คนกลางคืน ชี้ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ช่วยไม่ทั่วถึง กลุ่มหาเช้ากินค่ำยังตกงาน เม็ดเงินเอื้อเฉพาะนายทุน

คนกลางคืน ชี้ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ช่วยไม่ทั่วถึง กลุ่มหาเช้ากินค่ำยังตกงาน เม็ดเงินเอื้อเฉพาะนายทุน

คนกลางคืน ชี้ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ช่วยไม่ทั่วถึง กลุ่มหาเช้ากินค่ำยังตกงาน  เม็ดเงินเอื้อเฉพาะนายทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนกลางคืน ชี้ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ช่วยไม่ทั่วถึง  เม็ดเงินเอื้อเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่

2 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหัวค่ำวานนี้ (1 ต.ค.) ที่ จ.ภูเก็ต พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมทีมงานคณะก้าวหน้าภูเก็ต ได้พบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับบาร์ และผู้ทำงานในธุรกิจกลางคืนอื่นๆ ของจังหวัด เนื่องจากเป็นวันแรกในรอบ 7 เดือนที่รัฐบาลอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ทำให้ภูเก็ตเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง โดย พรรณิการ์ได้ร่วมพูดคุยกับทั้งเจ้าของร้านอาหาร ดีเจ ผู้จัดการร้าน และหัวหน้าพนักงานเสิร์ฟในย่านท่องเที่ยวกลางเมืองภูเก็ต ได้รับการสะท้อนว่า 3 เดือนนับตั้งแต่เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แม้รัฐบาลจะโฆษณาว่ามีรายได้เข้ามา 3,000-4,000 ล้านบาท แต่รายได้ดังกล่าวกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่เป็นหลัก นักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางมาถึงก็มักจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรม ซึ่งมีบริการครบวงจร ไม่ได้ออกมาใช้จ่ายนอกโรงแรมมากนัก ทำให้รายได้ไม่กระจายมายังคนหาเช้ากินค่ำอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจโรงแรม รวมถึงโรงแรมขนาดเล็กก็ยังไม่ได้มีลูกค้ามากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังมีจำนวนน้อยกว่าปกติมาก

ผู้จัดการผับรายหนึ่ง ระบุว่า ตอนที่มีการประกาศแซนด์บ็อกซ์ ตนดีใจมาก เพราะคิดว่าจะได้เปิดร้านเสียทีหลังจากรายได้เป็นศูนย์มานานหลายเดือน รัฐบาลให้ทำอะไรก็ทำตามมาตรการทั้งหมด พนักงานทุกคนไปฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่เมื่อให้ไปฉีดเข็มสาม ก็ไปฉีดมาแล้ว เพื่อรอรับนักท่องเที่ยว แต่สุดท้าย ผับ บาร์ ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิด ทั้งๆ ที่ผ่านมา ธุรกิจกลางคืนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ทำรายได้นับแสนล้าน และเป็นธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย บาร์ระดับโลก อันดับหนึ่งในเอเชีย ก็ตั้งอยู่ที่ภูเก็ต

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารยอมรับว่า วันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันแรกที่พอจะเห็นแสงสว่างในชีวิต เพราะเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ก่อนหน้านี้แม้จะเปิดแซนด์บ็อกซ์ แต่ร้านไม่สามารถเปิดได้ เนื่องจากเป็นร้านในย่านกลางคืน หากขายเหล้าไม่ได้ ก็ไม่มีลูกค้า ตนต้องแบกรับภาระค่าเช่าร้านเดือนละ 100,000 บาท และจ่ายเงินให้ลูกน้องพอประทังชีวิต นานถึง 7 เดือน และการที่ภูเก็ตไม่ใช่พื้นที่สีแดงเข้ม เปิดแซนด์บ็อกซ์ ทำให้พนักงานไม่ได้รับเงินเยียวยาจากประกันสังคม ทั้งที่ไม่มีรายได้เลย

พรรณิการ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แม้จะเป็นก้าวแรกที่จำเป็นต่อการเปิดประเทศและพยุงเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและคนหาเช้ากินค่ำยังไม่ทั่วถึงจริงๆ และมีมาตรการเข้าเมืองที่ยุ่งยาก ธุรกิจกลางคืนก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิด ทำให้นักท่องเที่ยวก็ยังไม่เข้ามาในภูเก็ตมากนัก

“วันนี้เดินไปตามถนนย่านท่องเที่ยว ป่าตองยังคงเป็นป่าช้าอยู่ นักท่องเที่ยวยังมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการเข้าเมืองที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เริ่มเปิดการท่องเที่ยวแล้วเช่นในยุโรป อีกส่วนก็เพราะจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวของภูเก็ตยังไม่กลับมา นั่นคือธุรกิจกลางคืน ตอนนี้อีก 1 เดือนจะเข้าไฮซีซั่นของภูเก็ตแล้ว คนที่นี่ถอดใจแล้วว่าจะเป็นไฮซีซั่นที่ 3 นับจากโควิดระบาด ที่ภูเก็ตไม่มีโอกาสรับนักท่องเที่ยวเหมือนในอดีต ตราบใดที่ผับบาร์ยังเปิดไม่ได้ ร้านอาหารยังปิด 22.00 น." พรรณิการ์ กล่าว

กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศ ที่มีการฉีดวัคซีนครบ และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ เช่น สหรัฐอเมริกา ผับ บาร์ รวมถึงร้านอาหารต่างๆ เปิดปกติแล้ว และรัฐบาลก็ให้เงินเยียวยาจำนวนเหมาะสมต่อผู้ประกอบการ นั่นเพราะเขาเห็นความสำคัญว่าธุรกิจเหล่านี้จ้างงานมาก แต่สำหรับประเทศไทย ที่มีรายได้จากธุรกิจกลางคืนเป็นจำนวนนับแสนล้านต่อปี กลับไม่มีมาตรการเยียวยาที่จริงจัง และยังโทษว่าธุรกิจนี้เป็นต้นตอการระบาด ทั้งที่ความผิดพลาดในการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาลต่างหาก คือต้นตอที่แท้จริงของความเสียหายทั้งหมด หากประชาชนได้รับวัคซีนดี เร็ว ทั่วถึง ไม่ว่าธุรกิจไหนก็สามารถเปิดได้ตามปกติ ไม่ต้องกลัวการระบาดของโรค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook