สธ.เผยพบผู้เสียชีวิต 1 รายจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

สธ.เผยพบผู้เสียชีวิต 1 รายจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

สธ.เผยพบผู้เสียชีวิต 1 รายจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ปัจจุบันได้รับรายงานผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนโควิด รวมทั้งสิ้น 628 ราย ส่วนใหญ่คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน

วันนี้ (8 ก.ย.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ว่า จากผลการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญกรณีเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 พบผู้เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่รับรายงานทั้งหมด 628 ราย โดยคณะผู้เชี่ยวชาญฯ พิจารณาแล้ว 416 ราย พบว่าส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น (Coincidental event) ทั้งหมด 249 ราย

มีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ (Indeterminate event) 32 ราย และเหตุการณ์ที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 ราย คือ ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่สรุปไม่ได้ (Unclassified) 12 ราย และรอสรุปผลอีก 122 ราย

สำหรับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia : VITT) ทางคณะผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อสรุป และคำแนะนำว่าภาวะ VITT สามารถเกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับประโยชน์ของวัคซีนในการป้องกันโรคโควิด-19 และป้องกันความรุนแรงของโรคซึ่งมีมากกว่า จึงยังคงแนะนำให้ประชาชนรับวัคซีนต่อไป

อย่างไรก็ดี ควรเพิ่มความตระหนักเรื่องภาวะ VITT ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสามารถทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว โดยควรเพิ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการและยาสำหรับใช้ในการรักษา VITT ในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสามารถทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องส่งต่อคนไข้ เพิ่มโอกาสในการรักษาและลดการสูญเสีย

vaccine-effect-080921

สำหรับประชาชนหลังจากฉีดวัคซีนแล้วมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง, แขนขาอ่อนแรง, ปากหรือหน้าเบี้ยว, เจ็บหน้าอก, หายใจติดขัด, ขาบวมเจ็บ, ปวดท้องรุนแรง หรือพบมีจุดเลือดออก ภายหลังได้รับวัคซีน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และควรนำบัตรนัดหรือบัตรฉีดวัคซีนไปด้วย ซึ่งหากตรวจพบและรักษาได้เร็ว จะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐ ระบุว่า จากฐานข้อมูลของ AEFI-DDC กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 5 ก.ย. 64 พบว่า จากผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2,411 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะ 20.82% รองลงมามีอาการคลื่นไส้ 14.14% มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง 24 ราย คิดเป็น 0.16/แสนโดส

ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2,734 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเป็นไข้ 26.52% รองลงมามีอาการปวดศีรษะ 24.98% มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง 6 ราย คิดเป็น 0.04/แสนโดส และมีรายงานผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำ (VITT) 5 ราย คิดเป็น 0.03/แสนโดส

สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 154 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะ 18.83% รองลงมามีอาการปวดศีรษะ 15.58% และผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 68 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเป็นไข้ 20.59% รองลงมามีอาการปวดศีรษะ 17.65% โดยมีรายงานผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Probable Myocarditis) 1 ราย คิดเป็น 0.11/แสนโดส ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาและหายเป็นปกติแล้ว

สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ คือ วัคซีนซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง จากข้อมูลของโรงพยาบาลพบว่า ผู้ป่วยในจำนวน 289 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเป็นไข้ 30.10% รองลงมามีอาการปวดศีรษะ 22.84% เช่นเดียวกับผู้ป่วยนอกจำนวน 502 ราย ที่ส่วนใหญ่มีอาการเป็นไข้ 22.91% รองลงมามีอาการปวดศีรษะ 19.12% ทั้งนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 38 ราย โดยคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 3 ราย เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 3 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 32 ราย

ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากข้อมูลของโรงพยาบาล พบว่า ผู้ป่วยในจำนวน 88 ราย ส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะ 28.41% รองลงมามีอาการเป็นไข้ 23.86% และผู้ป่วยนอกจำนวน 205 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเป็นไข้ 22.44% รองลงมามีอาการปวดศีรษะ 20.49% ทั้งนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 2 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 1 ราย

ในส่วนของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีนไฟเซอร์ พบว่า ผู้ป่วยในจำนวน 18 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเป็นไข้ 33.33% รองลงมามีอาการอาเจียน 27.78% และผู้ป่วยนอกจำนวน 98 ราย ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้ 18.37% รองลงมามีอาการเป็นไข้ 16.33% ทั้งนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 2 ราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook