เดนมาร์กยกเลิกมาตรการโควิด-19 ทั้งหมด ไม่ใช่โรคที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอีกต่อไป

เดนมาร์กยกเลิกมาตรการโควิด-19 ทั้งหมด ไม่ใช่โรคที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอีกต่อไป

เดนมาร์กยกเลิกมาตรการโควิด-19 ทั้งหมด ไม่ใช่โรคที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอีกต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หัวใจคือ วัคซีนและ "ความเชื่อใจ" ที่ประชาชนและรัฐบาลมีต่อกัน

“ขอให้ทุกคนสนุกกับการใช้ชีวิต ดูแลกันและกันให้ดีนะ” มานุส ฮิวนิเกอะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเดนมาร์กโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเอง พร้อมประกาศว่าเจ้าไวรัสโคโรนาไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “โรคที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม” อีกต่อไปในเดนมาร์ก 

ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 ก.ย. 2564 คนในประเทศเดนมาร์กเป็นประชากรกลุ่มเดียวในยุโรปขณะนี้ ที่ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบเป็นอิสระอีกครั้งในรอบเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อรัฐบาลเดนมาร์กประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด หลังจากที่ยอดคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วสองเข็มอยู่ที่ 73% ของประชากร ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไปฉีดวัคซีนครบแล้วถึง 96%

ณ ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวนัของเดนมาร์กอยู่ที่ประมาณ 500 คนต่อวัน โดยมีอัตราแพร่เชื้อ (reproduction rate) อยู่ที่ 0.7 หมายความว่าผู้ติดเชื้อโควิด 1 คนสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ 0.7 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ (ประเทศไทย ณ วันที่ 10 ก.ย.64 อยู่ที่ 1.0 มีแนวโน้มคงที่)

ชีวิตอิสระที่ว่านี้คืออะไรในเดนมาร์ก?

  • ไม่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม
  • ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ ยกเว้น สนามบิน
  • ไม่ต้องโชว์พาสปอร์ตวัคซีนเวลาจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือไนท์คลับ (คอนเสิร์ตที่นับว่าใหญ่มากตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่งจัดไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในเมืองโคเปนเฮเกน บัตรจำนวน 50,000 ใบขายหมดเกลี้ยง)
  • รัฐบาลแนะนำประชาชนว่าควรสามหน้ากากอนามัยบริเวณจุดตรวจเชื้อและภายในโรงพยาบาล

เดนมาร์กมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

มิเคล บัง พีเตอร์สัน อาจารย์มหาวิทยาลัยออฮุส ในเมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์กที่ทำการศึกษาเรื่องพฤติกรรมในช่วงโควิด-19 และเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลเดนมาร์กอธิบายในทวิตเตอร์ของเขาว่าเดนมาร์กเดินมาถึงจุดที่ยกเลิกมาตรการทั้งหมดได้อย่างไร

มิเคลบอกว่า แน่นอนว่าพื้นฐานของการเปิดประเทศคือการฉีดวัคซีน แต่หัวใจสำคัญในการดำเนินการเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมดในเดนมาร์กที่นับว่าประสบผลสำเร็จทุกวันนี้ คือ ‘ความเชื่อใจ’ (trust) ที่ประชาชนและรัฐบาลมีต่อกัน จำนวนประชาชนที่ฉีดวัคซีนกันครบ 73% ทั้งหมดนี้เกิดจากความสมัครใจล้วนๆ ในขณะที่ประเทศตะวันตกหลายประเทศ ประชาชนบางกลุ่มไม่เต็มใจที่จะฉีดวัคซีนแม้รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนมาอย่างเพียงพอก็ตาม ผลการวิจัยของมิเคลพบว่า ประชาชนเดนมาร์กมีอัตราการยอมรับวัคซีนสูงกว่าประเทศอื่นๆ อย่างสวีเดน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น

กราฟแสดงพัฒนาการความสมัครใจที่จะฉีดวัคซีนของประชาชนในแต่ละประเทศ มาจากการตอบคำถามว่า เห็นด้วย กับข้อความในแบบสอบถามที่ระบุว่า “หากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำให้คนอย่างฉันฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ฉันจะปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่” กราฟแสดงว่าความสมัครใจในการฉีดวัคซีนของประชาชนในเดนมาร์กสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในตะวันตก (ที่มา คลิกที่นี่) 

เดนมาร์กเป็นประเทศที่ประชาชนมีความไว้ใจในการทำงานของรัฐบาลค่อนข้างสูงมานานแล้ว ตัวผู้เขียนเองเคยมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเดนมาร์ก ครั้งหนึ่งได้คุยกับชาวเดนิชและถามเขาว่า ทำไมคนในประเทศเธอถึงเชื่อใจรัฐบาล คำตอบของเขาตรงกับงานวิจัยของอาจารย์มิเคลที่ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเชื่อใจและเชื่อมั่นในการทำงานและการตัดสินใจของรัฐบาลคือ ความโปร่งใส (transparency) ของรัฐบาลเดนมาร์ก ในการเปิดเผยข้อมูลและสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลที่ไม่น่าพอใจก็ตาม

ความโปร่งใสของรัฐบาลสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน ส่งผลให้ประชาชนเดนมาร์กส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับโควิด-19 ของรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งการไปฉีดวัคซีนด้วยความสมัครใจ และการยอมกักตัวอยู่ที่บ้านตามที่รัฐบาลแนะนำเมื่อพบว่าตัวเองอาจะเสี่ยงกับการติดเชื้อ

มิเคลยังอธิบายต่อว่า นอกจากความเชื่อใจในรัฐบาลแล้ว เขาพบว่า สิ่งที่ทำให้เดนมาร์กมาถึงวันนี้ได้ ยังมีอีกสามปัจจัยย่อย

  1. ทำให้การหยุดเชื้อเป็นโครงการเพื่อส่วนรวม

รัฐบาลเดนมาร์กเซ็ตให้การรักษาระยะห่างทางสังคมเป็นเรื่องความรับผิดชอบที่คนในสังคมควรมีต่อกัน และประชาชนจำนวนมากสนับสนุนวิถีปฏิบัตินี้  มิเคลบอกว่า อะไรที่เป็นเรื่องของศีลธรรมจรรยา อาจก่อให้เกิดผลทางลบ คือผู้คนอาจจะโจมตีด่าว่ากันเอง แต่พบว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในเดนมาร์กน้อยมาก คนในเดนมาร์กส่วนใหญ่ไม่ทำตัวเป็นตำรวจสักเท่าไหร่ และมักจะให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐบาล

  1. หลีกเลี่ยงความแตกแยกแบ่งขั้ว

การให้ความร่วมมือของประชาชนจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ลดลงเร็วมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการแบ่งขั้วในสังคม หากมีการแบ่งฝักฝ่ายมาก แรงสนับสนุนต่อมาตรการของรัฐบาลก็จะลดน้อยลงเร็วขึ้น มิเคลบอกว่าฝ่ายค้านในสภาให้ความสำคัญกับการควบคุมการระบาดเป็นอันดับหนึ่ง และไม่นำมาตรการของรัฐบาลมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ต่อการเลือกตั้งสมัยหน้า

  1. ลดผลกระทบที่เกิดจากมาตรการควบคุมของรัฐบาล

ปัจจัยนี้เกี่ยวของกับความเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล และรัฐบาลเองก็เชื่อมั่นในตัวประชาชนด้วย ทำให้มาตรการที่ออกมาไม่ได้เคร่งครัดจนทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดและได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ การจัดการนี้ส่งผลทำให้การต่อต้านมาตรการของรัฐบาลน้อยลงด้วย

ความไว้ใจและเชื่อมั่นที่ประชาชนและรัฐบาลมีต่อกันในเดนมาร์ก ทำให้ประชาชนมองว่า มาตรการที่รัฐกำหนดมา ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุม แต่เป็นเครื่องมือเพื่อ “ปกป้อง” กันและกันเพื่อให้ประเทศสามารถกลับสู่สภาพปกติได้เร็วที่สุด

แต่โควิดยังไม่จบ เดนมาร์กวางแผนต่ออย่างไร?

ในขณะที่องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนว่า แค่วัคซีนอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะหยุดการแพร่ระบาดของเจ้าโคโรนาไวรัสตอนนี้ได้หรอกนะ เราคงต้องรอดูกันว่าการยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งหมดของเดนมาร์กจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนท่ามกลางการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา

ประชาชนเดนมาร์กที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศส่วนใหญ่ดีใจและเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่บางคนก็ยังรู้สึกแปลกๆ กับชีวิตแบบ ใหม่ปกติ นี้ เคารีนเนอะ ไฮเบิร์ก ชาวเดนมาร์กในกรุงโคเปนเฮเกนวัย 24 ปีให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นเดนมาร์กว่า ด้านหนึ่งเธอรู้สึกตื่นเต้นกับการยกเลิกมาตรการของรัฐบาล เพราะเธอคิดถึงชีวิตก่อนเกิดการแพร่ระบาด

“แต่อีกมุมหนึ่ง ฉันก็ยังไม่ค่อยรู้สึกปลอดภัยสักเท่าไหร่ ผู้คนไอจามตลอดเวลาในขนส่งสาธารณะ”

ส่วน มิเคล บัง พีเตอร์สัน อาจารย์มหาวิทยาลัยออฮุสที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล บอกว่า ไม่มีอะไรแน่นอนและไม่มีใครบอกได้ว่ายกเลิกมาตรการแล้วจะเป็นอย่างไร แต่หากมีการระบาดลอกใหม่ขึ้นมา เขาเชื่อว่าความไว้ใจที่ประชาชนและรัฐบาลมีต่อกันจะช่วยให้เดนมาร์กผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายไปได้อีกอย่างแน่นอน

“ถึงแม้เราจะอยู่ในสภาวะที่ดีขึ้นมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโรคระบาดครั้งนี้จบลง ไวรัสตัวนี้กลายพันธุ์มาแล้วหลายครั้ง เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะไม่ลังเลเลยที่จะนำมาตรการกลับมาใช้อีกครั้ง ถ้าสถานการณ์กลับมาแย่อีกครั้ง” รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์ก กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook