7 พรรคเล็กประกาศจุดยืนคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 หวั่นเกิดเผด็จการรัฐสภา
พรรคเล็กซีกรัฐบาล 7 พรรค ประกาศจุดยืนโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ชี้ยกเลิกสูตรจัดสรรปันส่วนผสม ล้มระบบเลือกตั้งที่ยุติธรรมให้กับคนตัวเล็ก ปัดพรรคเล็กกินกล้วย ยุ ส.ว. 84 เสียงคว่ำร่าง
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่รัฐสภา นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ นำพรรคการเมืองขนาดเล็ก รวม 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาธรรมไทย พรรคไทรักธรรม และพรรคพลเมืองไทย
โดยพรรคเล็กร่วมรัฐบาลแถลงจุดยืนในการโหวตให้กับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย. นี้ ว่า กลุ่มพรรคเล็กมีมติโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผ่านการทำประชามติจากประชาชนแล้ว อีกทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนตัวเล็กๆ เข้ามามีโอกาสทำงานในสภา รวมถึงล้มระบบ ส.ส.พึงมี ที่ถือเป็นระบบที่ยุติธรรมที่สุด
ทั้งนี้ นพ.ระวี ยังระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 40 และ ปี 50 ที่ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้เห็นว่าเกิดรัฐบาลทักษิณ-สมัคร-ยิ่งลักษณ์ เกิดเผด็จการรัฐสภา มีการคอร์รัปชันเชิงนโยบายมโหฬารอย่างโจ่งแจ้ง
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการที่พรรคเล็กออกมาประกาศคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ไม่ให้สูญพันธุ์หรือไม่ นพ.ระวี กล่าวว่า เหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่ เพราะถ้าผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้พรรคขนาดเล็กจะสูญพันธุ์ พรรคขนาดกลางจะถูกแช่แข็งไปด้วย ยืนยันว่าพรรคเล็กมีจุดยืนเรื่องนี้มาโดยตลอด
ส่วนที่บอกว่าพรรคเล็กชอบกินกล้วย หรือเป็นพรรคปัดเศษ นพ.ระวี ย้อนถามกลับว่า เคยมีกล้วยที่ไหนให้พรรคเล็ก มีแต่พรรคขนาดใหญ่ที่มีรัฐมนตรีได้เงินทอนจากโครงการต่างๆ ซึ่งการที่พรรคเล็กกล้าโหวตสวน เพราะพรรคเล็กไม่มีรัฐมนตรี จึงไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง
นอกจากนี้ นพ.ระวี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย.นี้ ขอเรียกร้องให้ ส.ส. โหวตคว่ำร่วมกับพรรคเล็ก รวมถึงเรียกร้องให้ ส.ว. คิดให้รอบคอบร่วมโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย เพราะถ้า ส.ว.สนับสนุนไม่ถึง 84 เสียงจะทำให้ร่างนี้ตกไป แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน กลุ่มพรรคเล็กจะร่วมกับพรรคขนาดกลางลงชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตนขอย้ำว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ ขอให้ทำประชามติก่อน ซึ่งพรรคเล็กก็พร้อมสู้ในระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถ้าผ่านความเห็นของประชาชน