บอร์ดโรคติดต่อฯ มีมติเสนอ ศบค. ลดวันกักตัวผู้เดินทางจากเมืองนอก รองรับเปิดประเทศ

บอร์ดโรคติดต่อฯ มีมติเสนอ ศบค. ลดวันกักตัวผู้เดินทางจากเมืองนอก รองรับเปิดประเทศ

บอร์ดโรคติดต่อฯ มีมติเสนอ ศบค. ลดวันกักตัวผู้เดินทางจากเมืองนอก รองรับเปิดประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบจะเสนอ ศบค.ลดระยะเวลากักกันผู้เดินทางจากต่างประเทศสำหรับผู้เดินทางในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว พร้อมรับทราบแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคม 2564 คาดฉีดได้ครบตามเป้าหมาย ตั้งเป้าฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เดือนละ 1-2 ล้านโดส

วันนี้ (23 กันยายน 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2564 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น อัตราการติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง การรักษาพยาบาลรองรับได้ดีขึ้น การติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ และมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเรือนจำ แต่มีการแยกกักอย่างดีทำให้ควบคุมได้

สำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งขาติ วันนี้มีประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง คือ

1. รับทราบการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ของไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดเรียนในสถานศึกษา รวมถึงผู้ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 4.5 ล้านคน เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตปกติในโรงเรียนอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2564

2. รับทราบแผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2564 โดยประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามแผน 125 ล้านโดส จะมีผู้ได้รับวัคซีน 62 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 90 โดยมีเป้าหมายฉีดเข็ม 1 ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนพฤศจิกายน และอย่างน้อยร้อยละ 80 ภายในเดือนธันวาคม ส่วนเข็มที่ 2 ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนธันวาคม ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด จะได้รับเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยจัดสรรเดือนละ 1-2 ล้านโดส ตั้งแต่ตุลาคม - ธันวาคม 2564

3. รับทราบความคืบหน้าการเสนอร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ซึ่ง ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว สาระสำคัญมีการกำหนดระบบและกลไกในการจัดการโรคติดต่อทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขึ้นมา เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเป็นเอกภาพ ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

4. เห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เกณฑ์ แนวทาง และแผนงานสำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยจะมีการปรับลดระยะเวลาการกักกันผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งจะให้ลดวันกักตัว 14 วัน 10 วัน และ 7 วัน แล้วแต่กรณี

  • หากลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ผู้ที่เดินทางเข้ามาต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือวัคซีนครบโดสตามบริษัทนั้นๆ พร้อมด้วยการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางด้วยวิธี RT-PCR และเมื่อมาถึงประเทศไทยต้องตรวจอีก 2 ครั้งก่อนและหลังกักตัว หากทำได้ครบถ้วนจะกักตัวเพียงแค่ 7 วัน
  • การกักตัว 10 วัน ที่ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ก่อนและหลังวันกักตัว และต้องเป็นช่องทางการเดินทางทางอากาศเท่านั้น
  • ส่วนการกักตัว 14 วัน ในกรณีที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แล้วมาด้วยช่องทางอื่นๆ เช่น ทางบก ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ก่อนและหลังวันกักตัว

สำหรับมาตรการนี้ใช้เกณฑ์เดียวกันกับทุกประเทศ ซึ่งจะเสนอกับทาง ศบค. ให้พิจารณาต่อไป เนื่องจากมีการพิจารณาข้อมูลระยะเวลาที่พบการติดเชื้อในผู้เดินทางแล้ว และให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถเดินหน้าประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม โดยมีแผนการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินเตรียมความพร้อม โดยการกำหนดพื้นที่ขึ้นอยู่กับความครอบคลุมของวัคซีน สถานการณ์ อัตราการครองเตียง และการบริหารจัดการของพื้นที่ จะเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ระยะแรกช่วงตุลาคม 2564 จะทดลองรับนักท่องเที่ยวไทยเข้าพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ก่อนเปิดพื้นที่ในเดือนพฤศจิกายน 2564

นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติยังได้เห็นชอบในหลักการระบบและแนวทางปฏิบัติในการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้รองรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา และสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook