นักระบาดฯ แฉ สสจ.นครศรีฯ เจอกดดันหนัก! หลังแถลงข่าว ATK ให้ผลตรวจเบี่ยงเบนสูง

นักระบาดฯ แฉ สสจ.นครศรีฯ เจอกดดันหนัก! หลังแถลงข่าว ATK ให้ผลตรวจเบี่ยงเบนสูง

นักระบาดฯ แฉ สสจ.นครศรีฯ เจอกดดันหนัก! หลังแถลงข่าว ATK ให้ผลตรวจเบี่ยงเบนสูง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักระบาดวิทยาไขปริศนา 392 ตัวอย่างกรณีศึกษา ATK ยี่ห้อ Lepu หลัง สสจ.นครศรีธรรมราช สั่งห้ามทุก รพ. ใช้กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แจงตัวเลขชัดเจนเหตุความไวในการตรวจหาเชื้อต่ำมาก ยัน สสจ.เจอกดดันหนักจากผู้บริหารระดับสูง

วันนี้ (8 ต.ค.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตรวจหาเชื้อโควิดในกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามารับการตรวจในบริเวณที่ทำการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ที่มาตรวจในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคได้ชี้ความเสี่ยงและนำมาตรวจหาเชื้อ โดยมีการตรวจทั้งระบบ ATK ซึ่งใช้ ATK ที่เรียกว่า “โปรเฟสชันแนล ยูส” หรือ ATK สำหรับแพทย์ใช้ตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง หลังจากนั้นผู้ที่พบเชื้อจะถูกเคลื่อนย้ายส่งสถานพยาบาลทันที พร้อมทั้งตรวจยืนยันซ้ำด้วยระบบ RT-PCR เพื่อยืนยันเชื้อตามระบบการปฏิบัติการชั้นสูงในห้องปฏิบัติการ

ทั้งนี้ เมื่อสองวันที่ผ่าน นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แถลงถึงกรณีที่เป็นข่าวและได้รับความสนใจในการจัดซื้อ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ ของ สปสช. จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตถึงคุณภาพจากหลายฝ่ายอยู่แล้ว และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งห้ามทุกโรงพยาบาลนำ ATK ชนิดนี้ไปใช้กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และให้แพทย์รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ใช้ ATK ที่เป็นแบบ “โปรเฟสชันแนล ยูส” หรือ ATK ที่ใช้ในระดับบุคลากรการแพทย์เนื่องจากพบผลความเบี่ยงเบนสูง โดยการแถลงข่าวครั้งที่สองนั้น นพ.จรัสพงษ์ ระบุว่า ได้มีการศึกษาการใช้ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 392 ตัวอย่าง พร้อมทั้งระบุว่า ATK ดังกล่าวนั้นให้ใช้สำหรับประชาชนตรวจด้วยตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่ม : เมืองคอนสั่ง รพ. ห้ามใช้ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ ตรวจกลุ่มเสี่ยงสูง หลังเจอผลบวกลวงครึ่งต่อครึ่ง

อย่างไรก็ตาม นักระบาดวิทยาผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งในภาคใต้ ซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัวเองเนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบ ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชแถลงข้อมูลออกไปนั้นทำให้ถูกกดดันจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก แม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังออกหน้าในเรื่องนี้ด้วยตัวเองพร้อมกับสื่อสารในทำนองให้นายแพทย์ สสจ.นครศรีธรรมราชแถลงข้อมูลใหม่ โดยระบุว่าอาจเป็นการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดทำให้นักระบาดฯ และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เลือกที่จะนิ่งกับเรื่องนี้

แต่สำหรับตัวเลขที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นได้มีการศึกษาจำนวน 392 ตัวอย่างเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์สาธารณสุขได้เปิดเผยตารางและตัวเลขออกมา ผู้ที่ไม่อยู่ในวงการระบาดอาจมองไม่ออกว่ามีผลอย่างไรบ้าง มีตัวเลขชี้ผลหมายถึงอะไร

“ข้อเท็จจริงในการศึกษาจำนวนนี้มีผลที่น่าตกใจ กล่าวคือ จากการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผล ATK กับผล RT-PCR ในบุคคลเดียวกัน โดยเลือกผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด (High risk contact) ในอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 392 คน พบว่า มีผลลบลวงในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิดจริงเท่ากับ 73% (หมายถึง ATK ให้ผลเป็นลบ จำนวน 122 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อจริงที่มีผล RT-PCR เป็นบวก จำนวน 167 คน) ทำให้สามารถคำนวณค่าความไว (Sensitivity) ได้เท่ากับ 27% (คำนวณจากผล ATK เป็นบวกจำนวน 45 คนจากการตรวจในผู้ติดเชื้อโควิดจริงที่มีผล RT-PCR เป็นบวกจำนวน 167 คน) ซึ่งโดยปกติแล้ว ค่าความไวของชุดคัดกรองที่ดีจะต้องสูงถึง 70-90% ขึ้นไปจึงจะมีประโยชน์ในการคัดกรองได้ ส่วนที่สำคัญคือผู้ป่วยที่มีผลลบลวง ซึ่งเชื่อว่าตนเองไม่มีการติดเชื้อจะสามารถไปแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่นได้ง่าย โดยไม่ได้ระมัดระวังตัว ทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ นี่คือผลทางวิทยาศาสตร์ที่ออกมาอย่างชัดเจน” นักระบาดวิทยารายนี้อธิบายอย่างละเอียดกับผู้สื่อข่าว

table-nagarasri-atk-lepu-081021

นักระบาดฯ รายเดิมยังชี้อีกว่า นี่คือข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ จะมาเบี่ยงเบนไม่ได้ นอกจากนี้อีกไม่กี่วันจะมีตัวเลขในการศึกษาวิจัย ATK ออกมาอีก ตนทราบว่ามาจากภาคใต้ตอนล่าง ผลการวิจัยจะเป็นตัวชี้ชัดซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผู้บริหาร สปสช. และกรมที่เกี่ยวข้องควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ นักระบาดฯ แฉ สสจ.นครศรีฯ เจอกดดันหนัก! หลังแถลงข่าว ATK ให้ผลตรวจเบี่ยงเบนสูง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook