มองทะลุควันแก๊ส “ม็อบดินแดง” เด็กเกเร ชอบความรุนแรง จริงหรือ?

มองทะลุควันแก๊ส “ม็อบดินแดง” เด็กเกเร ชอบความรุนแรง จริงหรือ?

มองทะลุควันแก๊ส “ม็อบดินแดง” เด็กเกเร ชอบความรุนแรง จริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปีที่แล้ว การออกมาขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลายเป็นเรื่อง “แปลกประหลาด” สำหรับสังคมไทย และมีความพยายามที่จะหาคำตอบให้กับปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่มาในปีนี้ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วงและต่อต้านรัฐบาลกลับเปลี่ยนหน้าไป จากเด็กชนชั้นกลาง กลายเป็นกลุ่มเยาวชนที่ถูกเรียกว่า “ม็อบดินแดง” ที่มาพร้อมเสียงปุงปังของระเบิดลูกปิงปองและแสงสว่างวาบของพลุไฟที่พวกเขาใช้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ท่ามกลางความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เพื่อควบคุมม็อบ เสียงของประชาชนที่เคยสนับสนุนม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ค่อย ๆ เบาบางลง เพราะภาพจำที่ว่าม็อบดินแดงคือเด็กเกเร แต่ความจริงเบื้องหลังหมอกควันแก๊สและเสียงประทัดเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ Sanook พูดคุยกับ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ลงพื้นที่พูดคุยกับเยาวชนม็อบดินแดง เพื่อหาคำตอบว่าทำไม เยาวชนเหล่านี้จึงสู้สุดใจ แม้จะโดนปราบปรามอย่างรุนแรง และแทบจะไม่มีเสียงสนับสนุนเลยก็ตาม 

“ม็อบดินแดง” พวกเขาคือใคร 

“เขาเป็น The bottom of the pile คือเป็นคนที่อยู่ระดับล่างที่สุดของสังคมเมือง สังคมเมืองกรุงเทพ ไม่ใช่แค่เป็นคนจนนะแต่เป็นลูกคนจน คือลำบากมากกว่าคนจน แต่เขาคือลูกหลานคนจนที่รอดแล้ว รอดแล้วแปลว่าอะไร เด็กที่เราสัมภาษณ์ทั้งหมด 30 คน ทุกคนเป็นเด็กที่ทำงาน หาเลี้ยงชีพได้แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาครอบครัว ลองมาทุกวิถีทาง คือหางานทำมาทุกรูปแบบแล้ว จนทุกคนไม่ซื้อมอเตอร์ไซค์ได้ ก็ย้ายออกมาจากสลัม มาอยู่บ้านเช่าได้แล้ว หรือไม่งั้นก็เริ่มมีเงินไปลงทุน คือเป็นเด็กที่รอดแล้ว พูดง่าย ๆ คือเขาเป็นครีม เขาเป็นท็อปของเด็กที่ยากจนที่สุด คือไม่ใช่แบบที่เราคิด ไม่ได้เป็นเด็กแว้น เด็กเหลวแหลก เด็กไม่มีงานจะทำ เป็นแก๊งสเตอร์” ผศ.ดร.กนกรัตน์เริ่มเล่า 

มากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนที่เข้าร่วมม็อบดินแดงคือ “เด็กจนเมือง” ที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำในทุกมิติของสังคม ทั้งเรื่องครอบครัว เศรษฐกิจ การจ้างงาน และการศึกษา โดย ผศ.ดร.กนกรัตน์ ระบุว่า เยาวชนกลุ่มนี้คือคนที่หลุดออกจากการศึกษา ซึ่งแตกต่างจากเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว ที่เรียกร้องเรื่องคุณภาพการศึกษาที่จะสามารถตอบสนองความฝันในอนาคตของพวกเขาได้ เพราะสำหรับเยาวชนม็อบดินแดงแล้ว การศึกษาไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาเลย แต่ชีวิตของพวกเขาคือการ “ทำมาหากิน”

“นอกจากนี้ เยาวชนกลุ่มนี้ยังถูกล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐมากที่สุด คือคนจนเป็นคนที่ถูกล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว แล้วนี่คือเด็กจน ชีวิตประจำวันของเด็กที่เราสัมภาษณ์ ร้อยละร้อยเคยถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ตัวอย่างเยอะแยะไปหมด รีดเงิน รีดบุหรี่ ไถตังค์ ยัดยา ยัดข้อหา จับมอเตอร์ไซค์ จับเรื่องจราจรทุกสิ่งอย่าง ในขณะที่รถเก๋งไม่เคยโดน เขาคือคนที่โดนตลอดเวลา พูดง่าย ๆ คือความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐกับเขาเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน” ผศ.ดร.กนกรัตน์ชี้ 

แม้เยาวชนกลุ่มนี้จะอยู่ล่างสุดของเส้นชนชั้นในสังคม แต่พวกเขาก็สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและข้อจำกัดของชีวิต จนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทว่าการระบาดของโรคโควิด-19 และนโยบายของรัฐบาลในการจัดการกับโรคโควิด-19 กลับดึงพวกเขาให้กลับสู่เส้นความยากจนอีกครั้ง โดย ผศ.ดร. ยกตัวอย่างเคสของเยาวชนคนหนึ่งที่เข้าร่วมม็อบดินแดง ระบุว่า 

“มีเด็กคนหนึ่ง เรียนจบ ปวช. ทำงานเป็นช่างซ่อมบำรุงตามคอนโด ทำงานประจำ กลางคืนขับวินมอเตอร์ไซค์ ทำงานครึ่งปี เก็บเงินได้สามแสน แล้วรีบหาแฟนมาอยู่หอด้วยกันเลย ประหยัดค่าเช่าบ้าน คือเขาคิดทุกวิถีทาง ถามว่าเขาไปลงทุนอะไร เขาบอกว่าไปลงทุนตู้คีบตุ๊กตา ถามว่าทำไมต้องเป็นอันนี้ เขาบอกว่าถามตำรวจแล้ว อันนี้จ่ายค่าใต้โต๊ะน้อยสุด ทำมาสองสามเดือน รายได้แสนกว่า แต่พอโควิด-19 มา ไม่มีอะไรเหลือ ตู้ถูกยึดไปแล้ว” 

ลุกขึ้นสู้เพราะถูกดับฝันจากมาตรการรัฐ 

เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เยาวชนม็อบดินแดงกลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน ถูกลดเงินเดือน หรือถูกให้ออกจากงาน นอกจากนั้น พวกเขายังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งในด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือเงินเยียวยาตามมาตรการต่าง ๆ เพราะเยาวชนเหล่านี้ถือเป็น “แรงงานนอกระบบ” 

“เด็ก 3 คน นอนบนถนนแล้ว จาก 30 คนที่เราสัมภาษณ์ เขาบอกว่า แต่ก่อนเขาเคยเห็นเด็กที่เป็นคนไร้บ้าน เขาไม่เคยคิดเลยว่าท้ายที่สุดชีวิตของเขาต้องมาจบลงที่เป็นคนไร้บ้าน คือเด็กที่พยายามทำทุกวิถีทางให้ตัวเองรอด แล้วสุดท้ายถูกดึงลงมา กลับมาอยู่จุดเริ่มต้นของชีวิต คือความโกรธของเด็กรุ่นนี้มันมากกว่าเด็กที่เป็นเด็กไม่ดีของเด็กยากจน คือเขาไม่ใช่เด็กเลว” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว 

นอกจากความโกรธเนื่องจากมาตรการรับมือโรคโควิด-19 ที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล เยาวชนเหล่านี้ยังมีความเข้าใจในเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่ง ผศ.ดร.กนกรัตน์ ชี้ว่าแม้ว่าหลายคนจะเพิ่งมาม็อบครั้งแรก แต่เยาวชนเหล่านี้กลับตระหนักรู้และเชื่อในสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 

“ถามว่าอะไรคือเป้าหมาย ก็คือมีแค่ 2 อัน คือหนึ่ง อยากให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงเขา คือเขาอยากพูด คือในขณะที่เด็กปีที่แล้วตะโกนจนปัญหาได้รับการพูดถึง ไม่มีปัญหาของเด็กพวกนี้เลยแม้แต่นิดเดียว เขาอยากให้ผู้ใหญ่รับรู้จริง ๆ ว่าชีวิตของเขามันทุกข์ทรมานขนาดไหม คือเขารู้สึกเจ็บปวด ทุกคนมีความเจ็บปวดว่ากูเป็นเด็ก กูถูกกระทำขนาดนี้ คือชีวิตมันน่าเศร้ามากสำหรับเขา แล้วเขารู้ว่าเขาเป็นเด็ก เขาอยากให้ผู้ใหญ่ได้ยิน ทุกคนจะมีข้อเรียกร้องคล้าย ๆ กัน คือนายกมาฟังหน่อยได้ไหม ว่าปัญหาของเขาคืออะไร เปิดเวทีเลย อยากพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย”

“เรื่องที่สอง คือการเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก 90% ของผู้ชุมนุม ถามว่าอะไรเป็นข้อเสนอสำหรับทางออก ก็คือ เขาอยากให้นายกฯ ลาออก มันก็มีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นนายกฯ เราก็พยายามหาคำอธิบายสัก 2 ปัจจัย คือหนึ่ง เป็นเรื่องข้อจำกัดของข้อมูลและองค์ความรู้ เขาไม่เข้าใจฝั่งนิติบัญญัติ อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ เขาจะรู้จักแต่ฝั่งบริหาร ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ระบบราชการ มันคือนายกฯ กับคณะรัฐมนตรี นั่นก็คือความรู้ที่จำกัดเท่านี้แหละว่า อย่างน้อยมันก็น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง และสองปัญหาของเขาเป็นปัญหาเร่งด่วนเพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกร้อง คือให้ฝ่ายบริหารที่ชัดๆ ว่ามันเป็นคนออกนโยบายเหล่านี้ อย่างน้อยควรจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง” ผศ.ดร.กนกรัตน์อธิบาย 

ทำไมต้องใช้ความรุนแรง 

ความรุนแรงกลายเป็น “ตราบาป” ของม็อบดินแดง ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะจากฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายตรงข้าม ผศ.ดร.กนกรัตน์ อธิบายว่า เหตุผลการใช้ความรุนแรงของม็อบดินแดงแบ่งออกได้ 4 เหตุผล ได้แก่ เชื่อว่าสันติวิธีแบบปีที่แล้วจะไม่ได้ผล, เป็นการต่อต้านอำนาจรัฐในแบบที่คนธรรมดาจะทำได้, เป็นทางเดียวที่จะกำหนดความเป็นความตายของพวกเขา และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด  

“ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่อยู่รอบตัวคนรุ่นใหม่ชนชั้นล่าง มันกำกับรูปแบบการจัดการความขัดแย้งของเขา มันคนละเรื่องกับการที่ว่าเห็นอยู่กับคนตีรันฟันแทงก็เลยเป็นคนตีรันฟันแทงใช่ไหม มันไม่ใช่แบบนั้น หรือไม่ใช่บอกว่า ถ้าเป็นคนดีจริง คุณอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เลว คุณก็ต้องเป็นคนดีได้สิ เหมือนชนชั้นกลางสอนลูกหลาน มันไม่ใช่แบบนั้น ประเด็นคือโครงสร้างของชีวิตคนเหล่านี้ อยู่ในโครงสร้างที่เผชิญปัญหาทุกนาที เผชิญกับความขัดแย้งทุกนาที เผชิญกับการถูกกระทำตลอดเวลา”

“เขาเจอแรงกดดันจากพ่อแม่ทุกวัน เดินออกนอกประตูเจอแก๊งบูลลี่หน้าปากซอย เดินไปหัวถนนเจอตำรวจไถตังค์ คนค้ายายืนรออยู่หน้าบ้าน มึงจะเข้าก๊วนกูไหม คือเขาอยู่กับโครงสร้างที่เขาต้องเผชิญกับปัญหาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการเผชิญหน้า ปะทะ ตอบโต้ มันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปัญหาในชีวิตประจำวันของเขา การเถียงพ่อแม่ การด่าคนอายุเท่ากัน การต่อยตีเพื่อเอาตัวรอด การเถียงกับเจ้าหน้าที่รัฐ การเผชิญหน้ากับคนตลอดเวลา มันปกติสำหรับคนชนชั้นล่าง เขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”

เมื่อเยาวชนส่วนใหญ่ในม็อบดินแดงเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งที่แวดล้อมไปด้วยปัญหา แรงกดดัน จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมพวกเขาจึงเลือกใช้ “ความรุนแรง” ในการเคลื่อนไหวขบวนการ เพราะมันคือรูปแบบของการจัดการกับการถกเถียง การปะทะ และการถูกกระทำของพวกเขานั่นเอง 

“ในขณะที่นักเรียนมัธยม ลูกหลานชนชั้นกลาง เขาพูดด้วยภาษา เขาถกเถียงปัญหาความขัดแย้งด้วยการเต้นแฮมทาโร่ การใส่ชุดไดโนเสาร์บนท้องถนน นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำเดินพาเหรด LGBTQ+ คำกล่าวปราศรัยเต็มไปด้วยเนื้อหาเชิงลึกทางประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์โครงสร้างทางการเมือง นำเสนอแผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนพวกนี้ทำไม่เป็น มีเด็กคนหนึ่งบอกกับเราว่า “ม็อบปีที่แล้วเป็นม็อบของคนรู้หนังสือ ม็อบปีนี้เป็นม็อบของเขา คนไม่รู้หนังสือ” สำหรับเขา มันเป็นคนละไวยากรณ์ คนละภาษา นั่นคือภาษาของลูกหลานของคนที่ซับซ้อน เข้าใจโลกที่ซับซ้อน แต่สำหรับเขา ไวยากรณ์ ภาษาของเขา มันคือพลุ ลูกกระทบ การเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมันสร้างความเดือดร้อน แต่นั่นคือภาษาของเขาที่เขาพูด” ผศ.ดร.กนกรัตน์ชี้ 

มองทะลุควันแก๊สและเสียงระเบิด 

ม็อบดินแดงกลายเป็นม็อบเยาวชนที่ผู้ใหญ่หันหลังให้ เพราะหลายคนมีคำอธิบายให้กับการกระทำที่รุนแรงของเยาวชนกลุ่มนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ สังคมมักจะมี “ภาพจำ” ของเด็กจนว่าต้องเป็นเด็กเกเรที่ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา แต่สิ่งที่ ผศ.ดร.กนกรัตน์ต้องการสื่อสาร คือการเปิดพื้นที่ในการสร้างความเข้าใจเยาวชนกลุ่มนี้ใหม่ 

“ถ้าเราอยากจะเข้าใจปัญหาปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้  และโลกในอนาคตของเรานะ เราต้องทำความเข้าใจเขา ก่อนที่จะตัดสินเขาจริงๆ ว่าเขาคือใคร พอลงไปคุยกับเขา เขาไม่ใช่แบบที่เราคิดเลย เขาเป็นอีกแบบหนึ่งเลย เขาไม่ใช่เด็กจนธรรมดา เขาคือเด็กจนที่เก่ง ถ้าสังคมกำลังพูดถึงแรงงานมีฝีมือในอนาคต นี่คือคนส่วนใหญ่ของการจ้างงานในอนาคตของสังคมไทย” 

นอกจากจะเป็นแรงงานสำคัญในอนาคตของประเทศแล้ว เยาวชนกลุ่มนี้ยังเป็น “พันธมิตรที่สำคัญ” ในการผลักดันและเปลี่ยนแปลงสังคม หากผู้ใหญ่ยังหลงลืมและเฉยชากับพวกเขา ปล่อยให้พวกเขาโดนจับปราบและถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อไป สุดท้ายแล้วฝ่ายประชาธิปไตยก็อาจจะสูญเสียพันธมิตรที่ต้องการเห็นสังคมที่ดีขึ้นและมีความฝันไม่ต่างจากเยาวชนชนชั้นกลางก็เป็นได้ 

“ม็อบปีที่แล้ว ความฝันของเขาคือชีวิตในอนาคตที่เขาอยากเห็น อยากเป็น อยากมี สำหรับม็อบปีนี้ ความฝันของเขาเรียบง่ายมาก คือการมีชีวิตวันนี้ที่ดีขึ้น คือการมีชีวิตวันนี้ที่ดีกว่าตอนนี้ คือมันคนละเรื่อง ในขณะที่ปีที่แล้ว ทุกคนพูดถึงอนาคตของตัวเอง ปีนี้ทุกคนพูดถึงชีวิตในวันนี้ ที่นอนในคืนนี้ อาหารในมื้อต่อไป การได้งานในวันพรุ่งนี้ การมีครอบครัวที่มีเงินเลี้ยงชีพได้ นี่คือคำตอบทั้งหมดเลยนะ” ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook