นายกราชบัณฑิตฯ มองต่างมุม "พระเกี้ยว" คือ สัญลักษณ์ความเสมอภาค-เสรีภาพของคนไทย

นายกราชบัณฑิตฯ มองต่างมุม "พระเกี้ยว" คือ สัญลักษณ์ความเสมอภาค-เสรีภาพของคนไทย

นายกราชบัณฑิตฯ มองต่างมุม "พระเกี้ยว" คือ สัญลักษณ์ความเสมอภาค-เสรีภาพของคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกราชบัณฑิตยสภา แจกแจงเหตุผล 6 ประการ เพื่อแสดงความเห็นที่แตกต่างว่า "พระเกี้ยว" ไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอำนาจเก่า การกดขี่ และความไม่เท่าเทียม แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคและเสรีภาพของคนไทย ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้เมื่อเมืองไทยยังไม่มีประชาธิปไตย

เมื่อเย็นวานนี้ (24 ต.ค.) ศ.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา ในฐานะศิษย์เก่า และอดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอธิบาย 6 ประการ ที่แสดงให้เห็นว่า "พระเกี้ยว" เป็นสัญลักษณ์แทนสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอำนาจเก่า การกดขี่ และความไม่เท่าเทียม ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคและเสรีภาพของคนไทย โดยมีเนื้อหาของโพสต์ดังต่อไปนี้

"ผมสดับตรับฟังเรื่องนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวอันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ปี 2564 นี้ โดยอ้างว่ามันเป็นการสำแดงรูปแบบของอำนาจเก่า ต้องเกณฑ์คนมาแบกหาม แสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์

ผมจึงใคร่ขอให้เราท่านพิจารณาเรื่องนี้ให้สุขุมรอบคอบ

ประการที่ 1

พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้เป็นตราของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้พวกเราชาวจุฬาฯ อันเป็นประชาชนคนธรรมดาได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอหน้ากันสนองพระราชปณิธานของพระราชบิดา ซึ่งแต่เดิมจำกัดเฉพาะลูกขุนนาง

ประการที่ 2

รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกระบบไพร่ คือ ประชาชนที่ต้องสังกัดมูลนายสักเลขไว้ที่ข้อมือ จะเรียกใช้แรงงานบ้าน งานสงคราม งานสาธารณะใดๆ ก็ได้ตามใจนายจนตาย จะย้ายนายไม่ได้ เมื่อนายตายก็ตกเป็นไพร่หลวง พวกไพร่ไม่มีสิทธิเสรีภาพใดๆ การยกเลิกระบบไพร่ให้เป็นไทแก่ตัว ก็เท่ากับทรงขัดผลประโยชน์เจ้านายขุนนางทั้งแผ่นดิน แต่เพื่อความเสมอภาคของราษฎร พระองค์ก็ทรงเสี่ยงกับเสถียรภาพของราชบัลลังก์

ประการที่ 3

รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส ในช่วงเวลาเดียวกับการเลิกไพร่ โดยไม่มีผู้ใดเดินขบวนเรียกร้อง แต่พระองค์ทรงเห็นว่าระบบทาสเป็นความป่าเถื่อน กดขี่ข่มเหงเสมือนมนุษย์เป็นสัตว์เดียรฉาน เมื่อต้องขายตัวขายลูกเมียมาเป็นทาส แม้ลูกที่เกิดในขณะเป็นทาสก็เป็นสมบัติของนายคือ ทาสในเรือนเบี้ย ไม่มีปัญญาหาเงินมาไถ่ถอน นายจะเฆี่ยนจะฆ่าจะทำอนาจารก็หาความเป็นธรรมมิได้ พระองค์จึงทรงเลิกระบบทาสที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานานหลายศตวรรษโดยไม่มีสงครามกลางเมืองอย่างในหลายประเทศ ทาสและไพร่จึงได้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เท่าเทียมกันทั้งแผ่นดิน

ประการที่ 4

พระองค์ทรงยกเลิกระบบการบริหารราชการแผ่นดินจากระบบจตุสดมถ์ (สี่แท่ง) คือ เวียง วัง คลัง นา ที่มีมาแต่ครั้งก่อนพระบรมไตรโลกนาถในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แล้วทรงสถาปนาระบบราชการเป็นกระทรวงทบวงกรม อันเป็นการกระจายพระราชอำนาจ และเปิดโอกาสให้ไพร่ทาสราษฎรทั้งปวงได้รับราชการ มีรายได้ มีเกียรติยศ อีกทั้งทรงออก พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร 2 ปีแล้วปลดออกไปทำงานอาชีพมีรายได้ของตน เขาเหล่านี้สามารถสะสมทรัพย์ให้ร่ำรวยมีความมั่นคงในอนาคตได้เสมอหน้ากัน

ประการที่ 5

รัชกาลที่ 5 ทรงเอาชีวิตเกียรติยศและพระราชทรัพย์ของพระราชวงศ์เป็นเดิมพัน ทรงตัดพระทัยยอมสละดินแดนครึ่งหนึ่งของประเทศเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเอาไว้ เพื่อมิให้อังกฤษและฝรั่งเศสฉีกประเทศไทยออกเป็นสองเสี่ยงตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงสั่งลาบ้านเมืองเสด็จรอนแรมทางทะเลที่แสนไกลและอันตรายไปเจรจาหามิตรภาพกับนานาประเทศไกลถึงรัสเซีย/นอร์เวย์ที่หนาวเหน็บนานถึงแปดเดือนเพื่อเอามิตรไมตรีมาช่วยค้ำจุนบ้านเมืองที่กำลังล่อแหลมต่อการตกเป็นเมืองขึ้น เอกราชมีราคาแพงกว่าลมปราณของพระองค์ที่ทรงวางเป็นเดิมพันเพื่อศักดิ์ศรีแห่งเสรีภาพและเอกราชของคนไทย ให้เท่าเทียมนานาอารยประเทศ

ประการที่ 6

พระราชกรณียกิจที่กล่าวมาอาจมองว่าเป็นหน้าที่ของพระราชาที่ต้องทำ แต่ยังมีอีกภาพหนึ่งที่อาจเรียกว่าพระนิสัยที่รักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อาทิ ทรงให้เลิกหมอบคลาน ทรงนิยมเสด็จประพาสต้นแบบสามัญชนไปเยี่ยมเยียนพบปะพูดจาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับราษฎรใกล้ไกล และทรงนับไว้เป็นพระสหาย แม้เสด็จไปขึ้นรถรางแล้วถูกนายตั๋วไล่ลงเพราะไม่มีเงินค่าโดยสาร ก็เสด็จลงแต่โดยดี มิได้แสดงพระราชอำนาจแม้แต่น้อย พฤติกรรมเหล่านี้คือจิตวิญญาณของมนุษย์ผู้มีความเท่าเทียมอยู่ในพระกมลสันดาน

ดังนั้น "พระเกี้ยว" จึงไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอำนาจเก่า การกดขี่ และความไม่เท่าเทียม แต่พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคและเสรีภาพของคนไทย ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้เมื่อเมืองไทยยังไม่มีประชาธิปไตย

พระเกี้ยวจึงเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์แห่งการอุทิศชีวิตต่อสู้แสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคอันเป็นเอกลักษณ์ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ดังนั้นการอัญเชิญพระเกี้ยวไม่ใช่เพียงการประกาศเกียรติภูมิจุฬาฯ แต่เป็นการประกาศว่า เราคนไทยจักธำรงความเป็นคนที่มีกตัญญูกตเวที พร้อมใจกันยึดถือพระราชมรดก ความเท่าเทียมกันของมนุษย์นี้เป็นอุดมคติร่วมแรงร่วมใจกันทำนุบำรุงนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคต

อย่าหวังเลยว่าเราจะหวั่นไหวที่ไม่มีแห่พระเกี้ยว เพราะพระเกี้ยวสถิตอยู่ในจิตวิญญาณแห่งความเท่าเทียมกันของเราเสมอ

จากเด็กกำพร้ายากจนคนเกิดกลางสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ดีมีอนาคตมาถึงจุดนี้ก็เพราะโอกาสแห่งความเท่าเทียมที่ทรงพระราชทานไว้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook