ฮุนเซน ยอมถอย! ส่งบิ๊กทหารผูกมิตรไทย

ฮุนเซน ยอมถอย! ส่งบิ๊กทหารผูกมิตรไทย

ฮุนเซน ยอมถอย! ส่งบิ๊กทหารผูกมิตรไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ฮุน เซน" ถอย! ส่งบิ๊กทหารคุย มทภ.2 สานสัมพันธ์ระดับ จนท. ขีดเส้นขัดแย้งเฉพาะ รบ. ย้ำไม่เปิดศึก มาร์คอัดแม้วห่วงแต่ผล ปย.เขมร ย้อน "มีปัญหาเรื่องรักชาติหรือ" "กรณ์" ทบทวนเงินช่วยเหลือเขมร "พท." หวั่นข้อหาขายชาติ เบรก "จิ๋ว" ไปพม่า

หลังจากรัฐบาลไทยดำเนินมาตรการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยจะทบทวนข้อตกลงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเล 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร และอาจพิจารณาปิดด่านชายแดนนั้น ล่าสุดสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ส่งตัวแทนฝ่ายทหารมาเจรจาเชื่อมความสัมพันธ์แล้ว

พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวในรายการลับ ลวง พราง ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น. ตนได้รับการติดต่อจาก พล.อ.เจีย ดารา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดกัมพูชาว่าได้รับคำสั่งทางโทรศัพท์จากสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน ว่าให้นำคณะมาพบตนเพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์

"พล.อ.เจีย ดารา เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ พร้อมคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงประมาณ 10 คนจากกรุงพนมเปญ ซึ่งเราได้จัดรถไปรับและพูดคุยกันที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวผามออีแดง โดยได้มีการพูดคุยว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายกำลังแก้ปัญหาอยู่ ซึ่งสมเด็จฮุน เซน ฝากบอกว่า อยากให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนยังคงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จะไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ใดในแนวพรมแดน และจะไม่มีการเพิ่มเติมกำลัง" พล.ท.วีร์วลิต กล่าว

มทภ.2 เผยเขมรต้องการคงสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น

แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า จากการพูดคุยกับคณะของ พล.อ.เจีย ดารา เราจะคงสภาพความสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่นไว้ และจะหาทางคลี่คลายหรือแก้ปัญหาร่วมกัน โดยอยู่บนพื้นฐานสันติวิธี และให้ประชาชนสองฝั่งเป็นอยู่อย่างผาสุก ซึ่งการที่เขารีบส่งคนมาพูดคุยกับเรา คงไม่ใช่ว่าเขากลัวเรา เพราะเรายังเคารพขีดความสามารถของกันและกันอยู่ แต่เป็นการมองภาพร่วมกันว่า ปัญหาต่างๆ เกิดจากปัญหาเส้นเขตแดนยังไม่ชัดเจน และนำพาไปสู่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งเขาประสงค์ที่จะให้เกิดสันติภาพ และไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์ที่รุนแรงไปกว่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดคุยว่าจะมีปิดด่านชายแดนหรือไม่ พล.ท.วีร์วลิต กล่าวว่า เรายังไม่มีนโยบายที่จะปิดด่านตามที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าเป็นการดำเนินในระดับรัฐบาล แต่ความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่นยังให้เป็นไปตามปกติ

เมื่อถามถึงกรณีที่กัมพูชามีการซ้อมรบโดยสมมติว่าเป็นเหตุการณ์ที่เขาพระวิหาร พล.ท.วีร์วลิต กล่าวว่า เป็นข่าวเก่าตั้งแต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเขามีการซ้อม ฝึกตามปกติของเขา และฝึกนอกพื้นที่ที่มีปัญหา โดยไม่ได้นำกำลังเข้ามาฝึกด้านเขาพระวิหาร ทั้งนี้ในหลักการของการฝึกต้องมีการตั้งสมมติฐานในทุกประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อม เราก็ดำเนินการเช่นกัน เพราะไม่ทราบว่าจะมีอุบัติเหตุใดเกิดขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า หากไทยกับกัมพูชารบกันใครจะชนะ พล.ท.วีร์วลิต กล่าวว่า "ณ เวลานี้ ผมตอบได้เลยว่า เราไม่แพ้ เพราะได้เตรียมการสิ่งต่างๆ ไว้แล้ว แต่เมื่อรบกันแล้ว ผลสุดท้ายที่ตามมาคืออะไร การใช้หนทางสันติวิธีน่าจะดีที่สุด"

ด้าน พล.ร.ท.สุวิทย์ ธาระรูป ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (ผบ.นย.) กล่าวถึงมาตรการดูแลแนวชายแดนด้านตะวันออก จ.จันทบุรี-ตราด และพื้นที่ทางทะเลที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชาว่า ในส่วนของทหารเรือนั้น หลังจากรัฐบาลดำเนินมาตรการทางการทูตไปแล้ว มีข้าราชการระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายพลทหารที่ประจำการอยู่ที่เกาะกงติดต่อเข้ามาเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ที่คงเดิม ส่วนบรรยากาศตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้านเขาพระวิหาร ชาวบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้ช่วยกันสร้างหลุมหลบภัยในโรงเรียนภูมิซรอลวิทยา ซึ่งมีความกว้าง 10 เมตร ยาว 15 เมตร เสริมด้วยคอนกรีตหนาและกระสอบทราย รวม 15 หลุม

พท.ผวากระแสตีกลับ-เลี่ยงพูดปม "ทักษิณ"

ด้านนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมคณะยุทธศาสตร์การเมืองพรรคเพื่อไทยร่วมกับแกนนำพรรค เพื่อประเมินสถานการณ์ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์โจมตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง และทำให้รัฐบาลลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา ซึ่งนายสมชายประเมินว่ารัฐบาลพยายามจุดกระแสรักชาติ ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะประชาชนที่ไม่รู้อาจเข้าใจ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยผิด

"นายสมชายได้ให้คำแนะนำในที่ประชุมยุทธศาสตร์และการเมืองว่าให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ดำเนินกิจกรรมของพรรคต่อไป เพื่อชูจุดแข็งทางด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ต้องพูดประเด็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะให้แยกภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนอธิบายเรื่องนี้เอง เพราะเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และน่ายินดีที่ประเทศกัมพูชาเห็นความสามารถ" นายสุชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะปรับท่าทีรวมทั้งความเคลื่อนไหว เช่น การขอให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ยุติการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ นายสุชาติยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยก็กังวลกรณีที่รัฐบาลโจมตีพรรคโดยใช้กระแสรักชาติผลักให้ไปยืนข้างกัมพูชา ในส่วนของ พล.อ.ชวลิต ซึ่งเดิมมีกำหนดการไปเยือนพม่าในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ อาจต้องเชิญให้ พล.อ.ชวลิตมาในพรรคก่อนเดินสายไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากรัฐบาลอีกได้ ส่วนจะให้ชะลอเลยหรือไม่ต้องคุยกันอีกในพรรค

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายรวมทั้งโพลล์ก็ออกมาหนุนการดำเนินการของรัฐบาลให้ตอบโต้กัมพูชา นายสุชาติ กล่าวว่า พรรคไม่สนใจเพราะรู้ว่าเอแบคโพลล์ หรือโพลล์อื่นๆ เป็นการจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และเชื่อว่าประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดเข้าใจ พ.ต.ท.ทักษิณ

"ยิ่งลักษณ์" เผยแม้วเตรียมชี้แจง 10 พ.ย.

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวระหว่างรับฟังปัญหาประชาชนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กรณีปมความขัดแย้งไทย-กัมพูชาว่า ขอให้ทุกคนรอฟัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงในรายการ "ทักษิณไลฟ์" ที่ออกอากาศทาง www.thaksinlive.com และสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนแนลในวันที่ 10 พฤศจิกายน เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีเจตนาที่ดี และยังรักประเทศไทยเสมอ

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงกรณีกัมพูชาตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาว่า ตอบไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณควรรับตำแหน่งหรือไม่ แต่ประเด็นคือต้องดูว่าประเทศเสียหายอะไรบ้าง ซึ่งก็ไม่มี น่าภาคภูมิใจด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้รัฐบาลลาวก็ตั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีต รมว.คลัง เป็นที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้รับแต่งตั้งจากอีกหลายประเทศให้เป็นที่ปรึกษา เช่น นิการากัว ฮอนดูรัส

ส่วนกรณีรัฐบาลจะยกเลิกเอ็มโอยูในพื้นที่ทับซ้อน นายสมชาย กล่าวว่า อยากให้ดูดีๆ ว่าจะเกิดความเสียหายหรือไม่ อย่าเอาความรู้สึกมาทำลายให้ประเทศเสียหายกระทบผลประโยชน์ประชาชน

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงตอบโต้รัฐบาลว่า ตลอด 11 เดือน รัฐบาลดำเนินนโยบายต่างประเทศล้มเหลวผิดพลาดตั้งแต่การตั้งนายกษิต ภิรมย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่สบายใจ นอกจากนั้นยังมีการตั้งหลายโฆษกออกมาบ่นมลพิษรายวัน ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ความขัดแย้งลดลง จึงขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ทบทวนตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศและสารพัดโฆษกที่ออกมาพูดแล้วสร้างความขัดแย้ง ส่วนกรณีกัมพูชาตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะก่อนหน้านี้หลายประเทศก็แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ

มาร์คซัดแม้วห่วงแต่ผลประโยชน์เขมร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณออกแถลงการณ์กล่าวหารัฐบาลนำปัญหาการเมืองภายในไปกดดันประเทศเพื่อนบ้านว่า ปัญหาไม่ได้เริ่มต้นจากรัฐบาลไทย แต่กัมพูชาแถลงกระทบกับกระบวนการยุติธรรมของไทยโดยตรง

"พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นคนไทย น่าจะรู้สึกบ้าง แต่กลับมองว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายไปสร้างปัญหา ที่จริง พ.ต.ท.ทักษิณควรทบทวนบทบาทของตัวเองมากกว่า ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ยึดผลประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม คิดถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ถ้าคิดถึงสิ่งเหล่านี้ก็น่าทบทวน และรู้ว่าควรทำอะไร" นายรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณระบุรัฐบาลทำผลีผลาม ขาดสติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินงานทุกอย่างด้วยความระมัดระวังและสุภาพ และอยากบอกว่า อย่าเอาปัญหาของตัวเองมาสร้างให้เป็นปัญหาของชาติ

ย้อน "ทักษิณ" มีปัญหาเรื่องรักชาติหรือ

เมื่อถามว่า นโยบายที่รัฐบาลตอบโต้กัมพูชารุนแรงเกินไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่รุนแรง และไม่เคยใช้ถ้อยคำที่เป็นปัญหา เพราะมาตรการที่ดำเนินการไปไม่ได้ก่อให้เกิดการปะทะ ไม่กระทบต่อการเดินทางไปมาหาสู่ เป็นการแสดงออกทางการเมือง บวกกับการทบทวนสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มาสร้างปัญหาให้รัฐบาลในฐานะที่ไปสวมบทบาทของการเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกัมพูชา ทั้งที่ล่วงรู้ข้อมูลเรื่องการทำข้อตกลงของฝ่ายไทย ต้องถามว่าถ้าใครเป็นรัฐบาลจะยอมให้ประเทศเสียเปรียบ จะยอมให้กระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามหรือไม่

ส่วนข้อวิจารณ์ว่า กระทรวงการต่างประเทศใช้นโยบายกดดันเพื่อนบ้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย และทำให้เกิดข้อสงสัยมากยิ่งขึ้นว่าข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับกัมพูชาทั้งหมด เป็นจริงหรือไม่ ทำไมจึงเป็นห่วงผลประโยชน์ประเทศอื่นมากกว่าประเทศตัวเอง

เมื่อถามถึงข้อสังเกตเรื่องรัฐบาลปลุกกระแสรักชาติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "รัฐบาลก็รักชาติ คนไทยก็รักชาติ เพราะฉะนั้นอย่าไปทำอะไรกระทบผลประโยชน์ของชาติ เรื่องก็จะไม่เกิด ไม่มีการไปปลุกกระแสอะไรทั้งนั้น หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ มีปัญหาเรื่องรักชาติ"

ปชป.รุกฉีกข้อตกลงเขาพระวิหาร

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคขอสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการใช้มาตรการทางการทูตต่อการแทรกแซงกิจการการเมืองในประเทศไทยของรัฐบาลกัมพูชาเพื่อรักษาเกียรติภูมิของประเทศ รวมถึงการทบทวนบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการอ้างสิทธิในหลายพื้นที่ทับซ้อน เมื่อ พ.ศ.2544 เพื่อป้องกันการเสียผลประโยชน์ของชาติ

ส่วนที่โฆษกรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถยกเลิกได้ นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีสิทธิตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญาระหว่างประเทศปี ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512 ) ในมาตรา 54-56 ได้ให้สิทธิการยกเลิกฝ่ายเดียวในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในกรณีที่ประเทศคู่เจรจามีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ในขณะที่กระบวนการเจรจายังไม่ยุติ

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณาปัญหาที่ตามมานอกเหนือจากเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลคือ กรณีปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะการยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินการเมื่อปี 2546

จวกต้นตอปัญหา "ทักษิณ" ขาดจิตสำนึก

ส่วนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ แถลงการณ์กล่าวโทษรัฐบาลไทยว่า เป็นการดำเนินการที่ขาดสติยั้งคิด และใช้การเมืองภายในกดดันประเทศเพื่อนบ้าน นพ.บุรณัชย์ ระบุว่า รัฐบาลทำด้วยความอดกลั้นและดำเนินการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ปัญหาไม่ได้เกิดจากการขาดสติยั้งคิดของรัฐบาล แต่เกิดจากการขาดจิตสำนึกของ พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า

"สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณควรจะออกแถลงการณ์ และคนไทยอยากจะรับทราบมากกว่านั้นคือ กรณีผลประโยชน์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีต่อประเทศกัมพูชา พ.ต.ท.ทักษิณเคยใช้ข้อมูล หรือสถานะที่ตนเองเคยเป็นนายกฯ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อการเจรจาเพื่อขอรับสัมปทานในอดีต ไม่ว่าจะเป็นที่เกาะกงหรือชักชวนคนมาลงทุนในก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ซัด"วิทยา"กล้าแสดงจุดยืนอย่ายืมมือส.ว.

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า กรณีที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้แสดงความจำนงที่จะยืมมือ ส.ว. 1 ใน 3 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 โดยอ้างว่าการดำเนินการของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 และมาตรา 190 คิดว่าหากประธานวิปฝ่ายค้านเห็นต่างก็ควรกล้าแสดงจุดยืนของตัวเอง แทนที่จะยืมมือ ส.ว.มาบังหน้า

กรณีกลุ่มคนเสื้อแดงออกแถลงการณ์สนับสนุนที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษา นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า คิดว่าคนไทยทั้งชาติก็ได้เห็นตั้งแต่เดือนเมษายน และเหตุการณ์ที่พัทยาจนถึงวันนี้ ว่าคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยทำทุกวิถีทางที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายด้วยยุทธศาสตร์ชักศึกนอกก่อศึกในที่ขับเคลื่อนคู่ขนานกันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับ พล.อ.ชวลิต และพรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดง

"เทพไท"เย้ยเปลี่ยนชื่อพรรค"เพื่อเขมร"

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวหารัฐบาลทำให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเสื่อมทรามลงว่า อยากถามว่าใครกันแน่ที่ทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรามลง และที่บอกว่านายอภิสิทธิ์นำปัญหาภายในประเทศไปกดดันประเทศเพื่อนบ้าน ใครกันแน่เอาการเมืองนอกประเทศมากดดันในประเทศ

นายเทพไทกล่าวถึงแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย 12 ข้อว่า เป็นข้อความบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะเป็นการปกป้องและแก้ต่างให้แก่กัมพูชา ดังนั้น พรรคเพื่อไทยยังใช้ชื่อพรรคเพื่อไทยอยู่ได้อย่างไร ถ้าดูพฤติกรรมในตอนนี้แล้วจะต้องเป็น "พรรคเพื่อเขมร" จะสอดคล้องกว่า

จวกแม้ว-นพดล จะเปลี่ยนสัญชาติเดี๋ยวจัดให้

วันเดียวกัน นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ พร้อมเจ้าหน้าที่หอการค้าจังหวัดชายแดน 7 จังหวัด ได้ลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อติดตามสถานการณ์ชายแดนที่ตลาดโรงเกลือ และด่านผ่านแดนคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
นายอลงกรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า มาดูสถานการณ์การค้าชายแดน ในเบื้องต้นยังปกติ แม้จะมีความกังวลอยู่บ้าง ส่วนแนวโน้มจะปิดด่านหรือไม่ คงไม่มี ในส่วนกระทรวงพาณิชย์เองขณะนี้เป็นขั้นตอนของการดูแลสถานการณ์การค้า และผู้ประกอบการตามแนวชายแดน

"ผมอยากจะเตือนนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ออกมาปกป้องกัมพูชาว่า อย่าเห็นชาติอื่นดีกว่าชาติไทย หากอยากเปลี่ยนสัญชาติก็จะจัดการให้ รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณด้วย" นายอลงกรณ์ ระบุ

"นพดล"ค้านฉีกเอ็มโอยูเตรียมแถลง 8 พ.ย.

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวตอบโต้นายอลงกรณ์ที่เรียกร้องให้ตนและพ.ต.ท.ทักษิณ เปลี่ยนสัญชาติเป็นกัมพูชาว่า ตนคงไม่เปลี่ยนสัญชาติ เพราะถือสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย เป็นคนไทย และรักชาติไทย

"นายอลงกรณ์อย่าทะลึ่งเสนอให้เปลี่ยนสัญชาติ เป็นความเห็นที่น่าสมเพช ถ้าจะไปเปลี่ยนก็ไปเปลี่ยนก่อน ผมทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้ไทยเสียดินแดน ไม่เคยทำมาหากินในกระทรวง ที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่เคยปกป้องกัมพูชา มีแต่ป้องกันไม่ให้เอาพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก อยากถามนายอลงกรณ์ตั้งแต่เป็นนักการเมืองเคยปกป้องดินแดนไทยเหมือนผมหรือไม่" นายนพดล กล่าว
ส่วนกรณีรัฐบาลไทยเตรียมทบทวนบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล นายนพดลกล่าวว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อเปิดแถลงข่าวทุกประเด็นในวันที่ 8 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น. รวมถึงเรื่องที่มีคนเรียกร้องให้เปลี่ยนสัญชาติด้วย

เขมรค้าขายปกติ-ผีพนัน+นักเที่ยวไทยผวา

ส่วนบรรยากาศบริเวณด่านพรมแดนอรัญประเทศยังคงมีชาวกัมพูชาเข้ามาค้าขายในตลาดโรงเกลือเป็นปกติ อีกทั้งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ทำให้ยิ่งเดินทางเข้ามามากขึ้น แต่นักพนันจากฝั่งไทยที่เคยแห่เดินทางไปเสี่ยงโชคในบ่อนกาสิโนฝั่งปอยเปตช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ วันละกว่า 5,000 คน กลับเหลือไม่ถึง 1,000 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางไปนครวัด-นครธม ต่างยกเลิกโปรแกรมกันหมด

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าชาวเขมรยังคงตื่นตระหนกกับคำให้สัมภาษณ์ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ที่ขู่ว่าอาจพิจารณาสั่งปิดพรมแดน จึงงดการปล่อยเครดิตให้พ่อค้าไทย โดยจะรับแต่เงินสดเท่านั้น

เลขาฯ อาเซียนวอนสองชาติอดทนถึงที่สุด

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ออกแถลงการณ์จากสำนักงานในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แสดงความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

เลขาธิการอาเซียน ระบุว่า ไทยและกัมพูชาไม่ควรสร้างความขัดแย้งก่อนการเดินทางเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผู้นำในภูมิภาคอื่นที่จะมาร่วมการประชุมสุดยอดเอเชีย-แปซิฟิก (เอเอฟ) ที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนนี้ และขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ "ความอดทนอดกลั้นกันให้มากที่สุด" ทั้งยังขอให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนทั้ง 10 ชาติ ช่วยให้กัมพูชาและไทยแก้ไขความขัดแย้งระดับทวิภาคีระหว่างทั้งสองชาติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และลงเอยด้วยความเป็นมิตร

"กรณ์" เผยโลกไม่วิตกรอยร้าวไทย-เขมร

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากประเทศสกอตแลนด์ ขณะเข้าประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ จี 20 ว่า ชาวโลกยังไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์ไทย-กัมพูชา เพราะถือเป็นเรื่องภายใน ซึ่งแม้แต่ประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ก็มีความขัดแย้งเป็นครั้งคราว ดังนั้นจึงไม่กระทบต่อการเป็นประธานอาเซียนของไทย

ส่วนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ รมว.คลัง ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ และไทยยังคงรักษาระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไว้ได้ตามปกติ ที่ผ่านมาไทยมีโครงการให้ความช่วยเหลือทางการค้าและการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความยากจน ซึ่งกัมพูชาเข้าข่ายนี้ด้วย โดยไทยจะพิจารณาความเหมาะสมจากข้อเสนอของกัมพูชาอีกครั้งว่าสมควรให้มีการเบิกจ่ายหรือไม่

"บวรศักดิ์"แขวะยึดประโยชน์ส่วนตนไม่ควรเป็นผู้นำ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงกรณีปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ในขณะนี้ว่า ขอฝากข้อคิดว่าคนที่เป็นผู้นำประเทศจะต้องมีธรรมะข้อหนึ่ง คือ บริจาคะ หมายถึงการเสียประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ใครก็ตามที่เอาประโยชน์ส่วนรวมมาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวก็ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ

เมื่อถามว่า มาตรการตอบโต้ของรัฐบาลด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชากลับ เร็วเกินไปหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "รัฐบาลทำถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรที่รุนแรงเกินไป ผมสนับสนุนการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ แต่ขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องระวังให้ดีว่าความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา อาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นการล่มสลายของอาเซียน"

40 ส.ว.ชี้ปมไทย-เขมร อภิปรายไม่ได้

นายไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ ส.ว. 1 ใน 3 เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เกี่ยวปัญหาไทย-กัมพูชา ว่า ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติคงไม่เปิดโอกาสให้ทำได้ เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะอนุมัติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 127 บัญญัติ อย่างไรก็ดี หากอยากหารือปัญหาดังกล่าว สามารถพูดได้ในโอกาสการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 4 วันในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีวาระการพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)

สำหรับการที่รัฐบาลมีแนวคิดยกเลิกเอ็มโอยูในหลายกรณีกับกัมพูชา นายไพบูลย์ระบุว่า เรื่องดังกล่าวทำให้ฝ่ายกัมพูชามีปฏิกิริยา โดยเฉพาะเอ็มโอยูทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทำให้สมเด็จฮุน เซน ออกอาการบาดเจ็บ เพราะเอ็มโอยูฉบับนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เอื้อประโยชน์ให้สมเด็จฮุน เซน และพ.ต.ท.ทักษิณ มากที่สุด ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลไทยจะยกเลิกก็เหมือนกับไปทุบหม้อข้าวของทั้งสองคน

"เรืองไกร" ติงก่อนเลิกเอ็มโอยู ควรนำเข้าสภา

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะยกเลิกเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ตนเห็นว่ารัฐบาลควรนำเรื่องนี้เข้าสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และควรศึกษาด้วยว่าหากยกเลิกไปแล้วจะส่งผลต่อความสัมพันธ์และกระบวนการที่ตามมาหลังจากมีเอ็มโอยูแล้วอย่างไร เนื่องจากเมื่อครั้งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย จึงผูกพันรัฐไทย การยกเลิกมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันที่มีต่อรัฐ ควรนำเข้าสู่ที่ประชุมสภา

"ชวนนท์"ไม่สนเขมรยันเลิกเอ็มโอยูไม่ได้

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะโฆษกฝ่ายการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการยกเลิกเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลว่า เป็นเรื่องภายในของไทย ซึ่งกำลังจะนำเข้า ครม. ส่วนนายวาคิม ฮอง ผู้แทนการเจรจาเขตแดนฝ่ายกัมพูชาจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เพราะไม่ผูกพันกับเราแล้ว

ส่วนกรณีที่นายเรืองไกรระบุว่าการยกเลิกเอ็มโอยูควรนำเข้ารัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่า เท่าที่ตนตรวจสอบเบื้องต้นไปยังกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ทราบว่าการยกเลิกดังกล่าวไม่น่าเข้าข่ายมาตรา 190 อย่างไรก็ตาม ครม.จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

"ชินวรณ์" ให้ตั้งกระทู้ถามสดแทนอภิปราย

นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่ประธานวิปฝ่ายค้านเรียกร้องให้ ส.ว. 1 ใน 3 เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เกี่ยวกับข้อพิพาทไทย-กัมพูชาว่า ตนแปลกใจว่าทำไมฝ่ายค้านถึงเสนอเช่นนี้ เพราะเท่าที่ทราบ ส.ว.ส่วนใหญ่ ก็เห็นด้วยกับการปฏิบัติการทางการทูตของรัฐบาล ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่ารัฐบาลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่หากฝ่ายค้านจะขอหารือหรือตั้งกระทู้สดคิดว่าน่าจะดีกว่า

ญี่ปุ่นหนุนเทคโนโลยีสีเขียวในไทย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เผยผลการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ว่า มีการหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนในอนุภูมิภาค ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคติดต่อ และโรคระบาดใหม่ โดยญี่ปุ่นจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ไทย โดยเฉพาะการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และพร้อมสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และญี่ปุ่นยังจะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนสาขาใหม่ในไทย

ญี่ปุ่นห่วงสัมพันธ์ไทย-เขมรร้าว

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงว่า นายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโตยามะ กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีความวิตกเกี่ยวความขัดแย้งระลอกล่าสุดระหว่างไทยและกัมพูชา จากการที่รัฐบาลพนมเปญเสนองานที่ปรึกษาให้แก่อดีตนายกฯ ของไทย

นายฮาโตยามะ กล่าวเรื่องนี้ระหว่างเดินทางไปหารือกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการประชุมระดับทวิภาคี โดยกล่าวว่า ตนมีความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ และหวังว่าปัญหาระหว่างทั้งสองประเทศจะดีขึ้น

ด้านสมเด็จฮุน เซน กล่าวว่า สถานการณ์บริเวณพรมแดนนั้นยังคงที่ แม้จะมีการตอบโต้กันทางคำพูดระหว่างทั้งสองประเทศในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็ตาม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ได้ประชุมกับนายอภิสิทธิ์ด้วยยังกล่าวอีกว่า ผู้นำไทยย้ำจุดยืนว่าไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook