กระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริมวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน

กระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริมวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน

กระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริมวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลสำรวจสวนดุสิตโพลชี้วิถีชีวิตชาวเมือง พบปัญหาผู้อยู่อาศัยต่างคนต่างอยู่ ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น และไม่ช่วยรักษาทรัพย์สิน กระทรวงวัฒนธรรมแนะ 6 ข้อปฏิบัติ สร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) และสวนดุสิตโพลได้สำรวจผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม จำนวน 371 คน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า สิ่งสำคัญในการอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยร้อยละ 95 เห็นว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อกำหนดเป็นปัญหาหลัก เช่น ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น จอดรถไม่เป็นระเบียบ และใช้ทรัพย์สินส่วนกลางไม่เหมาะสม ด้านวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน ร้อยละ 78.72 เห็นว่า ต้องการให้ผู้ดูแลคอนโดมิเนียมหรือนิติบุคคลดูแลทุกข์สุขของผู้อาศัย ควรมีการกำหนดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดความสงบสุข เช่น ความมีน้ำใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเคารพสิทธิผู้อื่น และการปฎิบัติตามกฎระเบียบ ส่วนความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ร้อยละ 66.85 พบว่า ผู้อาศัยในคอนโดมิเนียมไม่ค่อยรู้จักกันและไม่ค่อยสนิทกับคนที่อาศัยในที่เดียวกัน

สำหรับกิจกรรมที่ควรร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความสมัครสมาน ปรองดอง อาทิ ทำบุญตักบาตร กีฬา และงานเทศกาล ตามลำดับ นอกจากนี้ สิ่งที่ประทับใจในการอยู่อาศัยอาคารชุด คือ การให้บริการของเจ้าหน้าที่ และการดูแลสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม รวมทั้งยังมีระดับความสุขในการพักอาศัยในระดับมาก

นายธีระ สลักเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเมือง นิยมอยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรร หอพัก และคอนโดมิเนียม ใช้ชีวิตที่เน้นวัตถุ มีเครื่องใช้ที่ทันสมัย เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับตนเอง ตามแบบทุนนิยม ซึ่งไปไกลจากจิตนิยมที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างมาก จากที่เคยร่วมกันแบบพึ่งพา มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้น จึงต้องนำเอาสิ่งเหล่านี้กลับมา โดยมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของผู้อยู่อาศัย ที่เป็นคนจากหลายภาคอาศัยอยู่ร่วมกัน ได้สร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน กลับไปหาวิถีชีวิตดั้งเดิม เพื่อสร้างสังคมให้อบอุ่น ชุมชนเข็มแข็ง และอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำ 6 ข้อ ดังนี้

1.มีน้ำใจ - เอื้อเฟื้อต่อผู้อาศัยในสถานที่เดียวกัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่คอยดูแล
2.รักษากฎ - ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ เพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างมีความสุข
3.หาเพื่อน - เริ่มจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ เพื่อสร้าง
ความสัมพันธ์และความสามัคคีอันดีต่อกัน
4.รักษาของ - ใช้และดูแลทรัพย์สินส่วนกลางเหมือนเป็นของเราเอง จะได้มีของดีๆไว้ใช้นานๆ
5.เอาใจใส่ - มีจิตสำนึกที่จะช่วยกันดูแลภัยต่างๆอันอาจจะเกิดกับผู้อาศัยเดียวกัน เช่น
คนน่าสงสัยที่อาจก่ออาชญากรรม สิ่งของชำรุดที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
6.รักษาประโยชน์ส่วนรวม - เห็นต่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
.../๒

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า "ผลของโพลนี้ ตอกย้ำว่าผู้อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยแบบใด ก็ต้องการชุมชนที่น่าอยู่ LPN เองซึ่งอยู่ในธุรกิจนี้มานานร่วม 20 ปี และดูแลคนถึง 30,000 ครอบครัว ก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นกัน เราเล็งเห็นมาตั้งแต่ต้นว่า การสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลทุกข์สุขของผู้อยู่อาศัยเป็นอันดับแรก เรามีนโยบาย "ชุมชนน่าอยู่" ซึ่งนอกจากจะเน้นการให้บริการ ดูแลความสะดวกสบายอย่างเสมอต้นเสมอปลายแล้ว ยังจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกบ้านอย่างสม่ำเสมอเช่น กีฬา ทำบุญ ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการรู้จักและผูกพันกัน ไว้ใจ เชื่อมั่น และพร้อมจะทำตามระเบียบการอยู่ร่วมกันที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น"

นางปีย์จิต โอสถานนท์ กูรู นักเขียน และคอลัมนิสต์ชื่อดังด้านการบริหารเงินอย่างรู้ค่า หนึ่งในชาวคอนโดมิเนียม กล่าวว่า "สำหรับคนอยู่คอนโด การตัดสินใจเลือกซื้อคอนโด ไม่ใช่จะมองเรื่องทำเล ขนาดห้องและราคาเท่านั้น เราควรดูถึงความเป็นมืออาชีพ ประสบการณ์และการดูแลผู้อยู่อาศัยของเจ้าของโครงการ แต่จริงๆ แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับผู้อยู่อาศัยด้วยกันเองด้วย เพราะทุกคนต้องมีจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน จะทำอะไรต้องคิดถึงใจเขาใจเราไม่ทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อน จะนำมาซึ่งความเป็นชุมชนที่น่าอยู่และเป็นสุขอย่างยั่งยืน"

นางสาวฐนิตา สุทัศน์ ณ อยุธยา สาวนักทำงานเอเจนซี่โฆษณาชื่อดัง สมาชิกชาวคอนโด ก็แสดงความเห็นว่า "การจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและวัฒนธรรมบนคอนโดนั้น ทุกคนที่อยู่อาศัยต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบที่คอนโดและสมาชิกตกลงร่วมกัน เช่นการใช้พื้นที่/ทรัพย์สินส่วนกลาง ไม่ควรนึกว่าเป็นของส่วนร่วม แล้วใช้อย่างไม่ดูแลรักษา เป็นต้น นิติบุคคลที่ดูแลคอนโดต้องเป็นคนกลางดูแลเรื่องการรักษากฎ และที่สำคัญที่ผู้อยู่อาศัยไม่ควรพลาดเลยคือการเข้าร่วมประชุมประจำปีของแต่ละคอนโด เพื่อสรุปปัญหา หาแนวทางแก้ไขและกฎระเบียบที่ทุกคนต้องนำไปปฎิบัติ เพื่อทำให้การอยู่ร่วมกันในคอนโดเดียวมีความสุขได้"

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ กระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริมวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook