สธ. ไฟเขียวสูตรวัคซีนโควิดไขว้ใหม่ "ซิโนแวค-ไฟเซอร์" และ "แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์"

สธ. ไฟเขียวสูตรวัคซีนโควิดไขว้ใหม่ "ซิโนแวค-ไฟเซอร์" และ "แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์"

สธ. ไฟเขียวสูตรวัคซีนโควิดไขว้ใหม่ "ซิโนแวค-ไฟเซอร์" และ "แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุขไฟเขียวฉีดวัคซีนโควิดสูตรไขว้แบบใหม่ คือ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ เพื่อแก้ปัญหาแอสตร้าเซนเนก้าขาดแคลน ส่วนสูตร แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ จะใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

วันนี้ (18 ต.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอาจมีการส่งมอบที่ไม่ตรงตามจำนวนในบางครั้ง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาวัคซีนขาดตอน คณะกรรมการวิชาการ และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จึงเห็นชอบสูตรการฉีดวัคซีนไขว้แบบใหม่ คือ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าขาดแคลน

ในส่วนของสูตรการฉีดวัคซีนสูตรใหม่อีกสูตร ก็คือ แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ คณะกรรมการวิชาการเห็นชอบให้ใช้ได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น ในกรณีที่มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเป้าหมายครบถ้วนแล้ว แต่มีวัคซีนค้างอยู่ที่จังหวัด ซึ่งขณะนั้นหากมีผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มแรก ก็สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ หรือในกรณีที่ต่างประเทศพบการแพ้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จึงมีการพิจารณาให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้

ทั้งนี้ สูตรการฉีดวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว อย่างไรก็ดี สูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ยังคงเป็นสูตรการฉีดวัคซีนหลักของประเทศ

นอกจากนี้ นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึงสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยบ่งชี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการปอดอักเสบ และป่วยหนัก ซึ่งหากระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมรองรับได้ดี ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะสลับขึ้นลงบ้าง แต่ก็จะสามารถดำเนินการเปิดประเทศต่อไปได้

ปัจจุบันหลายพื้นที่ยังเกิดคลัสเตอร์ขนาดเล็กต่อเนื่อง เช่น แคมป์ก่อสร้างที่จันทบุรี 3 ราย ระยอง 29 ราย ล้งผลไม้จันทบุรี 2 ราย ร้านอาหารจันทบุรี 6 ราย สถานศึกษาที่ตรัง 7 ราย ฉะเชิงเทรา 7 ราย ลพบุรี 5 ราย และงานศพ ลำพูน 2 ราย ขอนแก่น 3 ราย เลย 4 ราย สระแก้ว 4 ราย กาญจนบุรี 9 ราย เป็นต้น ส่วนพื้นที่ภาคใต้ที่การระบาดสูงขึ้นมีการบริหารจัดการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ และส่งวัคซีนไฟเซอร์ลงไปเสริม ยืนยันว่าไม่กระทบเป้าหมายการฉีดในนักเรียน

สำหรับการเปิดประเทศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อที่จะวางแผนมาตรการรองรับในการติดตามสถานการณ์ เช่น หากมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีจำนวนผู้ต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้น จะต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนว่าในระดับใดจึงจะต้องมีการปรับหรือเพิ่มมาตรการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

"เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง และมีการผ่อนคลายให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ก็มักจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ เช่น ตลาด แคมป์ก่อสร้าง ร้านอาหาร งานศพ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น ต้องมีการป้องกันตัวแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention-UP) อย่างเคร่งครัด" นพ.เฉวตสรร กล่าว

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในประเทศเริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น จากเป้าหมายที่วางไว้ว่าสิ้นเดือน ต.ค. จะสามารถฉีดเข็ม 1 ได้เกิน 50% ซึ่งขณะนี้สามารถฉีดวัคซีนเข็ม 1 เกินเป้าหมายแล้วอยู่ที่ 52.3% และเข็ม 2 อยู่ที่ 36.2% ซึ่งอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์จะอยู่ที่ประมาณ 52% ส่วนเข็ม 3 อยู่ที่ 2.7% ในส่วนของการฉีดวัคซีนในนักเรียนนักศึกษา อายุ 12-17 ปี ขณะนี้สามารถฉีดเข็มที่ 1 แล้วจำนวน 1.1 ล้านราย

ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ชลบุรี, สมุทรปราการ, ระยอง, ตราด, เลย, หนองคาย, อุดรธานี, บุรีรัมย์, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, พังงา และระนอง สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้ว 72.9% และเข็มที่ 2 ครอบคลุมแล้ว 50.9%

ในขณะที่ยังมีอีกหลายจังหวัดที่พบการแพร่ระบาดหนัก ได้แก่ จังหวัดตาก ราชบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ซึ่งจังหวัดดังกล่าวยังมีสัดส่วนในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เพียง 45% และเข็มที่ 2 เพียง 30.3% เท่านั้น ดังนั้นจึงมีการตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 50% ภายในสิ้นเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งในหลายจังหวัดก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนมารับวัคซีน และมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจหาเชื้อมากขึ้น

อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดสรรวัคซีนให้เพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก เช่น ภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ถึง 3 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตา จึงต้องมีการจัดสรรวัคซีนชนิด mRNA หรือวัคซีนไฟเซอร์ แต่วัคซีนไฟเซอร์ที่จัดสรรให้ภาคใต้ ไม่ได้กระทบกับจำนวนวัคซีนสำหรับนักเรียนนักศึกษาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ตามกำหนด ดังนั้นปริมาณวัคซีนจึงมีเพียงพอสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่แจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนทุกราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook