มาร์ค ย้ำไทย-เขมรไม่กระทบอาเซียน
(14พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เรียกร้องให้มีการหา รือเพื่อคลายความตึงเครียดระหว่างกัมพูชาและไทย ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ว่า ในฐานะประธานและสมาชิกของอาเซียนว่าไทยจะไม่นำปัญหาดังกล่าวกระทบต่อการทำงาน ซึ่งได้พิสูจน์เรื่องนี้มาตั้งแต่การประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น
"ทุกอย่างดำเนินการไปตามปกติ และไทยจะทำหน้าที่ในฐานะประธานอาเซียน ไม่ให้เรื่องหรือปัญหาที่กระทบกระทั่งกัน ไปกระทบกับการเดินหน้าความร่วมมือของอาเซียน และไม่กระทบกับการที่อาเซียนจะดำเนินนโยบายในเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก" นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า พรุ่งนี้ (15 พ.ย.) จะพบปะหารือกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ก็จะพูดเพื่อให้เกิดความสบายใจ แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นรูปธรรมตรงนี้ คือ การทำหน้าที่ของไทยตามปกติ ซึ่งมั่นใจว่า ในฐานะประธานอาเซียนจะเป็นไปตามนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะหารือนอกรอบหรือทวิภาคีกับ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดกำหนดการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่เท่าที่ดูกำหนดการจะรัดตัวค่อนข้างมาก เพราะจริงๆ การประชุมช่วง 2 วันนี้ คือการประ ชุมผู้นำเอเปก กัมพูชาไม่ได้เป็นสมาชิก แต่กัมพูชามาตามคำเชิญของไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีเวลาประชุม 1 -2 ชั่วโมง อีกทั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็มีเวลาจำกัด การจัดเวลาจะเน้นไปที่การประชุมดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทางการกัมพูชาควบคุมตัว นายศิวรักษ์ โชติพงษ์ วิศวกรไทย บริษัท กัมพูชา แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส หรือ CATS ว่า รัฐบาลคงดำเนินการไปตามปกติ โดยจะพยายามส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมผู้ต้องหาว่า ได้รับความเป็นธรรมในข้อกล่าวหาอย่างไรบ้าง ซึ่งยอมรับว่า แปลกใจที่ถูกตั้งข้อหาว่า ส่งข้อมูลตารางเวลาการบินเที่ยวบินพิเศษของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เปิดเผยอยู่แล้ว และเป็นกระบวนการปกติ เช่น เครื่องบินลำไหนบินผ่านน่านฟ้าประเทศไหนก็ต้องแจ้งแผนการบินอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่ากัมพูชานำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ แต่ไทยเป็นฝ่ายยึดกติกา และจะดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับคนไทยอย่างตรงไปตรงมา เมื่อถามอีกว่า หากกัมพูชายังนิ่งเฉย แม้กระทรวงการต่างประเทศจะทำหนังสือเพื่อขอเข้าเยี่ยมคนไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงจะเป็นเรื่องที่แปลก หากเราไม่สามารถเข้าเยี่ยมคนไทยได้ เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ว่านายศิวรักษ์อาจจะถูกทรมาน นายกรัฐมนตรีระบุว่า เรากำลังตรวจสอบในเรื่องนี้ เพราะการที่จะเข้าไปเยี่ยมก็เพื่อที่จะดูแลว่า เขาได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือไม่
"เป็นจุดที่ผมต้องย้ำว่า คนของเราที่ไปสร้างปัญหาขึ้นมา ได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้แค่ไหน เพราะกระทบกระเทือนมาถึงคนไทย โดยไม่จำเป็นเลย เรื่องทั้งหมดคนที่ไปก่อเรื่อง ควรจะยุติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ" นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ควรให้นานาชาติเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยังต้องการแก้ปัญหาตรงนี้ 2 ฝ่ายเท่านั้น