เพจหมอชื่นชม 2 พส.ตอบชาวเน็ต เรื่องป่วยซึมเศร้า ยกเคสพระ-ชี ฆ่าตัวตายเป็นตัวอย่าง

เพจหมอชื่นชม 2 พส.ตอบชาวเน็ต เรื่องป่วยซึมเศร้า ยกเคสพระ-ชี ฆ่าตัวตายเป็นตัวอย่าง

เพจหมอชื่นชม 2 พส.ตอบชาวเน็ต เรื่องป่วยซึมเศร้า ยกเคสพระ-ชี ฆ่าตัวตายเป็นตัวอย่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

2 พส. ยังคงสร้างปรากฎการณ์ เป็นกระแสในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง สำหรับ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์ชื่อดัง แห่งวัดสร้อยทอง ที่ไลฟ์สอนธรรมะทางออนไลน์ ด้วยบรรยากาศสนุกสนาน ขำขัน พร้อมสอดแทรกสาระ ธรรมะ และแนวทางในการดำเนินชีวิต จนมีผู้เข้าชมไลฟ์ต่อเนื่องวันละกว่าแสนคนตลอดหลายวันที่ผ่านมา 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) ทั้งสอง พส. ยังมาไลฟ์ด้วยกันตามปกติ โดยช่วงหนึ่งของการไลฟ์ มีชาวเน็ตท่านหนึ่งคอมเมนต์ว่า "หนูเป็นโรคซึมเศร้ามา 7 ปีแล้ว ควรแก้ยังไงดีคะ" ซึ่งพระมหาไพรวัลย์ก็ได้ตอบคำถามดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

"คนไทยมีมายาคติอย่างหนึ่ง คือเวลาเราเป็นอะไร เราไม่ค่อยอยากจะไปหาหมอ อย่าคิดแบบนี้นะครับ เราเป็นอะไรเราต้องยอมรับถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ปกติไม่โอเค อันดับแรกต้องปรึกษาหมอ การไปพบจิตแพทย์การไปรับคำปรึกษาที่ต่างประเทศนี้เป็นเรื่องปกติมาก แต่คนไทยเพราะเวลาพูดถึงโรงพยาบาล ก็มักจะรู้สึกว่า เฮ้ย..ป่วยเป็นโน้นเป็นนี่เหรอ

ไปพบจิตแพทย์ครับ ให้จิตแพทย์รักษา แล้วค่อยเอาธรรมะชุบชู มันมีเคสหลายเคส คิดว่า ป่วยแล้วมาปฎิบัติธรรมจะหาย วัดเรามีแม่ชีกระโดดน้ำตาย มีพระที่เป็นลูกศิษย์ผมผูกคอตาย คิดว่าป่วยแล้วมาปฎิบัติธรรมแล้วมันจะทำให้ดีขึ้น แต่พอมาเจอกฎระเบียบบางอย่างหรือเจอเพื่อนศาสนิกชนด้วยกันที่ร่าเริงแล้วเราไม่กล้าเข้าไปปรึกษา ปัญหาที่หนักที่สุดของความทุกข์ คือไม่ยอมปรึกษาคนอื่น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่ากัลยาณมิตรเป็นสิ่งสำคัญ มีปัญหาอะไรหาคนที่ไว้ใจได้แล้วปรึกษาครับ อย่าเก็บความทุกข์ไว้คนเดียว"

ขณะที่พระมหาสมปองก็เสริมอีกว่า "ถ้าพูดในทางโลกหน่อยหากอาการหนักจนถึงขั้นเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงแล้วต้องไปพบแพทย์เพราะเขาจะมียา เป็นยาต้านความเครียด สำหรับปรับเคมีในสมอง"

คำแนะนำดังกล่าวนับเป็นประโยชน์อย่างมาก จนเพจ The Doc Life เพจทางการแพทย์และสุขภาพของคุณหมอท่านหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ชื่นชมสองพระอาจารย์ ที่ให้ความรู้ในเรื่องอาการป่วยซึมเศร้าว่า

โรคซึมเศร้า หลายๆครั้ง ไม่ใช่แค่ปัญหาจากภายนอก หรือแค่เรื่องจิตใจอย่างเดียว มักเกิดจากปัญหาในเรื่องของสารสื่อประสาทในสมอง โดยมีปัจจัยภายนอกเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดความเบื่อหน่อย ท้อแท้ ไร้แรงบันดาลใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไป รู้สึกตัวเองไร้ค่า

หมอรู้ หมอเคยเป็น สมัยแอดมินเป็นโรคซึมเศร้า ด้วยปัญหาที่บ้าน ด้วยความผิดพลาด ผิดหวังในหลายๆอย่าง ประกอบกับ การเรียนที่หนัก สอบถี่ ไม่มีเวลาให้พักใจ สิ่งที่แอดมินทำ คือการบอกพ่อแม่ ระบายปัญหา สิ่งที่อัดอั้นตันใจ หวังว่าท่านจะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งท่านก็ช่วยได้บ้างแม้จะไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อย ท่านก็ช่วยผ่อนคลายจิตใจเราไปในส่วนหนึ่ง 

"การเล่า การระบายให้คนที่เราไว้ใจ" เป็นหนึ่งในข้อที่สำคัญ ขณะเดียวกัน เมื่อพ่อแม่เอาไปปรึกษาญาติพี่น้องคนอื่นเรื่องปัญหาของเรา สิ่งที่พวกเขาแนะนำคือ ลองไปเข้าค่ายธรรมะ วิปัสสนามั้ย
ลองไปเล่นโยคะมั้ย ไปเข้าวัด สนทนาธรรมกับพระอาจารย์มั้ย

ซึ่งถามว่า ลองทำมั้ย...ทำหมด หวังว่าจะผ่อนคลายอารมณ์ได้ดีขึ้น เข้าใจชีวิตได้มากขึ้น สุดท้าย สิ่งที่เรารับรู้ได้ คือวิธีนี้ ไม่ได้เหมาะกับตัวเรา

เข้าค่ายธรรมะ วิปัสสนา ช่วยผ่อนคลายได้บ้าง แต่สุดท้าย เราต้องไปถูกบีบรัด ด้วยกฏระเบียบ ที่ทำให้เราอึดอัดในค่ายนั้นอยู่ดี
เล่นโยคะ ตอนเล่นคลายความฟุ้งซ่านได้บ้าง แต่พอเล่นเสร็จ เครียดยิ่งกว่าเดิม เหนื่อย ปวดเมื่อยตัว หงุดหงิด นอนไม่หลับ
เข้าวัดสนทนาธรรม อาจเพราะไม่ได้พบพระอาจารย์ที่เทศนาได้เก่งอะไรมากมาย เรากลับยิ่งรู้สึกว่า ท่านเข้าใจแต่เพียงทฤษฎี ท่านดูไม่มีประสบการณ์จริงที่พร้อมจะเข้าใจเราจริงๆเลย
กลับยิ่งรู้สึกว่า ไม่มีใครเข้าใจเรา มากไปใหญ่ ทุกคนส่งมอบสิ่งที่ตนเองคิดว่าดี แต่เราตีความไปว่า พวกเขา "ยัดเยียด"สิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี ให้เราทำ

สุดท้าย สิ่งที่ช่วยแอดได้ คือ มานั่งทบทวนตัวเอง ว่า "ณ ตอนนี้ เราต้องการอะไร" และ "อะไรที่เราสามารถทำเพื่อสนองความต้องการนั้นได้" จั่วหัวมาแต่แรกแล้วว่า เครียดมาก เรียนหนัก สอบถี่ ไม่มีเวลาพักใจ จึงตัดสินใจ ดรอปเรียน และปรึกษาอาจารย์จิตเวช รับการรักษาอย่างจริงจัง

ทุกวันนี้ หายขาด และจิตใจค่อนข้างแข็งแกร่งและเข้าใจโลกมากกว่าเดิม เราเศร้ากับเรื่องต่างๆยากขึ้น เราใช้เหตุผลในการใช้ชีวิตมากขึ้น เราเติบโตมาได้ จากการผ่านมันมา อย่างถูกวิธี

จากทวีตนี้ บ่งบอกได้ชัดเจนว่า พระมหาไพรวัลย์ เข้าใจ และมองโลกได้ตามความเป็นจริง ไม่เน้นเพียงความศรัทธา อย่างที่ท่านบอก แม้แต่คนที่บวช ปฏิบัติธรรมตลอดเวลา ยังหนีความทุกข์ไม่พ้น แต่ไม่ใช่ว่า การปฏิบัติธรรมช่วยอะไรไม่ได้

เน้นย้ำอีกครั้งว่า "วิธีที่เราทำ เหมาะกับตัวเรามั้ย?" บางครั้ง ศรัทธา ก็ช่วยให้เรามีหวัง ช่วยเยียวยาจิตใจ แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน

อ้อ อีกอย่าง บางคนอ่านบทความมาถึงตรงนี้ อาจรู้สึกเล็กๆได้ว่า ตอนนั้นแอดมินมีอคติกับวิธีการหรือเปล่า เลยไม่โอเคกับวิธีนั้นๆ บอกเลยว่า "มี"

แต่ถามว่า เมื่อเรามีภาวะซึมเศร้า คนที่เคยเป็น จะรู้ว่า อารมณ์ อคติ ตรรกะที่ผิดเพี้ยน เกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับคนที่มีภาวะนี้ พอเราหาย มองย้อนกลับไป เรายังคิดเลยว่า ตอนนั้นทำอย่างนั้นไปได้ยังไงนะ ตอนนั้น ทำไมคิดไม่ได้นะ

ไม่มีใคร เอาชนะสารสื่อประสาทในสมองได้หรอกครับ ซึ้งในรสพระธรรมแค่ไหน ถ้าสารสื่อประสาทมากหรือน้อยไป อารมณ์ก็จะมาเหนือเหตุผลของคุณเองโดยอัตโนมัติ ธรรมะ คือ ความธรรมดา
ความธรรมดา เป็นธรรมชาติของทุกสิ่ง

หมอรู้ หมอเข้าใจ เพราะหมอเคยเป็น และ หมอผ่านมันมาได้แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook