กองถ่ายยุคโควิด-19 สิ่งที่หนักกว่าโรคระบาด คือระบบราชการที่ไม่เข้าใจคนทำงาน
Highlight
- สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่องานกองถ่ายในประเทศไทย โดยงานถ่ายทำโฆษณา มิวสิกวิดีโอ หรือสารคดี ลดลงเกือบ 80 – 90% ขณะที่งานภาพยนตร์เรื่องยาวลดลงประมาณ 50%
- มาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล โดยเฉพาะการ “ห้ามออกกองเกิน 5 คน” นั้นไม่สมเหตุสมผล และสะท้อนถึงการขาดความเข้าใจการทำงานโปรดักชั่น
- การช่วยเหลือเยียวยา “คนโปรดักชั่น” ที่ดีที่สุด คือการอนุญาตให้ทำงานภายใต้มาตรการหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
สถานการณ์โรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานถึง 2 ปี ส่งผลกระทบต่อวงการโปรดักชั่นทั่วโลก ทว่าขณะที่หลายประเทศกำลังฟื้นตัวและกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันตามปกติ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมทั้งการถ่ายทำละคร สารคดี ไปจนถึงโฆษณาในประเทศไทย กลับยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งมาตรการควบคุมโรคของรัฐ ที่ดูเหมือนจะควบคุมการทำงานของกลุ่มคนทำงานโปรดักชั่นไปพร้อมกันด้วย
เมื่อโรคระบาดกระทบกองถ่าย
“ผลกระทบภาพใหญ่ หนึ่งเลยคืองานน้อยลงอย่างชัดเจน เพราะว่าลูกค้ารู้สึกว่าออนแอร์ช่วงนี้ไป คนดูก็ไม่มีอารมณ์ที่จะดู หรือไม่มีกำลังที่จะซื้อ แล้วก็ราคาที่จากเดิมก็ไม่ได้มากมาย มันก็ถูกลดสเกลลงมา จากเดิมที่มันน้อยอยู่แล้ว มันก็น้อยลงไปอีก” นิจษา สุวรรณพฤษชาติ โปรดิวเซอร์ บริษัทเพื่อนโปรดักชั่น และตัวแทนจากสมาคมคนโปรดักชั่น เล่าภาพรวมสถานการณ์ของกองถ่ายไทยในภาวะโรคระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในมุมของโปรดักชั่นโฆษณา ซึ่งโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผนการตลาดของธุรกิจต่างๆ และลุกลามมาถึงการถ่ายทำโฆษณาของสินค้านั้นๆ ที่ต้องมีการปรับแผน เลื่อนกำหนดการถ่ายทำ รอให้สถานการณ์คลี่คลาย จนสุดท้ายต้องยกเลิกการถ่ายทำไปในที่สุด
“สมมติว่าเขามีโปรโมชั่นที่ต้องถ่ายทำเดือนเมษายน เปิดตัวเดือนมิถุนายน แต่พอมันเลื่อนไปเรื่อยๆ โปรโมชั่นที่เขาอยากจะปล่อยเดือนมิถุนายนมันก็ไม่ได้แล้ว โปรโมชั่นมันก็อาจจะไม่ได้ผล เขาก็ต้องยกเลิก” ภัทราวุธ มาตยานุมัตย์ โปรดิวเซอร์จากเพื่อนโปรดักชั่นกล่าวเสริม
ไม่ใช่แค่งานโปรดักชั่นไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ สถานะของประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของกองถ่ายภาพยนตร์ทั่วโลก ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งธิดารัตน์ พรรคชนกร โปรดิวเซอร์จาก A Grand Elephant Production บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และโฆษณา ที่ต้องประสานงานกับกองถ่ายจากต่างประเทศ อธิบายว่า ในสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางเข้ามายังประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่สถานการณ์โรคระบาดยังวิกฤต จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลามากขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้กองถ่ายจากต่างประเทศต้องเลื่อนการถ่ายทำในประเทศไทยออกไป ส่งผลให้งานถ่ายทำโฆษณา มิวสิกวิดีโอ หรือสารคดี หายไปเกือบ 80 – 90% ขณะที่งานภาพยนตร์เรื่องยาวจะหายไปประมาณ 50%
“เมื่อทุกคนเข้ามา ก็จะต้องกักตัว 14 วัน แล้วก็จะมีเอกสารเพิ่มมากขึ้นมากมาย เช่น Certificate of Entry หรือว่าใบรับรองแพทย์ ที่เราเรียกกันว่า Fit to Fly หรือใบรับรองแพทย์ที่ต้องเป็นผลตรวจ RT-PCR ที่ผลต้องไม่เกิน 72 ชม. ก่อนที่จะเข้ามาในประเทศไทย แล้วก็จะมีการทำประกัน ซึ่งต้องมีวงเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐ ก็คือประมาณ 3 ล้านบาท ทีมงานที่จะเข้ามาถ่ายทำโฆษณา หรือมิวสิกวิดีโอ ที่เขาไม่มีงบประมาณทำแบบนี้ได้ เขาก็ไม่เดินทางมา ส่วนภาพยนตร์จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะมีเวลาถ่ายทำนาน ตอนที่กักตัวอยู่ในโรงแรม 14 วัน เขาก็ยังสามารถทำงานกับคนไทย ผ่านทาง Zoom หรือ Skype ได้อยู่ พอเขาออกมาก็ทำงานต่อได้เลย” ธิดารัตน์ระบุ
ปริมาณงานที่หายไปเกือบทั้งหมด ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้ของคนทำงานในกองถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่มีเงินเดือนประจำและไม่ได้มีสวัสดิการจากรัฐรองรับ ซึ่งธิดารัตน์เล่าว่า จากที่เมื่อก่อน กลุ่มคนเหล่านี้มีงานถ่ายทำหลายวันต่อสัปดาห์ ทุกวันนี้บางคนไม่มีงานทำตลอดทั้งเดือน บางคนเอาของมาขายเพื่อจุนเจือครอบครัว ขณะที่นิจษาเล่าว่า โปรดักชั่นเฮ้าส์เองก็มีต้นทุนคงที่ที่ต้องจ่ายทุกเดือน ทว่าไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลใจไม่น้อย
กองถ่ายทำงานอย่างไรในยุคโควิด-19
ด้วยอันตรายของโรคโควิด-19 และมาตรการควบคุมโรคของรัฐ ส่งผลให้การทำงานของทีมโปรดักชั่น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ออกกอง” ต้องเปลี่ยนแปลงในหลายจุด เช่น การลดจำนวนทีมงานเพื่อลดความแออัด ซึ่งทำให้ครีเอทีฟและผู้กำกับต้องพยายามสร้างสรรค์งานให้เหมาะสมกับจำนวนคนที่ลดลง จากที่เคยออกกองพร้อมทีมงานราว 70 – 150 คน นิจษาเล่าว่า สำหรับงานโฆษณา สามารถบีบจำนวนคนให้เหลือน้อยที่สุด อยู่ที่ 50 – 60 คน
ด้านธิดารัตน์ก็ยกตัวอย่างการทำงานกับกองถ่ายโฆษณาต่างประเทศว่า แม้ทีมงานจะไม่ได้เดินทางมายังประเทศไทย แต่ก็มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างสตรีมมิงในการถ่ายทำ
“เขาจะใช้วิธีสตรีมมิง คือทีมงานจะไม่เดินทางมา เพราะเขาไม่มีงบประมาณเพื่อมากักตัว 14 วัน เขาก็จะส่ง storyboard มาให้เราหาโลเคชั่นแบบนี้ ตัวแสดงแบบนี้ แล้ววันถ่ายเราก็จะสตรีมมิง ส่งภาพขึ้นไปให้ผู้กำกับดู แล้วผู้กำกับก็จะกำกับจากต่างประเทศ ผ่านหน้าจอคอม” ธิดารัตน์เล่า
สำหรับมาตรการในการป้องกันโรคที่กองถ่ายไทยใช้ นิจษากล่าวว่า แต่ละกองถ่ายจะมีมาตรการตรวจโรคที่เข้มงวด โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีตรวจแบบ RT-PCR ที่ให้ผลแม่นยำ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทำงานว่าภายในกองถ่ายจะไม่มีการแพร่เชื้อ รวมทั้งมีกฎให้ทีมงานกินอาหารแยกกัน รักษาระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากาก 2 ชั้น และแยกเสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องสำอาง พร้อมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์เหล่านี้ทุกครั้ง
ส่วนธิดารัตน์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในการทำงานร่วมกับกองถ่ายจากต่างประเทศ ทีมงานของเธอยึดหลักการทำงานอย่างเคร่งครัดตามคู่มือและเกณฑ์การปฏิบัติในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยในรูปแบบวิถีใหม่ ซึ่งจัดทำโดยกรมการท่องเที่ยว คู่มือดังกล่าวจะระบุแนวปฏิบัติตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ จนถึงเมื่อทีมงานเดินทางเข้ามายังประเทศแล้ว รวมทั้งขั้นตอนการบริหารจัดการสถานที่ถ่ายทำต้องทำแบบไหน การป้องกันโรคในระหว่างการถ่ายทำ และมาตรการความสะอาดต่างๆ
ด้านทรงพร มุสิกดิลก กรรมการบริษัทอินโดไชน่า โปรดักส์ชั่น (สยาม) ก็ได้อธิบายถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในกองถ่ายของบริษัทซึ่งทำงานกับทีมโปรดักชั่นต่างประเทศว่า นอกจากจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกสัปดาห์ และทำประกันโควิด-19 ให้กับเจ้าหน้าที่ในกองถ่ายทุกคนแล้ว ทางบริษัทได้จัดตั้งทีมงานที่ประสานงานเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งหมายถึงงบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 30 – 40 ล้านบาท ต่อภาพยนตร์ 1 เรื่อง นอกจากนี้ ภายในกองถ่ายยังมีการแบ่งพื้นที่เป็นสีต่างๆ เพื่อรักษาระยะห่างภายในกองถ่ายด้วย
“เราจะเว้นระยะห่างแบบนี้ หน้ากล้องจะเป็นโซนสีแดง มีผู้กำกับอะไรก็ว่าไป คนที่จะเข้าไปอยู่ในโซนสีแดงต้องตรวจโควิด-19 ทุก 3 วัน โซนรองลงมาเป็นโซนสีเหลือง พวกแผนกบล็อก แผนกเซ็ต อะไรต่างๆ ที่ห่างจากผู้กำกับ ต้องตรวจทุก 5 วัน ส่วนโซนสีเขียว คือพวกที่อยู่รอบนอก อันนี้ตรวจทุก 1 สัปดาห์ แล้วก็จะมีรถสแตนด์บายของโรงพยาบาล มีพยาบาล มีหมอที่ไปทุกๆ จังหวัด ถ้าเกิดอะไรขึ้น เขาจะเอาคนที่ติดเชื้อไปรักษาเดี๋ยวนั้นเลย เพราะเรามีประกัน อันนี้เป็นกฎของฮอลลีวู้ดเลย” ทรงพรเล่า
“มาตรการรัฐ” ช่วยป้องกันโรคหรือฆ่าคนทำงาน?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา มาตรการป้องกันโรคที่รัฐออกมาหลายอย่างมีลักษณะที่ลักลั่นและย้อนแย้ง ชวนให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนืองๆ หนึ่งในนั้นคือมาตรการ “ห้ามออกกองเกิน 5 คน” ที่ในสายตาของคนทำงานโปรดักชั่น ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งนิจษาเล่าว่า จากมาตรการนี้ ลูกค้าของเธอสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการผลงาน ให้ทีมงานไปหาวิธีทำงานมา กับกลุ่มที่ตัดสินใจเลื่อนการถ่ายทำออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
“ถ้าบอกว่า 5 คน บอกว่าไม่ต้องออกกองเลยดีกว่า แค่ลูกค้ากับเอเจนซี่มารวมกันในกองถ่ายก็ 10 คนแล้ว ต่อให้ลูกค้ากับเอเจนซี่ไม่มา ตัวแสดงหนึ่ง ตากล้องหนึ่ง คนจัดไฟหนึ่ง แล้วมันจะทำงานกันอย่างไร เหมือนเขาตั้งกฎมาให้เราเอาตัวรอดเอง เหมือนเขาไม่อยากจะเยียวยา ที่เขาพยายามจะตั้งกฎอะไรมา ไม่ได้ห้ามซะทีเดียว แต่ก็ทำแบบนี้ไม่ได้” นิจษากล่าว
นอกจากนี้ การจำกัดจำนวนทีมงานให้เหลือเพียง 5 คน บวกกับมาตรการเคอร์ฟิว ก็ยิ่งทำให้การทำงานของกองถ่ายยิ่งยุ่งยากมากขึ้น
“พอลดสเกลลงมาแล้ว เราก็ติดเคอร์ฟิวอีก เราก็ทำงานกันไม่ทัน เพราะว่าแค่ทีมไฟ ทีมกล้อง รวมกัน 15 คนแล้วค่ะ เพราะว่าของมันชิ้นใหญ่ มันต้องการคนดูแลหลายคน ทีมอาร์ตที่ต้องมาเซ็ต สมมติว่าเขาเคยทำงาน 10 คน ต้องมาเหลือ 7 คน หลายๆ อย่างก็ไม่ได้ราบรื่น งานเท่าเดิมแต่คนน้อยลง” นิจษากล่าว
อย่างไรก็ตาม ธิดารัตน์ให้ความเห็นว่า ที่จริงแล้ว มาตรการของรัฐระบุว่า “ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมเกิน 5 คน ยกเว้นประกอบอาชีพ” แต่เธอก็ไม่เข้าใจว่า เหตุใดกองถ่ายจึงถูกจัดว่าเป็นการทำกิจกรรมเกิน 5 คน แทนที่จะเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ มาตรการที่ไม่ชัดเจนและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานกองถ่ายเช่นนี้ ส่งผลให้การประสานงานเข้าถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุญาตให้เข้าพื้นที่จะตัดสินใจอนุญาตจากจำนวนคนที่อยู่ในกองถ่ายเท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณารายละเอียดและข้อจำกัดของการทำงาน
การยึดหลักเกณฑ์แบบตามตัวอักษรของหน่วยงานท้องถิ่นเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการทำงานของกองถ่ายเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ที่จะเข้าสู่ท้องถิ่นเองด้วย ซึ่งทรงพรเล่าว่า ที่ผ่านมา การที่กองถ่ายภาพยนตร์เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ หมายถึงรายได้มหาศาลที่จะเข้าสู่ท้องถิ่นพร้อมกับทีมงาน ผ่านการจ้างงานคนในพื้นที่ การเช่าสถานที่เพื่อถ่ายทำ โรงแรม ร้านค้า และอาหารการกิน
แม้ว่าขณะนี้จะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการของกองถ่ายให้สามารถออกกองได้ไม่เกิน 50 คน แต่การทำงานของกองถ่ายก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคจากแนวทางที่ชวนสับสนของหน่วยงานราชการหลายฝ่าย รวมทั้งงานเอกสารที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การประสานงานต่างๆ กินเวลานานถึง 3 สัปดาห์ กว่าจะได้เริ่มถ่ายทำ ทว่าก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องการตีความมาตรการอยู่เช่นเดิม
“ตอนนี้ก็เป็นที่เข้าใจตรงกันแล้วว่าโปรดักชั่นเฮ้าส์อยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม เพราะว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะออกมาตรการส่งไปให้เขตต่างๆ แล้วให้แต่ละเขตยึดตามมาตรการอันนี้ เพื่อบอกโปรดักชั่นเฮ้าส์ว่าอันนี้ผ่านหรือไม่ผ่าน พูดตรงๆ ก็คือเราทำได้แหละ แต่แค่ว่ามันเสียเวลา แล้วคุณดูเอกสารนั้นจริงๆ หรือเปล่า เพราะตอนเราส่งไป เราคิดว่าเราผ่านแน่ๆ แต่สุดท้ายตีกลับมาว่ายึดตามตัวเลข แล้วจะให้เราส่งไปทำไม ถ้าคุณไม่ได้เข้าใจจริงๆ บางทีบางเขตยังไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่ากองออกได้ 50 คนแล้วนะ ยังไม่มีการอัปเดตกันเองเลย มันเป็นปัญหามากที่คนที่อนุญาตให้เราถ่ายกลับไม่รู้เรื่องอะไรเลย” นิจษากล่าว
เงินเยียวยาไม่ใช่คำตอบ
เมื่อถามถึงการช่วยเหลือเยียวยาที่จำเป็นที่สุดสำหรับคนโปรดักชั่น คำตอบที่ได้กลับไม่ใช่เงินเยียวยา แต่เป็นการปฏิบัติต่อประชาชนกลุ่มนี้อย่างผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ โดยการออกมาตรการที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งกองถ่ายส่วนใหญ่ยินดีที่จะปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัยอยู่แล้ว
“เรารู้อยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในบ้านเรามันเป็นอุตสาหกรรมเล็ก ผลกระทบที่พวกเราได้อาจจะน้อยกว่าอุตสาหกรรมภาคอื่น สิ่งที่จะช่วยเราได้คือ รัฐบาลต้องออกข้อปฏิบัติหรือมาตรการที่มันเป็นไปได้ ที่ทำให้พวกเราสามารถทำงานได้ โดยอยู่ใต้ข้อกำหนดของ ศบค. หรือกระทรวงสาธารณสุข อย่าออกอะไรที่มันก้ำกึ่งหรือบังคับให้เราทำอะไรไม่ได้ ขยับไปไหนไม่ได้อย่างนี้ มันไม่ช่วยเราเลย” ธิดารัตน์ระบุ
ด้านทรงพรก็กล่าวว่า สิ่งที่คนโปรดักชั่นต้องการคือการอำนวยความสะดวกในการเข้าใช้พื้นที่ถ่ายทำ เพราะที่ผ่านมา กองถ่ายต่างมีมาตรการป้องกันโรคที่รัดกุมและเคร่งครัดมาตลอด ส่วนนิจษาเสนอว่าควรมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่เข้าใจการทำงานโปรดักชั่น และเป็นตัวแทนคนโปรดักชั่นไปเจรจาต่อรองกับภาครัฐ เกี่ยวกับแนวทางการทำงานของกองถ่าย หรืออาจจะเป็นหน่วยงานที่สามารถดูแลและมีอำนาจในการอนุญาตให้มีการถ่ายทำ โดยที่ไม่ดูแค่จำนวนทีมงานในกองถ่าย ขณะที่ภัทราวุธระบุว่า ทุกฝ่ายต้องปรับตัวและเปิดใจรับฟังกันและกัน
“โปรดักชั่นเฮ้าส์อาจจะต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด อาจจะต้องปรับตัว ส่วนลูกค้า เจ้าของสินค้าเองอาจจะต้องเข้าใจว่า ณ สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ สเกลของหนังมันได้เท่าไหน ส่วนทางรัฐ ต้องเปิดใจและให้เราเข้าไปอธิบายเรื่องจดหมายของเรามากขึ้น อาจจะต้องเข้าใจและรับฟังสิ่งที่เราจะพูดให้มากขึ้น” ภัทราวุธสรุป