หน้าใหม่ของความสัมพันธ์แบบชักเข้าชักออก ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย 

หน้าใหม่ของความสัมพันธ์แบบชักเข้าชักออก ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย 

หน้าใหม่ของความสัมพันธ์แบบชักเข้าชักออก ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย 
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซาอุดีอาระเบีย เป็นรัฐอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลาง ราชอาณาจักรนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2475 โดยพระเจ้าอิบนุ ซาอุด เป็นรัฐเดี่ยวปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชคือเป็นเผด็จการสืบสายโลหิตที่ปกครองตามแบบอิสลามนิกายซุนหนี่ สาขาวะฮาบีย์ ประเทศซาอุดีอาระเบียมีฉายาว่า "ดินแดน 2 มัสยิดศักดิ์สิทธิ์" หมายถึง มัสยิดอัลฮารามในนครมักกะ และมัสยิดอันนาบาวี ในเมืองมะดีนา ซึ่งถือเป็น 2 มัสยิดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลาม

ประเทศนี้มีพื้นที่ประมาณ 2,149,690 ตารางกิโลเมตร และประเทศเดียวที่มีชายฝั่งติดทั้งทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซีย แต่ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายแห้งแล้ง คนอยู่อาศัยไม่ได้

ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีประชากร 28.7 ล้านคน มีการค้นพบปิโตรเลียมในปี 2481 ทำให้ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยที่รายรับของประเทศประมาณ 2 ใน 3 มาจากการส่งออกน้ำมันแต่เศรษฐกิจซาอุดีอาระเบียมีความหลากหลายน้อยที่สุด

ประเทศซาอุดีอาระเบียมีรายจ่ายทางทหารสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้ประเทศซาอุดีอาระเบียถูกจัดว่าเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางคู่กับประเทศอิหร่าน 

อิหร่านเป็นชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่งของโลกที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีพื้นที่ดินแดน 1,648,195 ตารางกิโลเมตร กรุงเตหะรานเป็นเมืองหลวงและนครใหญ่สุดของประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชั้นนำ อิหร่านมีประชากร 78.4 ล้านคน

ประเทศอิหร่านมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์มาช้านานเนื่องจากที่ตั้งอยู่ในใจกลางยูเรเชีย และอยู่ใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลกแห่งหนึ่งในการขนส่งน้ำมันจากช่องแคบเป็นจำนวน 40% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมด และ 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ได้เกิดการปฏิวัติใหญ่ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอิหร่านเมื่อปี 2522 และได้สถาปนาสาธารณรัฐอิสลามขึ้นเป็นรัฐศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ตั้งแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน

ความจริงความสัมพันธ์แบบชักเข้าชักออกระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียเพิ่งจะเกิดขี้นหลังการปฏิวัติใหญ่ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอิหร่านเมื่อปี 2522 มานี้เอง เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ประเทศนี้ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตั้งแต่ซาอุดีอาระเบียเริ่มก่อตั้งประเทศเนื่องจากทั้ง 2 ประเทศต่างก็มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชเหมือนกัน

ส่วนความแตกต่างทางนิกายระหว่างชีอะห์กับซุนหนี่ไม่เคยเป็นปัญหาเลยและทั้ง 2 ประเทศนี้มีความมั่งคั่งจากการส่งออกน้ำมัน ในขณะที่มีการแพร่ขยายของพวกที่นิยมลัทธิสังคมนิยมและชาตินิยมสุดโต่งเข้ามาในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ทำให้ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านต้องผนึกกำลังร่วมกันต่อต้านหยุดยั้งภัยที่มีต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชร่วมกัน จึงชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านในปัจจุบันไม่ได้มีสาเหตุหลักจากพื้นฐานความแตกต่างทางนิกายศาสนาอย่างที่เชื่อกัน แม้แต่ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมก็ไม่ใช่ปัญหาเลยแต่การมีศัตรูร่วมกัน คือพวกที่นิยมลัทธิสังคมนิยมและชาตินิยมสุดโต่งต่างหากที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศแนบแน่นในช่วงก่อนการปฏิวัติใหญ่ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอิหร่านเมื่อปี 2522

ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านก็เปลี่ยนไปทันทีในพ.ศ. 2522 เพราะซาอุดีอาระเบียเห็นว่าอิหร่านพยายามที่จะส่งออกการปฏิวัติไปยังประเทศอื่นๆ รอบอ่าวเปอร์เซียให้ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเพื่อสถาปนาประเทศเป็นรัฐอิสลามตามอย่างอิหร่าน  ซึ่งความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอันเกิดจากสงครามอิรัก-อิหร่านที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2523 ทั้งนี้เนื่องจากซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนอิรักในการทำสงครามดังกล่าว พร้อมทั้งให้อิรักกู้ยืมเงินกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพให้แก่กองทัพอิรักในการทำสงครามกับอิหร่าน

เมื่อปี 2530 เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านต้องขาดสะบั้นไปเลยคือการที่ผู้แสวงบุญชาวอิหร่านจัดขบวนชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริการะหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะ จนเกิดการปะทะอย่างรุนแรงกับตำรวจของซาอุดีอาระเบีย  ทำให้มีการบาดเจ็บล้มตายทั้ง2 ฝ่ายหลายร้อยคนทีเดียว จึงเกิดการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในที่สุดเมื่อพ.ศ.2531 ขณะที่อิหร่านก็ประกาศคว่ำบาตรโดยไม่ขอเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในซาอุดีอาระเบียอีกต่อไป

เมื่อสงคราม 8 ปีอิรัก-อิหร่าน (ปี 2523-2531) สิ้นสุดลงทำให้ทั้งอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียต้องโน้มเอียงเข้าหากันเมื่อกองกำลังอิรักเคลื่อนทัพไปบุกยึดคูเวตในหี 2533 เนื่องขาดอิหร่านยังผูกใจเจ็บอิรักจากการทำสงคราม 8 ปี ขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็เห็นว่าการที่อิรักเข้ายึดครองคูเวตเป็นภัยคุกคามต่อซาอุดีอาระเบียสูงกว่าภัยคุกคามที่มาจากอิหร่าน ทำให้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534 

นอกจากนั้นเหตุผลด้านเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยที่ดึงสองฝ่ายให้ต้องหันหน้าเข้าหากัน อิหร่านต้องการให้ซาอุดีอาระเบียในฐานะผู้นำขององค์กรร่วมของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก หรือ OPEC ช่วยอิหร่านเพิ่มการค้าและรายได้อันเกิดจากการขายน้ำมันในตลาดโลกแล้วนำรายได้มาบูรณะฟื้นฟูประเทศอิหร่านหลังตกอยู่ในภาวะสงครามมานานหลายปีติดต่อกัน ขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ไม่ต้องการให้ชาติใดคว่ำบาตรพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของซาอุดีอาระเบียรองจากน้ำมัน ทั้งนี้อิหร่านเองถือเป็นประเทศที่ประชาชนมาทำพิธีฮัจญ์มากที่สุด

นอกจากนี้อิหร่านก็ดูเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียลดน้อยลงตามลำดับหลังจากที่อิหร่านมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ผู้นำและนักการศาสนาสายปฏิรูป

การที่สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองอิรักในปี 2546 ทำให้อำนาจการปกครองอิรักจากที่เคยอยู่ในมือของนักชาตินิยมอาหรับก็เปลี่ยนเป็นอำนาจฝ่ายชีอะห์ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลใหม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในอิรักกว่า 60% เป็นมุสลิมสายชีอะห์ ส่งผลให้อิหร่านมีเครื่องมือเชื่อมต่อความสัมพันธ์และเข้าไปมีอิทธิพลบทบาทในอิรักได้ง่ายนอกจากอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของมุสลิมชีอะห์ในอิรักแล้ว บทบาทของกลุ่มฮิซบุลลอห์ยังปรากฏเด่นชัดขึ้นในการเมืองเลบานอนจากการช่วยเหลือของซีเรีย ทำให้อิทธิพลของอิหร่านแพร่ขยายอย่างเด่นชัดในระยะหลังในทางตรงข้าม บทบาทของซาอุดีอาระเบียในการเมืองตะวันออกกลางกลับลดน้อยถอยลง และความก้าวหน้าของอิหร่านในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ซาอุดีอาระเบียเชื่อว่าความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทำให้อิหร่านมีสถานะที่เหนือกว่าตนในภูมิภาค

กระแสของอาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในปี 2553 จัดว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อราชวงศ์ซาอุด เพราะเป็นกระแสที่บ่อนเซาะการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของซาอุดีอาระเบีย ฉะนั้นการหยุดยั้งกระแสอาหรับสปริงจึงเป็นเป้าหมายหลักที่ซาอุดีอาระเบียต้องรีบดำเนินการ 

แต่สำหรับอิหร่านแล้ว กระแสอาหรับสปริงถือเป็นโอกาสที่จะสร้างพันธมิตรใหม่ในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกับตัวแสดงใหม่ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายนิยมแนวทางรัฐอิสลาม ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาอำนาจของพันธมิตรอย่างซีเรียเอาไว้ 

ลักษณะเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการสร้างสมรภูมิแข่งขันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านครั้งใหม่ เพราะกระแสอาหรับสปริงทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ และเกิดสภาพความอ่อนแอของรัฐต่างๆ ในภูมิภาค หลายประเทศเกิดความรุนแรงกระทั่งกลายเป็นสงครามกลางเมือง

สภาพเช่นนี้ได้เอื้อให้เกิดการช่วงชิงการขยายอิทธิพลอำนาจและการสกัดกั้นฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน โดยใช้ความแตกต่างระหว่างนิกายเป็นเครื่องมือจนทำให้ความขัดแย้งระหว่างซุนหนี่และชีอะห์กลายเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบียเข้าไปมีส่วนแทรกแซงการเมืองของหลายประเทศในตะวันออกกลางเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างกัน ทั้งสนามแข่งขันทางการเมืองในอียิปต์ อิรัก บาห์เรน และเลบานอน 

ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศก็ได้เข้าทำสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างกันอย่างจริงจังในอย่างน้อย 2 สมรภูมิคือซีเรียและเยเมน เป็นการต่อสู้ที่นับวันยิ่งรุนแรงและเข้มข้นขึ้นจนนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศอีกครั้งในปี 2559

การก่อวินาศกรรมโจมตีคลังน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบียโดยใช้โดรน 10 ลำของกลุ่มกบฏฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านซึ่งทำสงครามกับกองกำลังผสมภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียในเยเมนมานาน 5 ปี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 กระทบต่อการผลิตน้ำมันราวครึ่งหนึ่งของซาอุอาระเบีย หรือเท่ากับ 6% ของอุปทานน้ำมันโลก เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างประเทศทั้งสอง 

แต่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ หลังจากที่ต่อสู้กันด้วยสงครามตัวแทนกันจนโทรมลงทั้ง 2 ฝ่ายก็เริ่มเห็นว่าการปะทะกันต่อไปก็เปล่าประโยชน์ทางอิหร่านจึงเสนอให้มีการเจรจาเพื่อที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียครั้งใหม่ในอิรักเพื่อที่จะเรี่มความสัมพันธ์แบบชักเข้าชักออกของยักษ์ใหญ่แห่งภูมิภาคตะวันออกกลางอีกครั้งหนึ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook