บริษัทมะกันคว้าทุน 500 ล้าน ปลุกแมมมอธคืนป่าไซบีเรีย หลังสูญพันธุ์แล้วหมื่นปี
โคลอสซอล บริษัทด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่ตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อไม่นานมานี้ในสหรัฐ เผยว่าได้รับเงินจากการระดมทุน 15 ล้านดอลลาร์ (494 ล้านบาท) แล้ว สำหรับการสร้างแมมมอธ สิ่งมีชีวิตยุคโบราณที่มีลักษณะคล้ายช้างชนยาว
หลายฝ่ายเชื่อกันว่าแมมมอธสูญพันธุ์ไปแล้วประมาณ 10,000 ปี จากอุณหภูมิโลกที่อุ่นขึ้นและจากการล่าของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม แมมมอธที่จะสร้างขึ้นมาอีกครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นแมมมอธลูกครึ่งเสียมากกว่า เพราะนักวิทยาศาสตร์จะสร้างตัวอ่อนช้างเอเชียขึ้นมาในห้องแล็บ และปรับดีเอ็นเอของช้างให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการใส่ดีเอ็นเอแมมมอธเข้าไป ซึ่งดีเอ็นเอดังกล่าวจะทำให้มีขนยาวเหมือนแมมมอธ มีชั้นไขมันหนา และมีความสามารถอื่นในการปรับตัวให้เข้ากับอากาศหนาว
หลังจากปรับแต่งเสร็จแล้ว ก็จะนำตัวอ่อนนี้ไปฝังกับแม่ช้างอุ้มบุญหรือครรภ์สังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ก็คาดว่าจะได้ลูกแมมมอธครอกแรกใน 6 ปีข้างหน้า
โครงการนี้ระบุว่าต้องการช่วยอนุรักษ์ช้างเอเชียพร้อมกับความสามารถในการอาศัยในเขตหนาวได้ ทั้งยังอาจช่วยฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยและป้องกันผลกระทบบางอย่างจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก อย่างเช่น การโค่นต้นไม้ที่ขึ้นในทุ่งหญ้าเขตอาร์กติกเพื่อคืนสภาพทุ่งหญ้าเขตหนาว ที่จะช่วยให้ดินเยือกแข็ง (เพอร์มาฟรอสต์) ไม่ละลาย
ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มกลับมองว่าความพยายามนี้น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศของเขตอาร์กติกด้วยแรงของแมมมอธต้องอาศัยแมมมอธหลายแสนตัว และแต่ละตัวใช้เวลาอยู่ในครรภ์แม่ 22 เดือน และกว่าจะโตก็ต้องใช้เวลา 30 ปี และการที่มีป่าขึ้นในเขตอาร์กติกและมีมอสปกคลุมพื้นดิน ก็ช่วยให้ดินเยือกแข็งไม่ละลายเช่นกัน