กษิตยกเลิกMOUพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-เขมร

กษิตยกเลิกMOUพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-เขมร

กษิตยกเลิกMOUพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-เขมร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กษิต ยกเลิกบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา อ้างสิทธิทับซ้อนกัน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ

กระทรวงการต่างประเทศ-นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า จากกรณีที่รัฐบาลไทยได้ประกาศท่าที่ทบทวนพันธกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ทบทวนแล้ว 1 เรื่อง คือ บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ซึ่งทำในสมัย รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นายกษิต กล่าว่า กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาถึงที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน บัดนี้สังคมไทยทั้งหมดได้รับทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ฉะนั้นกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีข้อยุติของการพิจารณา เกี่ยวกับตัวเอ็มโอยูนี้ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแจ้งการบอกเลิกเอ็มโอยู ฉบับดังกล่าวกับฝ่ายกัมพูชา ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

"พ.ต.ท.ทักษิณ รับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้" นายกษิต กล่าว

นายกษิต กล่าวว่า 2.กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าเรื่องพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยกับกัมพูชา อ้างสิทธิทับซ้อนกัน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กว่าสองหมื่นหกพันตารางกิโลเมตรและมีศักยภาพอย่างยิ่งทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูงคือก๊าซ การเจรจาเรื่องนี้จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างกว้างขวาง กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นสมควรให้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ตามแนวทางประชาธิปไตยตามที่ปรากฏในบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 3.การเจรจากรอบ เอ็มโอยู 2544 นี้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผลคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยูกระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรให้ทั้งสองประเทศ ใช้แนวทางการเจรจาอื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้ได้ทางออกที่เป็นธรรมต่อไป

ด้านนายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ท่าทีของไทยที่ให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ เดินทางกลับประเทศ ไม่ใช่เป็นการตัดความสัมพันธ์ เพราะยังมีอุปทูตไทย อยู่ที่สถานทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ และที่สถานทูตกัมพูชา ในไทย ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ ดังนั้นรัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังมีพันธะดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และสถานทูต

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้บริหารประเทศในขณะที่ทำเอ็มโอยู ทำให้ได้รับทราบแนวทางการเจรจา ท่าทีและความลับที่มีอยู่ในขณะนั้น และขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับกัมพูชา อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์อย่างสำคัญ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว ส่วนเอ็มโอยูอื่นๆ ที่ไทยทำกับกัมพูชา ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ อนาคตอาจมีการพิจารณายกเลิกอีก

เมื่อถามว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเป็นที่ปรึกษาประเทศอื่นๆ จะต้องพิจารณายกเลิกบันทึกข้อตกลง หรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า ต้องดูความจริงจังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาระดับไหน มีผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เมื่อกระทรวงการต่างประเทศนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบยกเลิกแล้ว จะใช้เวลาในกระบวนการยกเลิกประมาณ 3 เดือนจึงจะมีผล ส่วนการพิจารณาปิดด่านตามชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงพิจารณา กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้เสนอ

เมื่อถามว่า การยกเลิกบันทึกความเข้าใจ ซึ่งทำให้ไม่มีเอกสารกำกับการตกลงระหว่างสองฝ่าย จะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างดำเนินการหาประโยชน์ในพื้นที่ที่ต่างอ้างสิทธิทับซ้อนได้หรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า หากไม่มีการตกลงทั้งสองฝ่ายไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จนกว่าจะมีการตกลงกันได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook