ไทยทบทวนสัมพันธ์เขมรเรียกทูตกลับ
อภิสิทธิ์ กร้าวพร้อมตอบโต้เขมร มอบดาบ กษิต ดำเนินการตามขั้นตอน หลังสมเด็จฮุนเซนเเต่งตั้ง ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาทางศก. กรณ์ เหน็บฮุนเซนอาจกระทบศก.ของเขมร ผอ.สถาบันเพื่อสิทธิมนุษยชน จวก ฮุนเซน ละเมิดอำนาจอธิปไตยไทยอย่างร้ายแรง
(5พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ปรากฏว่า นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้เดินทางมาพบนายอภิสิทธิ์ที่ห้องประชุมฯ โดยใช้เวลาในการพบกันประมาณ 30 นาที และภายหลังการเข้าพบนายกษิตปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ กล่าวเพียงว่าให้ไปถามนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม จากนั้นเวลา 11.00 - 12.15 น. นายกฯไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนาและปาฐกถาหัวข้อ "นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมธุรกิจที่ปรึกษา ออกแบบและก่อสร้างในต่างประเทศ" ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก โดยภายหลังการเปิดงาน ผู้สื่อข่าวได้ไปรอสัมภาษณ์นายกฯที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรีหลังใน ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาลได้เตรียมโพเดี้ยมให้นายกฯแถลง
แต่ปรากฏว่าเมื่อนายกฯใกล้ที่จะเดินมาถึงห้องสีฟ้า นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ามาสะกิดให้นายกฯเดินทางไปประชุมสภาฯ จากนั้น นายกฯจึงขึ้นรถประจำตำแหน่งออกจากทำเนียบรัฐบาลไปทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
ไทยเรียกทูตไทยประจำเขมรกลับพร้อมทบทวนความสัมพันธ์
ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ถึงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อกรณีที่รัฐบาลกัมพูชามีประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น และยืนยันจะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหากได้รับการร้องขอ โดยระบุว่า
ตามที่รัฐบาลกัมพูชาได้แต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และยืนยันที่จะไม่ส่งตัว พ.ต.ท. ทักษิณฯ ให้กับไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากได้รับการร้องขอนั้น กระทรวงการต่างประเทศขอแถลง ดังนี้
1. รัฐบาลได้ชี้แจงกับรัฐบาลกัมพูชาไปแล้วในโอกาสต่างๆ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ต้องอยู่เหนือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล
2. การดำเนินการใด ๆ ของฝ่ายกัมพูชาเกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณฯ ไม่สามารถแยกแยะออกจากความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้ และกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติ เนื่องจาก พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นผู้หลบหนีคดีอาญา และยังคงมีบทบาททางการเมืองในประเทศอยู่
3. การแต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และเป็นการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของไทย รวมทั้งทำให้ความสัมพันธ์และผลประโยชน์ส่วนบุคคลอยู่เหนือความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
4. รัฐบาลไทยจึงนิ่งเฉยไม่ได้ และมีความจำเป็นจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศ การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย ก็เพื่อจะให้ฝ่ายกัมพูชารับรู้ถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนไทยทั้งปวง
5. จากการดำเนินการของรัฐบาลกัมพูชา ทำให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทบทวนสถานะความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา และดำเนินการ ดังนี้
5.1 เรียกเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กลับ
5.2 ทบทวนพันธกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา
5.3 ทบทวนความร่วมมือต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการกับกัมพูชา ซึ่งการทบทวนนี้ รัฐบาลไทยจะกระทำด้วยความจำใจ เนื่องจากรัฐบาลไทยประสงค์มาโดยตลอดที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อพัฒนาการอยู่ดีกินดีของชาวกัมพูชา เพื่อลดช่องว่างของประชาชน และลดช่องว่างระหว่างกัมพูชากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ
"อภิสิทธิ์"กร้าวพร้อมตอบโต้เขมรมอบ"กษิต"จัดการ
เมื่อเวลา 15.30 น. นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าการแถลงของรัฐบาลประเทศกัมพูชา มีส่วนพาดพิงมาสู่กระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งตนเชื่อว่ากระทบต่อความรู้สึกของประชาชนพอสมควร
"ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศก็จะดำเนินการตามมาตรการ เพื่อให้กัมพูชาได้รับรู้ถึงความรู้สึกของประชาชนไทย และการพาดพิงกระบวนการภายในของเราอย่างนี้ ก็จะต้องดำเนินการตอบโต้ตามขั้นตอนทางการทูต ซึ่งผมจะสั่งการให้นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เป็นคนชี้แจงในรายละเอียดว่าการดำเนินการแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มาตรการทั้งหมดที่เราจะทำโดยไม่ให้กระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน เพราะตนเชื่อว่าประชาชนไทยและประชาชนกัมพูชา ต้องการที่จะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน แต่เมื่อรัฐบาลทำในสิ่งที่เป็นปัญหาก็จะเป็นการตอบโต้ในส่วนที่เป็นรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เสื่อมลงด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจะพยายามดูให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ในแง่ของความร่วมมือที่รัฐบาลกัมพูชาเคยร้องขอมาก็คงต้องมาพิจารณา และให้กัมพูชารับทราบ เมื่อถามว่า จะถึงขั้นปิดชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องการค้าขายชายแดนเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน แต่ที่ตนได้หารือกับนายกษิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดว่าเราจะมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการ ที่สำคัญประชาชนคนไทยต้องไม่เดือดร้อน
เมื่อถามว่า เบื้องต้นจะเรียกทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มาตำหนิหรือไม่ นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศจะชี้แจงในรายละเอียด
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการช่วยเหลือในกรอบของภาพรวมต่อประชาชนกัมพูชานั้น รัฐบาลไทยไม่มีปัญหา ส่วนการช่วยเหลือระหว่างรัฐต่อรัฐ กระทรวงการต่างประเทศจะค่อยๆดำเนินการไป แต่ในเบื้องต้นต้องให้เขารับทราบถึงท่าทีของเราอย่างเป็นทางการก่อน
ผอ.สถาบันเพื่อสิทธิมนุษยชนจวก"ฮุนเซน"
นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยกรณีที่ประเทศกัมพูชาแต่งตั้งให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจว่า ส่วนตัวแล้วมองว่าการกระทำสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยไทยอย่างร้ายแรง เรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องภายในประเทศไทย ไม่ว่าผลการตัดสินของประเทศไทยจะออกมาอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีความผิดหรือไม่กระการใด ประเทศกัมพูชาไม่สมควรกระทำแบบนี้
"การที่สมเด็จฮุนเซน กระทำในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการท้าทายประเทศเพื่อนบ้านมากและกัมพูชาได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่ามีการเลือกข้างที่แน่นอน โดยตามมารยาทแล้วเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ถือเป็นเรื่องในประเทศ และกัมพูชาเองก็รู้ดีถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทยแต่ก็ยังทำแบบนี้ ผมเชื่อว่าต่อไปจะมีปัญหาชายแดน ปัญหาความมั่นคง ปัญหาด้านการทหารตามมาอย่างแน่นอน" นายชัยพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยโดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ต้องลุกขึ้นมาดำเนินการบางอย่าง แสดงปฏิกิริยาที่ชัดเจนและตอบโต้การกระทำดังกล่าว ไม่เช่นกันจะทำให้เข้าใจว่านายกฯ ยอมอ่อนข้อให้กับสมเด็จฮุนเซน เหมือนอดีตที่ผ่านมา ต้องมีการตอบโต้ที่มากกว่าคำพูด โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศ ต้องมีการเชิญทูตกัมพูชามาพบชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการด่วน เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
40ส.ว.จี้"มาร์ค"ตอบโต้รัฐบาลกัมพูชา
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา และยืนยันไม่ส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณให้กับทางการไทย ว่า การกระทำดังกล่าวถือว่า รัฐบาลกัมพูชา กล่าวหากระบวนการการยุติธรรมของไทยอย่างรุนแรง เพราะรู้อยู่แล้วว่าคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคดีการทุจริตซึ่งเป็นคดีอาญา ฉะนั้นรัฐบาลไทยต้องออกแถลงการณ์ตอบโต้และประณามรัฐบาลกัมพูชา ที่กระทำการหมิ่นศักดิ์ศรีประเทศไทย และต้องตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลกัมพูชาทันที อย่าบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซน หรือถ้าคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซนจริงๆ ก็ตัดความสัมพันธ์กับนายฮุนเซนไปเลย ไม่ควรจะบอกว่า ไม่เป็นไร หรืออยู่เฉยๆ ซึ่งจะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
"เรื่องนี้ ประชาชนต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลตอบโต้กัมพูชา เพราะถือเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีประเทศ รัฐบาลไทยต้องบอกว่า การเอานักโทษหนีคดีจากประเทศของเราไปเป็นที่ปรึกษาเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ต้องบอกให้เขาเลิก ซึ่งทำได้ไม่ยาก ในเมื่อเขาแถลงออกมา เราก็แถลงตอบโต้ไปว่าเรารู้สึกอย่างไร ไม่ใช่แค่ยืนให้สัมภาษณ์ โดยรัฐบาลไทยต้องมีท่าทีที่เข้มแข็งเหมือนรัฐบาลเวียดนามที่มีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับกัมพูชา และออกแถลงการณ์โจมตีกัมพูชาทันที จนสมเด็จฮุนเซนไม่กล้าพูดอะไร ทั้งนี้เวียดนามสามารถแสดงท่าทีดังกล่าวได้ เพราะเอาประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่บ้านเราที่ไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวกระทบกับความมั่นคงด้านผลประโยชน์ของตัวเอง" นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซน ว่า นายกฯและรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงของไทย ที่มีท่าทีอ่อนแอ ไร้น้ำยา ควรพ้นตำแหน่งไปได้แล้ว หากไม่ดำเนินการเรื่องนี้ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีของประเทศ ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม
ด้านนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ เลขาฯสภาหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวสมเด็จฮุน เซน ที่ต้องการให้อดีตนายกฯไทยเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวสามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องการมาเป็นที่ปรึกษาของประเทศ ส่วนตัวคิดว่า สมเด็จฮุน เซน ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเนื่องจากระดับประเทศ มีสมาชิกอาเซียนถึง 10 ประเทศ ที่มีความสัมพันธ์กันอยู่
ฉะนั้นการกระทำนี้เท่ากับว่าสมเด็จฮุน เซน ในฐานะผู้นำประเทศหนึ่งในสมาชิกอาเซียน กำลังทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังถือเป็นนักโทษหลบหนีคดี ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย และกัมพูชา และอาจจะส่งผลต่อความไว้วางใจซึ่งกันและกันของแต่ละประเทศในอาเซียน จนก่อให้เกิดความแตกแยกได้
ส่วนผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น ย่อมมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจแน่นอน เพราะการที่สมเด็จฮุนเซน ทำแบบนี้ถือเป็นการประกาศเพื่อเอาชนะไทยในเรื่องของผลประโยชน์ด้านการลงทุน จนถึงขั้นแตกหัก ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในทะเล เรื่องก๊าซ และจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งที่อาจจะให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงได้ เหมือนกับเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้
สำหรับท่าทีในกลุ่มนักธุรกิจภาคอีสานโดยสภาหอการค้าภาคอีสานจากเหตุการณ์นี้นั้น นายทวิสันต์ฯ กล่าวว่า หลังจากนนี้อาจะมีการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นพูดคุยในการประชุมหอการค้าระดับประเทศที่ จ.เชียงใหม่ในปลายเดือนนี้ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ว่า ควรจะทำอย่างไร เพราะมีนักลงทุนของหอการค้าหลายคนลงทุนอยู่ในกัมพูชา ที่ชายแดนก็ดี ที่เหมืองหลวงก็ดี ก็จะต้องดูท่าทีว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วควรจะต้องปรับตัวอย่างไร เพราะการที่สมเด็นฮุนเซน ประกาศออกมาอย่างนี้ มีผลกระทบต่อความรู้สึกหลายฝ่าย
ส่วนเรื่องที่ทางกัมพูชายกย่องอดีตนายก.ทักษิณ.ของไทยเป็นคนเก่ง ฉลาดหลักแหลมด้านเศรษฐกิจตรงนั้นตนคิดว่า วันนี้สมเด็จฮุน เซนคือผู้นำสูงสุดของกัมพูชา ฉะนั้นสมเด็จฮุน เซนยอมรับใคร หรือไม่ยอมรับใคร ก็อยู่ที่ตัวสมเด็จฮุน เซน แต่ไม่ได้ถามความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ฉะนั้นตนเชื่อว่าถ้าถามนักธุรกิจกัมพูชา ก็คงไม่สบายใจเหมือนกัน เพราะนักธุรกิจของกัมพูชาส่วนใหญ่ยังจำเป็นที่จะต้องทำธุรกิจกับไทย
" ผมคิดว่าตัวท่านอดีตนายก.ทักษิณ ไม่มีอะไร เพราะท่านทำอะไรก็ได้ที่ให้เป็นข่าว และท่านต้องการตรงนี้ เพราะว่าท่านกลัวสังคมจะลืมท่าน เพราะการลืมท่านจะทำให้ท่านกลับมาลำบาก ฉะนั้นจึงต้องการเป็นข่าว ไม่ว่าข่าวอะไรที่ทำให้ดูดี ดูดัง ดูใหญ่โต ท่านก็จะทำ เช่น ส่งข้อความไปให้คนล้านๆคน อย่างการมีทีวี 100 ช่อง ตรงนี้มันเกินมาตรฐานแล้ว แสดงว่าคนๆนี้ต้องการเป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก "นายทวิสันต์ฯกล่าวและว่า
อย่างไรก็ตามสิ้นเดือนนี้หอการค้าไทย จะมีการประชุมใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ ก็คงจะมีการหารือกันว่า ถ้าท่าทีของนักธุรกิจซึ่งมันเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะนักธุรกิจไทยไปลงทุนในกัมพูชาจำนวนมาก ก็ต้องหารือกัน
นายทวิสันต์ฯกล่าว. กล่าวอีกว่า ฉะนั้นทางออกผมคิดว่ามันก็จะต้องเจรจา และต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะคนที่จะต้องเข้ามาดูแลก็คือนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นคนไทย ต้องเรียกประชุมด่วนทันที ฉะนั้นเรื่องนี้ทางเลขาธิการอาเซียนจะต้องนิ่งดูดายไม่ได้ ไม่อย่างนั้นอาเซียนมันจะไม่เดิน เหมือนเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อเกิดความขัดแย้งในกลุ่มที่ไหนของโลกเมื่อดูแล้วจะรุนแรงต้องรีบไประงับเลย เพราะว่าเมื่อมีคนแตกแถวแล้วข้อตกลงต่างๆที่เคยมีมามันจะเชื่อถือกันได้อย่างไร ตรงนี้มันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่เกิดความเป็นเอกภาพในอาเซียน ซึ่งทุกวันนี้เรื่องของไทยกับกัมพูชามีหลายเรื่องและกำลังปะทุอยู่ ดังนั้นคิดว่าเลขาธิการอาเซียควรจะต้องทำบทบาทตรงนี้
"กรณ์"เหน็บฮุนเซนอาจกระทบศก.ของเขมร
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังกล่าวถึงกรณีที่สมเด็จฮุนเซน แต่งตั้งให้พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศกัมพูชาว่า ตนไม่กังวล แต่กังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจเขมรมากว่า
ด้านนายชวรัตน์ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เรื่องดังกล่าวถือว่าไม่เกี่ยวอะไรกับประเทศไทย เพราะไม่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ได้เป็นที่ปรึกษาสมเด็จฮุนเซน เขาก็จะรุกเข้ามาตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้ว