ครม.อนุมัติวงเงินกว่า 4.2 พันล้าน ซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส เพื่อฉีดไขว้กับแอสตร้าฯ
ครม.อนุมัติกรอบวงเงินกว่า 4.2 พันล้าน เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส รองรับการนำไปฉีดสูตรไขว้กับแอสตร้าเซนเนก้า
วันนี้ (7 ก.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 4,254.36 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 12 ล้านโดส รองรับการฉีดวัคซีนแบบสูตรผสมระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง (ปอดอุดกั้น หอบหืด) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 35 น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม)
2. ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป
3. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ด่านควบคุมโรคตามชายแดน สถานกักกันโรค ทหาร ตำรวจ เจ้าที่เก็บขยะติดเชื้อ เป็นต้น
และ 4. ประชาชนทั่วไปในประเทศไทย
ทั้งนี้ นายธนกร กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดสครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน เพราะเป็นวัคซีนที่ไม่ต้องสั่งซื้อล่วงหน้าเหมืนอวัคซีนอื่น ทำให้สามารถส่งมอบได้ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. หรือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งเป็นการรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสมและเพิ่มความครอบคลุมของผู้ได้รับวัคซีนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มวัยแรงงาน 8 ล้านคน และกลุ่มแรงงานต่างด้าว 2 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อชะลอไม่ให้เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายในวงกว้าง
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ระหว่างวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถร่นระยะเวลาการฉีดลงได้ และยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับสูงตามผลการวิจัย ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 รวมทั้งลดผลกระทบ/ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว โดยเห็นควรให้กรมควบคุมโรคพิจารณากำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีความยืดหยุ่นในกรณีที่มีวัคซีนที่มีความสามารถต้านทานไวรัสกลายพันธุ์ได้มากขึ้น ให้บริษัทฯ ส่งมอบวัคซีนรุ่นใหม่ดังกล่าวทดแทนวัคซีนเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อแผนการจัดหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชนไทย
อย่างไรก็ตาม ครม.ยังมอบหมายให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
ขณะที่เมื่อตรวจสอบมติ ครม. ในวันนี้ พบว่า การอนุมัติดังกล่าวเป็นไปตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คณะกรรมการฯ) เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564