สมเด็จฮุนเซน จากเด็กเร่ร่อน สู่ผู้นำประเทศกัมพูชา
เรียบเรียงโดย : ทีมงาน Sanook News
ถึงแม้ขณะนี้ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ยังไม่ถึงขั้นแตกหัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่องเขาพระวิหาร การขัดขืนไม่ยอมส่ง อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงเพื่อความเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อน แต่แลกกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย -กัมพูชา สถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นทั้งหมด ล้วนทำให้ สมเด็จ ฮุนเซน ผู้นำของประเทศกัมพูชา เป็นอีกบุคคลที่น่าจับตามมองที่สุดสำหรับคนไทย
ก้าวแรกของชีวิต
ฮุน เซน เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2494 เขาเป็นเพียงลูกชาวนา เขาเร่ร่อนออกจากบ้านได้เพียงอายุ 13 ปี อาศัยข้าวก้นบาตรพระ เพื่อหวังจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กยุคใหม่ปัจจุบันบางคนที่ฝักใฝ่แต่แฟชั่นนิยม จนหลงลืมความรู้เสริมปัญญา คงไม่อาจสู้ความกระตือรือร้นของฮุนเซนได้ แรกเริ่มเขาเรียนชั้นประถมศึกษาที่บ้านเกิด เมื่อปี พ.ศ. 2508 จากนั้นเข้ากรุงพนมเปญ เพื่อเรียนต่อชั้นประถมปลายที่โรงเรียนอินทราเทวี ที่วัดนาควาน เป็นเด็กวัดภายใต้การดูแลของสมภารที่ชื่อ มง ฤทธี
แต่ความอุตสาหะ ทะเยอทะยาน บวกกับความขยัน อดทน ทำให้ฮุน เซนกลายเป็นบัณฑิต สำเร็จปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในประเทศ แต่นั้นมาเขาได้กลายเป็น "ดอกเตอร์ฮุน เซน" และมีผู้ที่ต้องการจะมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
-รายชื่อสถาบันต่างๆ ที่มอบเกียรติยศทางการศึกษาให้แก่ผู้นำเขมร จนกระทั่งมี Ph.D.เป็นใบที่ 10
· 1991 Ph.D. (Political Science) - National Political Academy of Hanoi
· 1995 Ph.D. (Politics) - Southern California University for Professional Studies
· 1996 Ph.D. (Law) - IOWA Wesleyan College, USA
· 2001 Ph.D. (Political Science) - Dankook University, South Korea
· 2001 Ph.D. (Political Science) - Ramkhamhaeng University, Bangkok
· 2004 Ph.D. (Political Science) - Irish International University of Europa
· 2004 Ph.D. (Political Science) - University of Cambodia
· 2006 Ph.D. (Political Science) - Soon Chun Hyang University, Seoul, South Korea
· 2006 Ph.D. (Education) - Bansomdejchaopraya Rajabhat University, Bangkok
· 2007 Ph.D. (Education) - National University of Hanoi
ปริญญาดุษฎีบัณฑิต Ph.D. (Philosophy Doctorate) ที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นด้านรัฐศาสตร์ (Political Science) จำนวนหนึ่งเป็นสาขานิติศาสตร์ (Law) แต่ในนั้นมี Ph.D.จำนวน 2 ใบ เป็นสาขาการศึกษา (Education) ซึ่งได้รับจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย กับ มหาวิทยาลัยในเวียดนาม พร้อมทั้งเข้ารับริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านการศึกษา (Ph.D.in Education) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงฮานอย (National University of Hanoi) ในวันที่ 29 ม.ค.2551 อันเป็น Ph.D.ใบล่าสุด
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองว่า "มันเป็นใบประกาศเกียรติคุณระดับดอกเตอร์หรือเป็นเพียงแค่เศษกระดาษ" แต่ คำพูดเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ ฮุน เซน เดือดเนื้อร้อนใจ ด้วยเพราะ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ได้รับมีทั้งจากสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ เอเชีย แม้กระทั่งในยุโรปรับประกันอยู่แล้ว
ก้าวสอง : ชีวิตด้านครอบครัวที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ปัจจุบัน ฮุน เซน แต่งงานกับ นางบุน รานี ฮุนเซน มีบุตรด้วยกันรวม 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน แต่ทั้งสองได้รับลูกสาวบุญธรรมมาเลี้ยงอีก 1 คน ขณะที่เธออายุได้เพียง 18 วัน และให้ใช้นามสกุล ฮุน เหมือนลูกแท้ๆของตน มีลูกชาย 1 ใน 3 จบจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ สถาบันการทหารอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ปัจจุบันทั้งนายฮุน เซน และนางบุน รานี ฮุนเซน ยังใช้ชีวิตคู่ร่วมกันพร้อมกับครอบครัวใหญ่
เขา เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นครั้งแรกระหว่างกล่าว สุนทรพจน์ในพิธีประสาทปริญญาบัตร แก่บัณฑิตสถาบันการศึกษาแห่งกัมพูชาเมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ว่า เขามีลูกสาวบุญธรรม ซึ่งเธอมีรสนิยมเบี่ยงเบนทางเพศชอบผู้หญิงด้วยกัน
แม้ว่า ฮุน เซน จะผิดหวังในตัวลูกบุญธรรมที่เป็นบุคคลรักร่วมเพศ แต่เขากลับโน้มน้าวสังคมและบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองอย่าได้ต่อต้านและเลือก ปฏิบัติ ต่อชาวรักร่วมเพศเ พราะส่วนใหญ่พวกเขาก็เป็นคนดี ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ความกีดกันทางเพศในกัมพูชาจึงลดน้อยลง
ก้าวสาม : แหล่งบ่มเพาะจนเข้าสู่ "ภาวะผู้นำ"
เมื่อฮุน เซน อายุได้ 19 ปี (พ.ศ.2513) เขาได้เข้าร่วมในกองทัพปฏิวัติ (เขมรแดง) ตาม คำเรียกร้องของ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ กษัตริย์แห่งกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กลายเป็นเพียงภาพในอดีต หลังถูกโค่นล้มโดยนายพลลอนนอล ซึ่งองค์การซีไอเอ ของสหรัฐอเมริกา เป็นแรงคอยหนุนอยู่เบื้องหลัง
ท่ามกลางความร้อนระอุของไฟสงคราม ฮุนเซนต้องประสบเคราะห์กรรมสูญเสียนัยน์ตาข้างซ้ายในการรบ จนกระทั่งวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2518 ก่อนการมีชัยต่อกองกำลังลอนนอลเพียงวันเดียว ขณะนั้นความทะเยอทะยานนำเขาไปสู่ตำแหน่งเป็น "ผู้บัญชาการกองพัน"
ถัดมาปี พ.ศ.2520 เขาเคยหนีไปอยู่เวียดนาม ซึ่งทางเวียดนามยอมรับความสามารถด้านการติดต่อเจรจาของเขามากกว่า เฮง สัมริน และเมื่อเวียดนามยึดครองกัมพูชาสำเร็จ ในปี พ.ศ.2522 เขา จึงได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แม้จะไม่ประสีประสาด้านกิจการระหว่างประเทศ หรือภาษาต่างประเทศแต่เขาได้อาศัยที่ปรึกษาชาวเวียดนามค่อยช่วยเหลืออย่างดี และมีผลงานเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก
ฮุน เซนได้เป็นสมาชิก กรรมการกลางกรมการเมืองและเป็นสมาชิกสำนักงานเลชาธิการ ในปีพ.ศ.2525ซึ่งเป็นตำแหน่ง บริหารพรรคด้วย และวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกันเขาได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ก้าวสี่ : เส้นทางทางการเมือง ผู้กุมอำนาจเขมร
เมื่อเวียดนามถอนตัวจากกัมพูชา ฮุน เซนได้ตกลงร่วมประชุมตกลงให้สู้กันในสนามเลือกตั้งขณะที่เขมรแดงบอยคอต ผลการเลือกตั้ง พรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP(Cambodian People's Party) ของเขา แพ้ พรรคฟุนซินเปค จึงตกลงให้ "เจ้ารณฤทธิ์" เ ป็นนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ฮุน เซนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สอง
หลังจากนั้นในปี 5 กรกฎาคม 2540 ฮุน เซนได้นำทหารเข้าทำการรัฐประหาร จนมีผู้เสียชีวิตราว 50-60 คน โดยเฉพาะนักการเมืองพรรคฟุนซินเปค แม้ว่าก่อนหน้านี้ตัวเขาจะเคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ก่อรัฐประหารก็ตาม
ฮุน เซน กลายเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ตั้งแต่อายุ 33 ปี เท่านั้น นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุด และยังได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี เป็น สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซน เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2550
นอกจากนั้น ยังมีบุคคลที่สำคัญของกัมพูชาได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์ 3 คน หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จเจีย ซิม ประธานสภาแห่งชาติกัมพูชา
ก้าวห้า : ชัยชนะของ "สมเด็จ ฮุนเซน" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
พรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP(Cambodian People's Party) ของสมเด็จฮุน เซน ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากชาวเขมร ๙๑ เสียง จากที่นั่งในสภาที่มีอยู่ทั้งหมด ๑๒๓ เสียง ซึ่งนั่นหมายถึง การที่พรรค CPP จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างแน่นอน และไม่ต้องพะวงเรื่องการขอลงมติไม่ไว้วางใจ/ถอดถอน จากพรรคฝ่ายค้านในอนาคต
แม้ว่า สมเด็จฮุน เซน จะเป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในพรรค CPP ก็ตาม แต่สมเด็จฮุน เซน ต้องการเป็นเพียงรองประธานพรรคเท่านั้น โดยได้มอบตำแหน่งหัวหน้าพรรค CPP ให้กับสมเด็จเจีย ซิม ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภา
ในโอกาสที่ สมเด็จฮุน เซน คงจะได้เป็นผู้นำประเทศกัมพูชาต่อไปอีก ๕ ปีอย่างแน่นอน หลังจากปกครองประเทศกัมพูชามายาวนาน
จากเด็กชายเรร่อนที่ต่อสู้ เพื่อมุ่งสู่จุดสุดยอดของชีวิต การได้เรียนหนังสือ ข้ามเข้าสู่การสู้รบ ภายใต้ความมุมานะ อดทน เชื่อมั่น และสายเลือดแห่งผู้นำ ทำให้ สมเด็จ ฮุนเซน กลายเป็นผู้กุมอำนาจในการปกครองกัมพูชาอย่างยาวนาน ถึง ๒๓ ปี แต่บนเส้นทางสนามรบ "ชีวิตที่แขวนไว้กับเส้นดาย" ล้วนเป็นที่น่าติดตามของผู้นำผู้นี้
“ภาวะผู้นำมีอยู่ในตัวตนทุกคน แต่ทว่าคุณจะใช้ความกล้า ความเด็ดขาดวิธีใด เพื่อประชาชนมากที่สุด”
เรื่องราวโดย
Monato
ข้อมูล : ผู้จัดการ Nation, AFP, CNN, wikipedia,http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=offway&month=07-2008&date=22&group=30&gblog=31