ยาต้านโควิด "โมลนูพิราเวียร์" คาดเข้าไทย ธ.ค.นี้ ย้ำห้ามใช้กับเด็ก-คนท้อง
อธิบดีกรมการแพทย์ คาด ไทยได้ยาโมลนูพิราเวียร์ ธ.ค. นี้ ใช้กับกลุ่มปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเท่านั้น
วันนี้ (6 ต.ค. 64) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวถึงประเด็นความคืบหน้ายาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ผ่าน Facebook Live กระทรวงสาธารณสุข ว่า ข้อมูลเบื้องต้นของยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลตา แกมมา หรือมิว
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยแบบ MOVE-IN Trial ในผู้ป่วยอาการหนักพบว่าไม่ได้ผล แต่การศึกษาแบบ MOVE-OUT Trial ในผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่ไม่ได้รับวัคซีน และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงอย่างน้อย 1 ปัจจัย ได้แก่ ภาวะอ้วน อายุมากกว่า 60 ปี เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยให้ยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ พบว่าได้ผลดี
"จากการศึกษาผู้ป่วยในระยะที่ 3 จำนวน 775 ราย แบ่งเป็นกลุ่มได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 385 ราย ขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลาเช้าและเย็น เป็นเวลา 5 วัน และกลุ่มได้ยาหลอก 377 ราย พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลลงร้อยละ 50 และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่การศึกษายังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และในเด็ก" นพ.สมศักดิ์ ระบุ
นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำยาโมลนูพิราเวียร์เข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น ต้องรอบริษัทผู้ผลิตขึ้นทะเบียนใช้ในกรณีฉุกเฉินกับ อย.สหรัฐฯ ก่อน แล้วจึงมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ประเทศไทย คาดว่าจะนำเข้ามาได้จริงในช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 โดยบริษัทคิดราคาตามลักษณะรายได้ของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางก็จะซื้อได้ในราคาถูกกว่าประเทศรายได้สูง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยได้ร่างสัญญาซื้อขายยาโมลนูพิราเวียร์แล้วเสร็จไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับการนำมาใช้นั้น ขณะนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพิจารณาข้อมูลยาโมลนูพิราเวียร์ว่าจะนำมาใช้แทนยาฟาวิพิราเวียร์ หรือใช้ควบคู่ หรือใช้ร่วมกันเป็นสูตรค็อกเทล นอกจากนี้ ยังมีโครงการ MOVE-AHEAD หรือการศึกษายาโมลนูพิราเวียร์ในการป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิดแล้ว เป็นลักษณะของยา PEP ที่รับประทานเพื่อป้องกัน โดยจะศึกษาในประเทศไทยในโรงพยาบาล 5 แห่ง ซึ่งมีโรงพยาบาลราชวิถีร่วมด้วย อยู่ระหว่างขออนุมัติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คาดว่าจะทำการศึกษาได้ในเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ เน้นย้ำว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถใช้ได้กับกลุ่มอาการน้อย – ปานกลาง และควรเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเท่านั้น โดยยังไม่ควรใช้กับสตรีมีครรภ์และเด็ก ซึ่งยังต้องรอดูผลการศึกษาวิจัยต่อไปก่อน