อัยการจี้รัฐหาช่องนำ ทักษิณ กลับไทย
รองอสส. จี้รัฐหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องนำ ทักษิณ กลับไทย ด้านอัยการตปท. เตรียมรื้อข้อกฎหมายระหว่างประเทศ
(12พ.ย.) นายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด เปิดเผยกรณีที่กัมพูชา ไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้ไทย ว่า ต้องดูหนังสือแจ้งตอบและเหตุผลของกัมพูชาว่า เข้าใจข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนอย่างไร เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากกัมพูชาได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจริง รัฐบาลต้องหารือกับอัยการและกระทรวงการต่างประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า หนังสือขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ที่ส่งให้ทางกัมพูชานั้น ชี้แจงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ใช่คดีการเมือง ซึ่งทำงานไปตามหน้าที่ ไม่มีอคติ ทุกอย่างดำเนินตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนใครจะเป็นผู้ชี้ขาดการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ต้องดูกฎหมายภายในของทางกัมพูชา
ด้านนายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลต้องวิเคราะห์ และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาลยุติธรรม และอัยการ เพื่อหาแนวทางด้านข้อกฎหมายต่อไป ส่วนอัยการ เวลานี้ได้เริ่มหารือนอกรอบ อย่างไม่เป็นทางการบ้างแล้ว โดยวิเคราะห์เหตุผลที่กัมพูชาปฏิเสธมา จากนั้นก็จะดูข้อกฎหมายระหว่างลงนามร่วมกับกัมพูชา เพื่อพิจารณาแนวทางที่ต้องแก้ไข โดยการวิเคราะห์จะต้องนำเสนอต่อนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดต่อไป
"งานนี้ค่อนข้างสลับซับซ้อน มีความละเอียดอ่อน ซึ่งเราหนักใจกันพอสมควร " นายศิริศักดิ์ กล่าวและชี้แจงว่า ประเด็นที่อัยการ ระบุในหนังสือขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ได้ย้ำชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดทางอาญา ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาแล้วว่ามีความผิดจริง และต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายระบุ โดยอัยการได้แนบคำพิพากษาไปด้วย เพื่อหวังให้ประเทศกัมพูชา ให้ความร่วมมือในการควบคุมตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อส่งกลับมารับโทษคดีที่ประเทศไทย
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับรายการเก็บตกจากเนชั่น เช้านี้ ว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลกำลังดูหนังสือที่กัมพูชาตอบมาว่า จะไม่ส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ไทย เพื่อจะชี้แจงกลับไปอีกครั้ง ตามมารยาททางการทูต ซึ่งจะได้ผลหรือไม่คงรอดู ส่วนมาตรการตอบโต้ก็จะปฏิบัติเข้มขึ้น โดยจะพิจารณาชะลอเรื่องความช่วยเหลือต่างๆ หรือพันธกรณีที่ควรยกเลิก แต่ยึดว่าจะไม่ให้กระทบสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน และไม่เป็นชนวนก่อให้เกิดความรุนแรงในอนาคต
ส่วนกรณีนายฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา ระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาส่วนตัวของนายฮุนเซน กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยนั้น นายชวนนท์ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี ไม่เคยมีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือมีเรื่องบาดหมางส่วนตัว ทุกอย่างดำเนินการบนผลประโยชน์ประเทศ พร้อมย้ำว่าไทยจะไม่นำปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ เข้าสู่เวทีระดับพหุภาคี และประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ไม่ต้องการให้ยกเป็นปัญหาระดับภูมิภาคเช่นกัน
ด้านนายอัษฎา ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก กล่าวว่า ในฐานะนักการทูตมองว่า ความสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชาที่เป็นอยู่ขณะนี้ ไม่ถึงขั้นเลวร้ายอย่างที่คิด ทุกอย่างยังแก้ได้ ถ้านายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะกลับตัวซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ท่าทีของนายฮุนเซน จะเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ นอกจากจะได้รับประโยชน์อะไรบางอย่างตอบแทน โดยเฉพาะการปฏิเสธส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ในทันทีตรงนี้ถือว่าหยามศักดิ์ศรีประเทศไทยมาก เพราะตามหลักการทูต ควรจะรับไป 2-3 วัน หรือ
เป็นเดือนเพื่อพิจารณา ก่อนจะตอบว่าจะส่งกลับหรือไม่เพราะเหตุใด
การปฏิเสธแบบไม่มีเยื่อใยแบบนี้ ถือเป็นการท้าทายในทางการทูต ถือเป็นท่าทีของนักเลงโต ไม่ใช่มารยาทของสังคมโลกที่เจริญทางวัฒนธรรมและมีกฎหมาย เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ากรณีการจ้าง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ จึงสมควรที่รัฐบาลจะเร่งตอบโต้