รัก(ษ์)โลก แบบมีสไตล์
โดย : จตุพร อุ่นใจ
หลังสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แม้ ท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร
จะผันตัวมาทำงานในสายบันเทิงคือเป็นทั้งพิธีกรและนักแสดง แทนที่จะเป็นงานตามสาขาวิชาที่เล่าเรียนมา แต่เขาก็ยังฝันที่จะมีร้านเกี่ยวกับงานด้านออกแบบเป็นของตัวเอง
ยิ่งได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต นักออกแบบวัสดุธรรมดาๆ ให้ดูดีจนมีชื่อเสียงโด่งดัง มาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ หัวข้อ 'แนวโน้มของผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม' ท็อปจึงรับรู้ถึงความต้องการของผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอีกด้านคือข้อมูลเรื่องขยะและวัสดุเหลือใช้ ที่แม้จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นทุกที หากสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการดีไซน์เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สวย งามตอบสนองความต้องการของตลาดยุคใหม่ได้อย่างลงตัว และยังเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า
และนี่จึงเป็นที่มาของร้าน 'ECO SHOP by Top-Pipat' ซึ่งเปิดตัวที่ชั้น 1 ดิจิตอลเกทเวย์ สยามสแควร์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นแค่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์มีดีไซน์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังหวังให้เป็นศูนย์กลางในการจัดแสดงสินค้า ที่นักออกแบบและผู้ผลิตสินค้าหัวใจรักษ์โลก นำวัสดุเหลือใช้และวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม มาออกแบบในสไตล์ Reduce, Reuse และ Recycle เข้าร่วมโชว์ไอเดียและจำหน่ายในทำเลสุดทันสมัยใจกลางกรุง
"นอกจากผมเป็นพิธีกรแล้ว ผมยังเป็นนักออกแบบ และมีโอกาสได้ร่วมงานกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทอง ผมเลยได้เห็นว่ามีคนสนใจในเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อมเยอะมาก เวทีการประกวดต่างๆ ก็เยอะ แต่คำถามที่ตามมา คือพอมีการประกวดเสร็จ สินค้าเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน ทั้งที่ได้รางวัลและไม่ได้รางวัล ไม่สามารถจะไปถึงมือผู้บริโภคได้ ผมจึงอยากได้สินค้าเหล่านั้น"
และสินค้าที่ว่านี้ก็จะมาปรากฏตัวในร้าน ECO SHOP by Top-Pipat ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเวทีในการจำหน่ายสินค้าที่ได้รับการออกแบบมาโดยคำนึงถึง เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
"สินค้าในร้านมีทั้งออกแบบเองบ้าง และนำเข้าจากต่างประเทศบ้าง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ยุโรป นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ผู้ด้อยโอกาส ส่งผลงานแปลกๆ เข้ามาวางจำหน่ายทาง www.ecoshop.in.th โดยราคาจะอยู่ประมาณ 100-10,000 บาท"
เหตุผลของการเลือกสินค้ามาวางในร้าน 'ท็อป' บอกว่าอันดับแรก ต้องคำนึงถึงวัสดุเหลือใช้หรือที่ขยะเขาทิ้งแล้ว อันดับที่สอง ดูว่าดีไซน์น่าสนใจมากน้อยขนาดไหน และอันดับที่สาม ผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ประเภท Reduce, Reuse, Recycle ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ผู้ชื่นชอบงานดีไซน์เก๋ๆ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกัน
ในการออกแบบผลงานแต่ละชิ้นยังต้องให้ความสำคัญด้าน 'การขนส่ง' ด้วย เพราะถ้าสินค้าใหญ่เกินไปการขนส่งก็จะสิ้นเปลือง แต่ถ้าสินค้าตัวนั้นสามารถพับได้ก็จะเป็นการช่วยประหยัดและไม่สิ้นเปลือง พลังงาน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมทางอ้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของการขายทางร้านยังมีแนวคิดแบ่งปันโอกาส สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน เพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกัน
"ทางร้าน ECO SHOP ได้ให้โอกาสแก่น้องๆ ที่บกพร่องทางการได้ยิน เวลาเขาได้ยินเสียงน้อย ก็จะเปล่งเสียงได้ไม่เต็มคำ คือ ผมเห็นศักยภาพในตัวของพวกเขา และอยากจะร่วมงานด้วย ที่สำคัญเขาก็มีความอยากทำงาน และมีความสามารถไม่แพ้คนปกติ ดังนั้นนอกจากทางร้านผมจำหน่ายสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ผมยังจะพัฒนาเรื่องโอกาสกับบุคคลควบคู่ไปด้วย"
อุปสรรคในเรื่องการสื่อสารกับลูกค้า ทางร้านก็จะมีวิธีแก้ไขเบื้องต้นคือ การเขียนรายละเอียดของสินค้าวางไว้ข้างๆ ตัวสินค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าใจได้ง่าย ทำให้สะดวกกันทั้งสองฝ่ายทั้งพนักงานและลูกค้า
อีกทั้งยังมีโครงการต่อไปรอจ่อคิว โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในด้านอื่นๆ อาทิ เด็กที่อยู่ในสถานพินิจ ผู้มีความบกพร่องทางสายตา ให้พัฒนาฝีมือเพื่อนำผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขามาวางจำหน่ายที่ร้าน
เพื่อเป็นการสร้างสรรค์สังคมที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการดูแลโลกใบนี้ต่อไป