หมอชนบท จี้ อย. ต้องทบทวน! เพราะ ATK ใช้งานจริงที่เมืองคอน ให้ผลต่างจากแล็บเยอะ

หมอชนบท จี้ อย. ต้องทบทวน! เพราะ ATK ใช้งานจริงที่เมืองคอน ให้ผลต่างจากแล็บเยอะ

หมอชนบท จี้ อย. ต้องทบทวน! เพราะ ATK ใช้งานจริงที่เมืองคอน ให้ผลต่างจากแล็บเยอะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"หมอชนบท" จี้ อย. ต้องไปทบทวน หลังจาก สสจ.นครศรีธรรมราช ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าชุดตรวจ ATK ที่นำไปใช้งานจริงมีผลลัพธ์แตกต่างอย่างมากจากการทดสอบในห้องทดลอง

วันนี้ (8 ต.ค.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการใช้งาน ATK จริงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนี้

"ความจริงที่ประชาชนต้องได้รับรู้ในเชิงวิชาการ ของการใช้ชุดตรวจ ATK การแก้ปัญหาการระบาดโควิด 19 ที่สำคัญคือเปิดเผยความจริงต่อประชาชน

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี ชี้แจงเพิ่มเติม เมื่อถูกกดดันจากผู้มีอำนาจ ให้ต้องออกมาชี้แจงอีกครั้ง หลังจากที่ชี้แจงไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 ที่พบความเบี่ยงเบนจากการใช้ชุดตรวจนี้ที่อำเภอทุ่งใหญ่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการนำชุดทดสอบดังกล่าวมาตรวจให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

การที่ท่าน นพ.สสจ.นศ.พยายามจะไม่พูดถึงก่อนหน้านี้ อาจเพราะเกรงใจ แต่เมื่อถูกกดดันอย่างหนัก จึงเอาชุดข้อมูลที่ทดสอบไว้มาเปิดเผย ถึงผลการตรวจด้วยชุดตรวจยี่ห้อ Lepu จำนวน 392 ตัวอย่าง พบผลบวก 47 ตัวอย่าง แต่เมื่อตรวจยืนยันพบผลบวกจริง 45 ตัวอย่าง จึงมีผลบวกลวง 4.3% ส่วนผลลบพบ 345 ตัวอย่าง แต่เมื่อตรวจยืนยันพบผลลบจริง 223 ตัวอย่าง จึงมีผลลบลวง (False Negative) 35.4% จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

แต่หากเทียบกับในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดจริงที่ผล rt-pcr เป็นบวก ผลลบลวงในกลุ่มผู้ติดเชื้อจริง จะสูงถึง 73% (กล่าวคือ ATK ให้ผลเป็นลบ 122 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อจริงที่ rt-pcr เป็นบวกจำนวน 167 คน)

จากข้อมูลชุดหลังนี้ สามารถคำนวณความจำเพาะ (Specificity) ได้เท่ากับ 99.1% หมายความว่า สามารถใช้แยกผู้ที่ไม่ติดเชื้อได้ดี แปลอีกรอบคือ ถ้าผลการตรวจพบผลบวก น่าจะเป็นผู้ติดเชื้อจริง แต่ความไว (Sensitivity) เท่ากับ 26.9% หมายความว่า ใช้ตรวจจับผู้ติดเชื้อได้ไม่ดี แปลอีกรอบคือ ถ้าผลการตรวจเป็นลบ อาจจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อก็ได้ เมื่อชุดตรวจมีค่าความไวต่ำ มีผลลบลวงสูง อาจเป็นเพราะเชื้อยังน้อย เทคนิคการเก็บตัวอย่าง มาตรฐานชุดเครื่องมือ ปัจจัยสิ่งแวดล้อม หากไม่ระมัดระวังตัว คิดว่าตนเองไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ จะสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้โดยง่าย ยากต่อการควบคุมโรค

เมื่อเทียบกับมาตรฐานชุดตรวจ ATK ของ อย. จะต้องมีความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Specificity) ≥98% ความไม่จำเพาะ (Non-specificity) ≤10% และความไวเชิงวินิจฉัย (Sensitivity) ≥90% ซึ่งชุดตรวจยี่ห้อนี้ผ่านเกณฑ์ แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านความไวที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างการทดสอบในห้องปฏิบัติการกับการใช้จริงในชุมชน หรือการตรวจทดสอบกับผู้ป่วยจริงๆ ที่ อย.จะต้องไปทบทวน"

ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งาน ATK ว่า "ตัวอย่าง A เป็นระดับของไวรัสที่ชุดตรวจ ATK ทุกยี่ห้อที่ผ่านการรับรองน่าจะตรวจวัดได้หมด ซึ่งอาจมีความเข้มของเส้น T แตกต่างกัน แต่ก็ผลออกมาเป็น positive (เท่าที่ทดสอบมายังไม่มียี่ห้อไหนออกมาเป็นลบ) แต่เมื่อนำตัวอย่าง A มาเจือจางไปอีก 20 เท่า เป็นตัวอย่าง B ระดับไวรัสจะถึงจุดที่สร้างความแตกต่าง

อย่างในกรณีนี้ ชุดตรวจที่เลือกมายังสามารถให้ผลบวกที่เป็นขีดจางๆ ให้เห็นและสรุปว่าเป็นบวก แต่ระดับของไวรัสเดียวกันอาจให้ผลเป็นลบได้ใน ATK อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสรุปว่าถ้าระดับของไวรัสต่ำลงมาถึงระดับหนึ่ง ATK ที่มี sensitivity ต่ำจะตรวจไม่พบ แปลผลออกมาเป็น ลบ ขณะที่ ATK ที่ sensitivity สูงกว่ายังให้ผลบวกอยู่

คำแนะนำคือ ถ้ามีความเสี่ยงสูง หรือ มีอาการที่น่าสงสัย ควรใช้ ATK มากกว่า 1 ยี่ห้อในการตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงของผลที่อาจคลาดเคลื่อน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook