ศาลสั่งปลดบิดาของ "บริทนีย์ สเปียร์ส" จากการเป็นผู้พิทักษ์ชีวิต-ทรัพย์สินนาน 13 ปี มีผลทันที

ศาลสั่งปลดบิดาของ "บริทนีย์ สเปียร์ส" จากการเป็นผู้พิทักษ์ชีวิต-ทรัพย์สินนาน 13 ปี มีผลทันที

ศาลสั่งปลดบิดาของ "บริทนีย์ สเปียร์ส" จากการเป็นผู้พิทักษ์ชีวิต-ทรัพย์สินนาน 13 ปี มีผลทันที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้พิพากษาตัดสินปลด "เจมี สเปียร์ส" จากการเป็นผู้พิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของบุตรสาว "บริทนีย์ สเปียร์ส" ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญ หลังการต่อสู้เพื่ออิสระภาพอันยาวนาน 13 ปี ของเจ้าหญิงแห่งวงการเพลงป๊อป

ผู้พิพากษาศาลลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ มีคำสั่งระงับบทบาทของ เจมี สเปียร์ส บิดาของ บริทนีย์ สเปียร์ส จากการเป็นผู้พิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของบุตรสาว มีผลทันที และยังได้ปฏิเสธการยื่นขออุทธรณ์จาก วิเวียน ธอรีน ทนายความของ เจมี สเปียร์ส

ความเคลื่อนไหวนี้จะนำไปสู่การยกเลิกการบังคับใช้กระบวนการพิทักษ์ดูแล หรือ Conservatorship ต่อตัวบริทนีย์ในอนาคต คาดจะเป็นวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ขณะที่ แมทธิว โรเซนการ์ท ทนายความของบริทนีย์ยืนยันว่า เขาต้องการให้กระบวนการพิทักษ์ดูแลยุติอย่างถาวรภายใน 30-45 วัน

ผู้พิพากษา เบรนดา เพนนี ระบุในศาลว่าสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเป็นสถานการณ์ที่เป็นพิษอย่างมาก เธอเชื่อว่าการตัดสินระงับบทบาทผู้พิทักษ์ของเจมี สเปียร์ส จะเป็นผลดีมากที่สุด พร้อมตัดสินให้จอห์น ซาเบล ผู้เชี่ยวชาญทางบัญชีและ CEO ของ Media Finance Structures บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลทรัพย์สินให้กับบุคลากรหรือบริษัทในอุตสาหกรรมบังเทิง ผู้ที่ถูกเลือกโดยการตัดสินใจของทนายความโรเซนการ์ท เป็นผู้พิทักษ์ด้านทรัพย์สินชั่วคราวให้กับบริทนีย์

ขณะที่ โจดี มองโกเมอร์รี ผู้ดูแลผลประโยชน์มืออาชีพ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลด้านสุขภาพ การดูแลจากแพทย์ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักร้องสาวต่อไปจนกว่ากระบวนการพิทักษ์ดูแลจะยุติอย่างถาวร ซึ่งเธอเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับการมอบอิสระเสรีภาพคืนให้กับบริทนีย์แบบ 100%

ในปี 2551 ศาลตัดสินให้เจมีมีสิทธิ์ในการตัดสินใจแทนและควบคุมบริหารการเงินของบริทนีย์หลังเธอเผชิญปัญหามรสุมชีวิตจนต้องเข้ารับการบำบัดทางจิต โดยปัจจุบันมีรายงานว่าบริทนีย์ครอบครองทรัพย์สินอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท

โดยตลอด 13 ปีที่ผ่านมา เจมีได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนในฐานะผู้พิทักษ์ เป็นเงิน 509,000 บาทต่อเดือน และได้รับเงินก้อนจากการแสดงคอนเสิร์ตของบุตรสาวแต่ละครั้งเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ ขณะที่ แซเมียล อิงแฮม ทนายความที่ถูกศาลมอบหมายให้ดูแลคดีของบริทนีย์ทำเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 90 ล้านบาท

การมอบสิทธิ์ผู้พิทักษ์ให้กับเจมีเป็นเพียงการมอบสิทธิ์ชั่วคราวเท่านั้นในเบื้องต้น แต่ผู้เป็นบิดากลับยื่นคำร้องต่อศาลในปี 2552 เพื่อขอเป็นผู้พิทักษ์ถาวร แม้ขณะนั้นบริทนีย์จะสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติแล้ว โดยเธอได้ออกอัลบั้ล BLACKOUT และ CIRCUS และยังสามารถทัวร์คอนเสิร์ต 9 เดือนเต็มในปี 2552 ทำเงินไปทัั้งสิ้น 4,475 ล้านบาทก็ตาม

Conservatorship หากแปลตรงตัวคือการปกป้องหรือการพิทักษ์ดูแล เป็นเครื่องมือทางกฎหมายอย่างหนึ่งในสหรัฐฯ บางมลรัฐจะเรียกมันว่า Guardian มีหน้าที่หลักคือการปกป้องบุคคลที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดสินใจในชีวิต หรือการจัดการทรัพย์สิน

ส่วนใหญ่จะมีการนำเครื่องมือทางกฎหมายนี้มาใช้เพื่อการดูแลผู้สูงอายุหรือคนทั่วไปที่ป่วยเป็นโรคทางกาย ทางสมอง หรือทางจิต เช่น โรคความจำเสื่อม เป็นต้น และมักจะไม่มีการใช้กับบุคคลที่มีอายุ 26 ปี ดังเช่นบริทนีย์ในขณะนั้น และหากมีก็จะไม่กินเวลายาวนานนับ 10 ปี ทั้งๆ ที่นักร้องสาวสามารถทำงานหาเงินได้มาโดยตลอดนับพันล้านบาท

ลูกหลาน คนในครอบครัว คนใกล้ชิดของ "บุคคลที่ดูแลตัวเองไม่ได้" หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินเรื่องกับศาลในสหรัฐฯ เพื่อขอเป็นผู้ดูแล ควบคุมทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้ เพราะบุคคลนั้นไม่สามารถดูแลตัวเองหรือตัดสินใจเองได้แล้ว แม้จะฟังดูดีแต่มันถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีปัญหาอยู่มาก และมีผู้ถูกพิทักษ์ในสหรัฐฯ มากกว่า 1 ล้านคน

ในเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โลกได้ยินคำให้การจากปากของบริทนีย์เองครั้งแรกหลังการถูกปิดเงียบมายาวนาน โดยบริทนีย์ ได้เข้ารับฟังการพิจารณาคดีในศาลของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมให้การอย่างละเอียดต่อศาลเองครั้งแรกในรอบ 13 ปีผ่านทางวิดีโอ กับผู้พิพากษา เบรนดา เพนนี เธอย้ำว่า ชีวิตของเธอถูกปฏิบัติไม่ต่างจากการ "ถูกค้ามนุษย์ทางเพศ"

เธอให้การถูกบังคับกินยาระงับประสาทที่มีผลข้างเคียงทำให้สมองพิการได้ ถูกบังคับคุมกำเนิดโดยไม่สมัครใจ ถูกกีดกันจากการใช้ชีวิต และสารคดีดังจาก The New York Times ก็เปิดโปงกรณีที่บริทนีย์ไม่มีแม้แต่เงินที่จะซื้อซูชิรับประทาน หรือซื้อรองเท้าผ้าใบ ทุกอย่างที่เธอต้องการต้องได้รับการอนุญาตจากผู้พิทักษ์ก่อน แม้กระทั่งการจะนั่งรถกอล์ฟออกไปสูดอากาศหน้าสบ้านก็ตาม และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการที่เธอถูกพ่อและทีมรักษาความปลอดภัยดักฝั่งความเคลื่อนไหวจากทั้งในห้องนอนและสมาร์ตโฟน

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญอย่างมากต่อการเรียกร้องอิสรภาพของบริทนีย์ที่แฟนคลับทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวผ่าน #FreeBritney อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 และยังเป็นการเปิดโปงระบบอันน่าสงสัยต่อสาธารณะและสังคมอเมริกันอย่างมาก เพราะหลายคนมองว่าหากคนอย่าง 'บริทนีย์ สเปียร์ส' ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ยาวนาน 13 ปี ผู้คนอีกนับล้านที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกับเธอล่ะ กำลังเผชิญชะตากรรมอย่างไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook