แองเจลินา โจลี จับมือแอมเนสตี้ เปิดตัวหนังสือ “Know Your Rights and Claim Them”

แองเจลินา โจลี จับมือแอมเนสตี้ เปิดตัวหนังสือ “Know Your Rights and Claim Them”

แองเจลินา โจลี จับมือแอมเนสตี้ เปิดตัวหนังสือ “Know Your Rights and Claim Them”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แองเจลินา โจลี นักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดัง จับมือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวหนังสือ “Know Your Rights and Claim Them” หนังสือที่ผู้ใหญ่อาจไม่อยากให้เด็กอ่าน

แองเจลินา โจลี และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกันจัดทำสื่อ เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิของตนเอง เป็นการตีพิมพ์หนังสือใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เด็กและเยาวชน ช่วยให้พวกเขากล้าพูดต่อต้านความอยุติธรรม และย้ำเตือนให้ทั้งโลกรำลึกถึงพันธกิจที่มีต่อสิทธิเด็ก

หนังสือเรื่อง “Know Your Rights and Claim Them” อธิบายว่าสิทธิเด็กคืออะไร ช่วยให้เยาวชนมีความรู้ที่จำเป็น เพื่อคุ้มครองตนเองและบุคคลอื่น และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกิจที่มีต่อสิทธิเด็กอย่างไรบ้าง เป็นหนังสือที่เขียนโดยความร่วมมือกับศาสตราจารย์ เจเรอดีน ฟาน บูเรน หนึ่งในผู้ร่วมจัดทำร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

แองเจลินา โจลีกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเองพูด และถ้าผู้ใหญ่ทุกคนเคารพสิทธิเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เด็กมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และควรมีอำนาจและสามารถตัดสินใจเรียกร้องสิทธิได้ด้วยตนเอง

“Know Your Rights and Claim Them เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ต้องการให้เด็กอ่าน เพราะจะทำให้พวกเขามีความรู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและคนอื่น"

“รัฐบาลได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ปี 2532 แต่รัฐบาลหลายประเทศกลับไม่รับฟังเสียงเด็ก ในบางประเทศ เด็กผู้หญิงอายุเพียงเก้าขวบถูกบังคับให้ต้องแต่งงาน ในระดับโลก มีเด็กกว่า 61 ล้านคนซึ่งไม่ได้เข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา และในปี 2562 เด็กหนึ่งในหกคน อยู่ในภาวะยากจนสุดโต่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโรคระบาด ถึงเวลาที่ต้องเตือนให้โลกตระหนักถึงพันธกิจที่มีต่อสิทธิเด็ก”

หนังสือ Know Your Rights and Claim Themหนังสือ Know Your Rights and Claim Them

หนังสือเล่มนี้จะวางจำหน่ายตามร้านหนังสือในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และสามารถพรีออเดอร์ได้ในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกรีซ และจะตามมาด้วยเกาหลีใต้ เดนมาร์ก และเยอรมนีในเร็วๆ นี้ ผู้แต่งหนังสือมีเป้าหมายให้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในทุกภาษาและทุกประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชนหลายล้านคนให้ตระหนักถึงและเรียกร้องสิทธิของตนเองได้

ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งสัญญาณเตือนอย่างหนักว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายประการส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยเฉพาะต่อเยาวชน และแม้พวกเขาจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่คนอื่นก็ไม่ได้ยินหรือไม่รับฟังเสียงของพวกเขา หนังสือ “Know Your Rights and Claim Them” มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้เยาวชนมีความรู้ที่จำเป็น เพื่อยืนหยัดและแสดงความเห็นของตน

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงแนวคิดของสิทธิเด็ก ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เด็กสามารถแสดงความเห็น และเข้าร่วมในการตัดสินใจทั้งปวงที่กระทบต่อตน ทั้งยังให้ข้อมูลในเชิงแนวทางปฏิบัติ มีการเล่าเรื่องของนักกิจกรรมเยาวชนที่มีผลงานอย่างโดดเด่นหลายคน พวกเขาเป็นแนวหน้าที่ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ตั้งแต่การรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เรียกร้องการเข้าถึงการศึกษา หรือการประณามการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและความรุนแรงจากอาวุธปืน เยาวชนหนุ่มสาวที่สร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพลังที่จะยืนหยัดต่อสิ่งที่ตนเองเชื่อ

ไครียะห์ ระหมันยะไครียะห์ ระหมันยะ

ไครียะห์ ระหมันยะ อายุ 19 ปี เกิดในครอบครัวชาวประมงใกล้กับทะเลในจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ทะเลใกล้บ้านเธอเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งเต่าทะเลและปลาโลมาสีชมพูที่หายาก ในปี 2563 ขณะที่อายุได้ 17 ปี ไครียะห์ได้เริ่มการรณรงค์ต่อต้านแผนของรัฐบาลเพื่อพัฒนาหมู่บ้านที่อำเภอจะนะให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้รัฐบาลระงับการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการยกเลิกโครงการ และชุมชนของเธอยังคงต่อสู้ต่อไป

“หนูพูดไม่ถูกจริงๆ ว่ารู้สึกยังไงที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้” ไครียะห์กล่าว เธอเคยปักหลักรอฟังคำตอบจากรัฐบาลเป็นเวลาหลายชั่วโมง เดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตรไปที่ทำเนียบรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้เขายุติการพัฒนาครั้งนี้

“หนูรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน หนูเติบโตมาพร้อมกับการต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องบ้านของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่ต้องอยู่กับความจริงแบบนี้ หนูจึงไม่ต้องการให้คนรุ่นต่อไปมีชีวิตเช่นนี้อีก ในฐานะที่เป็นเด็ก เราควรสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิของตนเอง ผู้ใหญ่มีหน้าที่ต้องส่งเสริม สร้างความเข้มแข็ง และสนับสนุนพวกเรา”

เด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด มีศักดิ์ศรี และมีสุขภาพดี มีสิทธิเข้าถึงอัตลักษณ์ ความเท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติ มีสิทธิอยู่อาศัยในสถานที่อันปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองจากอันตราย สามารถเข้าร่วม (รวมทั้งสิทธิที่จะทำให้บุคคลอื่นรับฟังความเห็นของตน) มีสิทธิเลือกและตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงจากอาวุธ สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและเสรีภาพ มีความเป็นส่วนตัว มีสิทธิในฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยและชนเผ่าพื้นเมือง มีสิทธิทางการศึกษา การเล่น มีสิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รวมทั้งสิทธิในการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบด้วย

โลกเรามีเด็กอยู่ประมาณ 2.3 พันล้านคน หรือเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก สืบเนื่องจากผลกระทบร้ายแรงจากภาวะระบาดครั้งใหญ่ที่มีต่อเด็กและเยาวชน จึงสำคัญอย่างยิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับความรู้ที่จำเป็น เพราะนั่นเป็นสิทธิของพวกเขา ถึงเวลาที่ทั้งโลกต้องรับรู้และลงมือทำ

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมกับมองไปยังอนาคต โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อโลกในปี 2573 เราไม่เพียงต้องถามตัวเองว่า ‘สิ่งที่เราทำส่งผลกระทบต่อเด็กในวันข้างหน้าอย่างไร?’ แต่ยังต้องสนับสนุนให้เด็กเป็นผู้กำหนดวาระสำหรับอนาคตของพวกเขาได้ด้วย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเขาตระหนักถึงสิทธิของตนเอง และรู้ว่าจะเรียกร้องสิทธิได้อย่างไร

“ถ้าเด็กไม่รู้ถึงสิทธิของตนเอง และไม่สามารถเรียกร้องสิทธิได้ พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติมิชอบ ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกแสวงหาประโยชน์ มักตกเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ พวกเขายังเสี่ยงที่จะถูกมองข้าม ไม่สามารถเข้าร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับโลกที่พวกเขาอาศัย หรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับพวกเขาได้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลจัดให้สิทธิเด็กเป็นวาระเร่งด่วนทั่วโลก

“ด้วยเหตุดังกล่าว นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว เรายังจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนออนไลน์ โดยนำเสนอเรื่องราวของเยาวชนนักกิจกรรม และจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเพื่อช่วยให้เยาวชนและบุคคลอื่นเข้มแข็งขึ้น และสามารถเรียกร้องสิทธิของตนได้ทั่วโลก เมื่อเยาวชนได้รับการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิของตนเอง พวกเขาจะมีความเข้มแข็งและปกป้องสิทธิได้ สามารถยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองและบุคคลอื่นได้ด้วย ความรู้จึงเป็นกุญแจสำคัญ ที่พวกเราทุกคนต่างจะได้รับประโยชน์จากโลกที่มีการคุ้มครองสิทธิเด็ก”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook