วิษณุ เผยนายกฯ ทูลเกล้าฯ ถวายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อยังไม่มีสัญญาณยุบสภา
วันนี้ (8 ต.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา และจะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 2 มกราคม 2565
เมื่อถามว่าในขณะนี้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช้ได้ แต่ถ้าหากกำลังหาเสียงกันอยู่ แล้วมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาแล้วจะทำอย่างไร จะเลือก ส.ส. กันแบบไหน ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้นในตอนนี้ก็ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบเก่า คือ บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่หากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็จะต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
"ปัญหาคือ ถ้ามีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นในตอนนี้ เราต้องบอกประชาชนทั้งประเทศว่า เลือก ส.ส.เขต 350 บัญชีรายชื่อ 150 ในแบบเก่าคนจะฝังใจอย่างนั้น พอถึงเวลาจะเลือกตั้งแต่มีประกาศแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาก็จะต้องเลือก ส.ส.เขต 400 บัญชีรายชื่อ 100 มันจะยุ่งกันทั้งประเทศ" นายวิษณุ ระบุ
อ่านข่าวเพิ่ม : ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบแก้ รธน. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ฝ่าด่าน ส.ว. ฉลุย
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังยืนยันว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ส่งสัญญาณให้ร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพราะหากมีการยุบแล้วก็ต้องเลือกใหม่ แต่ต้องถามว่า แล้วจะเลือกตั้งกันอย่างไร และเรื่องนี้ไม่มีใครตอบคำถามได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักวิชาการ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
อ่านข่าวเพิ่ม : ส่งสัญญาณเลือกตั้ง? กกต.ร่อนหนังสือแจ้งทุกพรรคการเมือง เตรียมเฟ้นหาผู้สมัครไว้ล่วงหน้า
ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ แต่ให้ไปรับฟังและติดตามสถานการณ์โควิด การแก้ปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม และให้มารายงานยังรัฐบาลต่อไป ซึ่งไม่ใช่เป็นเตรียมการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายวิษณุ ระบุว่า จะเลือกตั้งได้อย่างไรในเมื่อกติกาหรือกฎหมายยังไม่ชัดเจน ส่วนระหว่างนี้หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจะทำให้ยุ่งใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สื่อก็คงคิดเองได้ ปัญหาใครก็รู้ ฉะนั้นก็ต้องตระหนักว่ามันมีปัญหารออยู่ จะแก้ปัญหาอย่างไรก็พยายามกันอยู่
สำหรับความคืบหน้าของร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ที่ยังไม่ประกาศใช้นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังตัดสินใจอยู่ว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ถ้าเป็น พ.ร.บ. ก็เสนอต่อสภาฯ แต่ด้วยเหตุที่เป็น พ.ร.บ. ในเชิงปฏิรูปต้องเสนอต่อที่ประชุมร่วมของทั้ง 2 สภาฯ แต่ถ้าคิดว่าจำเป็นเร่งด่วนต้องออกเป็น พ.ร.ก. ก็ออกเป็น พ.ร.ก. แต่ขณะนี้ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้
อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ วิษณุ ยอมรับว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องด่วน แต่ถ้าหากออกเป็น พ.ร.ก. ในเวลานี้ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 172 กำหนดไว้ว่า ถ้าออกเป็น พ.ร.ก. ระหว่างปิดสมัยประชุมสภาฯ ก็ต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งคิดว่าไม่อยากทำแบบนั้น ก็อาจจะรอไว้ใกล้สภาฯ เปิดแล้วค่อยพิจารณา หรือเอาเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาร่วมกัน ถ้าสภาฯ ไม่ล่มเสียก่อน ซึ่งยอมรับว่ายังตัดสินใจตรงนี้ไม่ได้ และทางกระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่าสามารถใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปก่อนได้ และหากสภาฯ เปิด การตัดสินใจจะง่ายขึ้น
แต่ทว่า นายวิษณุ ก็ยอมรับว่า หากสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเกิดล่ม รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก