องเดียวคือความอยู่รอดของชุมชนในสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น สิ่งที่เธอต้องการจึงไม่ใช่การสนับสนุนเธอเพียงคนเดียว แต่เป็นการสนับสนุนองค์ความรู้ให้เด็กๆ และคนในชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้จากทรัพยากรที่พวกเขามีอยู่ นอกจากนี้ เธอยังเรียกร้องให้คนทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับโลกมากขึ้น

“เรื่องที่หนูอยากพูด และอยากให้หลายๆ คนออกมาพูดก็คือ โรคร้ายนี้ ก่อนที่มันจะมา ลองคิดดูว่าทำไมมันถึงมา หรือว่าโลกของเราอาจจะแก่ขึ้นแล้ว อาจจะไม่มีภูมิต้านทานไม่ให้สิ่งเลวร้ายผ่านเข้ามา ตัวโลกเองอาจจะรับไม่ไหวแล้วก็ได้ เราจะทำอย่างไรให้โลกสามารถที่จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาอีกครั้ง เราหันมาดูแลโลกกันอีกครั้งไหม แล้วสักวัน โลกมันอาจจะกลับมาแข็งแรงขึ้น แล้วก็มีภูมิคุ้มกันไม่ให้สิ่งเลวร้ายที่เราเจอกันอยู่ทุกวันนี้เข้ามาในโลกอีกแล้ว คือถ้าเรารักตัวเอง เราก็ต้องรักโลกด้วย” ยะห์ทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook