“สุวดี พันธุ์พานิช” ไม่ได้เป็นหมอ แต่เป็นทุกอย่างได้เพื่อสังคม
ในช่วงที่ข่าวการนำเข้า “วัคซีนโควิด-19” ของนายแพทย์บุญ วนาสิน กำลังเป็นประเด็นดราม่าสนั่นสังคม ชื่อของ “ดร.สุวดี พันธุ์พานิช” ก็ได้รับการพูดถึงมากขึ้นทั้งนอกและในโซเชียลมีเดีย เมื่อเธอคือผู้ทำหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ จำกัด (มหาชน) ได้มีการตกลงซื้อวัคซีนจริง เช่นเดียวกับช่วยเป็นผู้ประสานหาเตียงและช่วยเหลือประชาชนที่ติปดเชื้อโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังปรากฏตัวในฐานะสมาชิกของพรรคการเมืองน้องใหม่อย่าง “พรรคไทยสร้างไทย” ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อีกด้วย
แล้วหญิงสาวผู้ประกาศศักดาว่า “ไม่เป็นกลาง อยู่ข้างประชาธิปไตย” ผู้นี้เป็นใคร Sanook พูดคุยกับดร.สุวดี เพื่อทำความรู้จักเธอให้มากขึ้นในหลายแง่มุมที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้
หลายบทบาทของ ดร.สุวดี
“ดร.นิค” หรือ ดร.สุวดี พันธุ์พานิช เริ่มเล่าให้เราฟังว่าหลังจากที่เธอเรียนจบนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (วาทวิทยา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เธอก็ได้สมัครเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ก่อนจะถูกทาบทามให้เข้ามาเป็นคณะทำงานของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
“เรามองเรื่องโอกาสและจังหวะ ตอนที่มีคนมาทาบทาม เป็นช่วงที่หยุดการสอน และกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ มันจึงเป็นช่วงที่เราได้ศึกษาการเมืองมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น ช่วงนั้นก็มีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด พอมีคนมาทาบทามก็ทำให้ตัดสินใจค่อนข้างง่ายเหมือนกัน” ดร.สุวดี เล่า
เมื่อเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะทำงานของรองนายกฯ ดร.สุวดี จึงได้พบกับนายแพทย์บุญ วนาสิน ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะทำงาน ก่อนจะถูกทาบทามให้ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยส่วนตัวของนายแพทย์บุญ ซึ่งดร.สุวดีก็ระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่เธอมีโอกาสได้ทำทั้งการเมืองและธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน
หลังจากเปลี่ยนรองนายกฯ ดร.สุวดีก็ได้รับโอกาสอีกครั้งให้ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยของนายโภคิน พลกุล ผู้กลายเป็น “อาจารย์” ที่สอนทักษะต่าง ๆ ทั้งเรื่องกฎหมายและการเมืองให้กับเธอ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ขึ้น ดร.สุวดีจึงค่อย ๆ ลดบทบาททางการเมืองลง และเพิ่มบทบาททางธุรกิจมากขึ้น
“ตอนนี้ก็อยู่ในตำแหน่ง Chief PPP (Public Private Partnership) Business เป็นธุรกิจที่เป็นความร่วมมือของรัฐและเอกชน มันคือโมเดลที่นายแพทย์บุญได้ให้วิสัยทัศน์ไว้ ท่านมองว่า ระบบสาธารณสุขในไทยต้องหันไปมองประเทศอาเซียน ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะใช้เอกชนเข้ามาช่วยดูแลสาธารณสุขพื้นฐาน เนื่องจากข้อดีของเอกชนคือการควบคุมต้นทุน เราจะเห็นว่าระบบสาธารณสุขของเรามันบวม แล้วเราก็จะเห็นว่าการทำงานของโรงพยาบาลรัฐขาดทุนทุกโรงพยาบาล” ดร.สุวดีอธิบาย
งานการเมืองที่สนใจ
“เรามีความสนใจการเมืองอยู่แล้ว ได้ติดตามการเมืองมาโดยตลอด ที่บ้านก็เป็นคนรักประชาธิปไตยที่เลือกตั้งทุกครั้ง ปลูกฝังมาตั้งแต่คุณย่า คุณพ่อคุณแม่ คือที่บ้านเป็นข้าราชการ แล้วเขาจะไม่พลาดการเลือกตั้ง มันเลยซึมซับมาที่เรา” ดร.สุวดีเล่า เมื่อเราถามว่าเธอเริ่มต้นสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อใด
หลังจากที่ได้ลิ้มรสบรรยากาศการทำงานในแวดวงการเมืองมาบ้าง เธอสะท้อนว่า สิ่งที่สนุกที่สุดในการทำงานด้านนี้คือ การได้ใช้ทักษะต่าง ๆ ที่เธอมี พัฒนาการเมืองที่ยังเป็นจุดอ่อนของประเทศ ทั้งในเรื่องของความรวดเร็ว แนวคิด และการปลดปล่อย “สิ่งเดิม ๆ” ที่ทำตามกันมาเป็นเวลานาน แม้เหตุการณ์รัฐประหารจะทำให้เธอหันไปสนใจงานทางธุรกิจมากกว่า แต่เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ประกาศลาออกจากพรรคเพื่อไทย ดร.สุวดีก็ยื่นใบลาออกจากพรรคเช่นเดียวกัน และกลายมาเป็นหนึ่งในคณะทำงานของพรรคไทยสร้างไทยในที่สุด
“หลังจากที่คุณหญิงออกมา อาจารย์โภคินออกมา ท่านก็ถามว่าเราสนใจไหม เข้ามาช่วยกันทำงาน เราก็รีบลาออกมาเลย ตอนมาช่วยงานที่พรรค เราก็ยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยอะไรดี ตอนนั้นงานบริษัทก็ค่อนข้างหนัก แต่คุณหญิงก็ให้โอกาสเป็นรองโฆษก เพราะทักษะการพูดการเขียน เราเลยได้มาช่วยในหัวข้อที่เกี่ยวกับด้านสาธารณสุข” ดร.สุวดีเล่า
ช่วงเวลาพิสูจน์ฝีมือ
การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก และดร.สุวดีก็เป็นหนึ่งในคนที่เข้ามาช่วยประสานเรื่องเตียงรักษาในช่วงแรก ๆ ภายใต้เพจ “ไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง” ซึ่งจนถึงวันนี้ ทางเพจได้ช่วยเหลือประชาชนไปแล้วกว่าหลายพันคน
“ในเพจไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง รวมถึงทวิตเตอร์ ดร.สุวดี เราประสานงานช่วยคนไข้ มีคนไข้เยอะมาก คิดว่าน่าจะสี่ห้าพันรายที่ติดต่อมาที่เรา เราตอบเองทุกแชท โดยเฉพาะตอนกลางคืน ถึงจะมีแอดมินมาช่วยแปะมือด้วยก็ตาม คือทุกเคสเราสงสารหมด ทุกคนมีความต้องการ มีความจำเป็นที่จะต้องแยกตัวด่วน มีคุณย่าคุณยายที่หายใจไม่ออกแล้ว เคสไหนที่เราช่วยได้เราเร่งช่วยอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว หลายเคสเราช่วยยังไม่ได้ ณ เวลานั้น เราให้หมอโทรไปเยี่ยม ทุกเคสมันทำให้เรามีน้ำตา เพราะทุกคนไม่ควรอยู่ในภาวะว่า เราจะเป็นคนที่ถูกเลือกหรือเปล่า ไม่ว่าจะอุปกรณ์หรือเตียงที่มีจำกัด มันทำให้คนรู้สึกว่ามันด้อยค่า” ดร.สุวดีเล่า
ไม่เพียงแค่การช่วยเหลือประสานหาเตียงเท่านั้น แต่ทาง ดร.สุวดีและพรรคไทยสร้างไทยก็ยังได้ร่วมมือกับเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จัดตั้งศูนย์พักคอยประปาแม้นศรีขึ้น เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน เมื่อคนถูกแยกตัวออกจากอย่างรวดเร็ว ก็จะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วนั่นเอง
ทั้งนี้ การลงไปหน้างานในจุดนี้ ทำให้ดร.สุวดีมองเห็นปัญหาการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ที่ล่าช้าและการชะล่าใจของรัฐบาล โดยเธอมองว่า ปัญหาสำคัญของภาครัฐคือการตรวจโรค ซึ่งไม่ยอมตรวจ หรือตรวจแต่ตรวจน้อยและมีเงื่อนไข ส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของการจัดการเตียง ที่ไม่มีการขยายเตียงไว้รองรับผู้ป่วย ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้
ถ้าการเมืองดี ชีวิตประชาชนจะดี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาโควิด-19 ยึดโยงอยู่กับเรื่องของการเมือง ซึ่งดร.สุวดีก็ย้ำว่า เมื่อการเมืองดี ระบบสาธารณสุขที่ดีก็จะเกิดขึ้นตามมา โดยการเมืองดีจำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับประชาชน มีที่มาจากประชาชน และมาจากกฎเกณฑ์ที่ประชาชนเป็นผู้วางไว้ นั่นก็คือ “รัฐธรรมนูญ” ดังนั้น การเมืองจะดีได้ ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และหากการเมืองดี ไม่ใช่แค่เรื่องของระบบสาธารณสุขเท่านั้นที่จะดีขึ้น แต่ระบบต่าง ๆ ในประเทศก็จะดีขึ้นและเอื้อประโยชน์ให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง
“สังคมควรอยู่ในรูปแบบที่คนสามารถทำมาหากินได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เส้นสายในการเริ่มทำมาหากิน ในการดำเนินการหากิน รวมถึงจ่ายภาษีด้วย การทำให้คนทำมาหากินได้ โดยไม่ต้องพึ่งคนแนะนำ นี่คือพื้นฐานที่ทุกคนควรจะต้องมีก่อน ทุกวันนี้จะเปิดนั่นที ต้องวิ่งไปหาคนนั้นที มันคือจุดเริ่มต้นของความพังพินาศของประเทศไทยแล้ว ต่อมาเกิดอะไรขึ้น พอคนไม่มีอุปสรรคในการค้าขาย คนก็สามารถจ่ายภาษีในระบบได้อย่างเต็มที่ จากนั้นการจ่ายภาษี หากมีการบริหารจัดการภาษีที่ดี คนไม่ต้องกังวลว่าเจ็บไปไหน ป่วยไปไหน ตายไปไหน ใครจะดูแลพ่อแม่เรา ถ้าระบบพวกนี้ดี เราไม่จำเป็นต้องจำกัดในการใช้ชีวิต เมื่อไรที่เรารู้สึกว่าการบริหารจัดการตรงนี้สามารถครบถ้วนได้ ก็จะทำให้คนและเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดี ประเทศเจริญก้าวหน้าได้อย่างดีมาก” ดร.สุวดีกล่าวปิดท้าย