อินเตอร์โปล : ทางลัด? จับ ทักษิณ
การติดตามล่าตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากประเทศกัมพูชาของรัฐบาลไทย ที่ล้มเหลวลง จากการใช้ "ช่องทางปกติ" โดยอาศัย "สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน" ที่ได้ทำไว้ต่อกัน
ทำให้หลายคนเริ่มนึกถึงระบบ ตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โปล ว่าจะใช้เป็นเส้น "ทางลัด" ที่จะนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาดำเนินคดี
รวมถึงกรณี "รัฐบาลกัมพูชา" ที่ปฏิเสธส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้ ทาง "รัฐบาลไทย" ก็ได้ใช้วิธีการให้ "ตำรวจสากล" ของบ้านเรา ติดต่อไปยัง "ตำรวจสากล" ของประเทศกัมพูชา ให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ตำรวจไทย
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า "ระบบตำรวจสากล" จะเป็น "ทางเลือก" ที่พึ่งพิงได้มากน้อยแค่ไหน ในการจับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่หลบหนีคดีและย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ตามประเทศต่างๆ กลับมาดำเนินคดี
ซึ่งก็ต้องมาทำความรู้จัก "ตำรวจสากล" หรือที่เรียกว่า "อินเตอร์โปล" กันก่อน
องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ "อินเตอร์โปล" เป็นองค์การที่เกิดจากความพยายามร่วมมือกันในระหว่างประเทศเกี่ยวกับงานของตำรวจ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือทุกองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส
"อินเตอร์โปล" เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากองค์การสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 187 ประเทศทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกของ "อินเตอร์โปล"
ภารกิจสำคัญอันหนึ่งของ "อินเตอร์โปล" ก็คือ การร่วมมือกับสมาชิก ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการจัดตั้ง "หน่วยตำรวจสากล" ขึ้นมาในการจับกุม ปราบปรามและสอบสวนคดีอาชญากรรม รวมทั้งความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ
และหนึ่งในนั้นก็คือ "การส่งผู้ร้ายข้ามแดน" ด้วย
ซึ่งที่ผ่านมาผลงานของตำรวจสากลที่มีให้เห็น ก็คือ ตำรวจสากลของไทย และเจ้าหน้าที่สถานทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย ได้ติดตามตัวนายปาสคาล ควิรีเน็น นักท่องเที่ยวชาวเบลเยียม "ผู้ร้ายข้ามแดน" ในคดีฆ่าผู้อื่นเสียชีวิตที่ประเทศเบลเยียมและได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งตำรวจสากลได้เข้าจับกุม และควบคุมตัวส่งกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศเบลเยียมต่อไป
หรือการดำเนินงานของ "ตำรวจสากล" ในการนำหมายเอฟบีไอจับกุมนายไบรอัน ผู้ต้องหาตามหมายจับของเอฟบีไอ ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กและข่มขืนผู้หญิงในปี พ.ศ.2532 ในลาสเวกัส และได้หนีมากบดานในพื้นที่ จ.น่าน เป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ จ.น่าน โดยหลังจากแจ้งข้อหา ตำรวจสากลได้ควบคุมตัวไปดำเนินการเพื่อส่งไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐ ตามข้อตกลงเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ส่วนกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและมีการออกหมายจับ ขั้นตอนก็คือ ตำรวจสากลของไทยก็ทำเรื่องส่งไปยังองค์การตำรวจสากลกลางที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ "ออกหมายจับกลาง" หรือที่ตำรวจไทยเรียกว่า "หมายแดง"
และเมื่อตำรวจสากลกลางออกหมายแล้ว ก็ส่งไปยัง 154 ประเทศที่เป็นสมาชิกทั่วโลกเพื่อให้ตรวจสอบการพำนักของผู้ต้องหาตามหมายนั้น
จากนั้นเมื่อ "ผู้ต้องหา" ไปปรากฏตัวอยู่ประเทศไหน ก็ประสานให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประเทศนั้นยกเลิกวีซ่าส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหนึ่งในแปดฐานความผิดสากลของ "อินเตอร์โปล"
จากนั้นตามหลักกฎหมายการเข้าเมือง ก็ต้องผลักดันออกนอกประเทศ ตำรวจไทยก็บินไปรับตัวจากสนามบินได้ทันที
กระบวนการนี้ถือเป็น "ช่องทางลัด" ที่ทำกันเป็นประจำ "อินเตอร์โปล" รู้ดี เป็นวิธีที่ง่าย เร็ว และทำได้ทันที ไม่ต้องยื่นเรื่องขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไม่ต้องผ่านศาล
และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทย ก็ได้ประสานไปยัง "องค์การตำรวจสากล" เพื่อให้ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหลบหนีคดีที่ดินรัชดาภิเษก และกรณีที่ถูกหมายจับ ข้อหายุยง ส่งเสริมให้เกิดเหตุรุนแรง เพื่อล้มล้างรัฐบาลในเหตุการณ์จลาจลเมื่อเดือนเมษายนด้วย
และตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ถูกขึ้น "หมายแดง" หรือ "Red Notice" ไว้ในเว็บไซต์ขององค์การตำรวจสากลเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การใช้ "อินเตอร์โปล" ในการตามจับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น จะมีข้อติดขัดตรงที่ว่า "องค์การตำรวจสากล" จะไม่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมผู้ต้องหาถึงในประเทศที่ผู้ต้องหาไปพำนักอยู่ด้วยตนเอง
แต่จะประสานให้ "ตำรวจสากล" ของประเทศนั้นๆ ที่เป็นสมาชิกเข้าจับกุมแทน
ปัญหาจึงอยู่ที่ "หน่วยตำรวจสากล" ซึ่งก็คือ ตำรวจของประเทศนั้นๆ ซึ่งถ้าหาก "ผู้นำประเทศ" ของเขา สนับสนุนให้ผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีพักอาศัยอยู่ได้ ตำรวจสากลของประเทศนั้นๆ ก็คงไม่กล้าเข้าจับกุม
อย่างตัวอย่างที่เพิ่งเห็นกันหมาดๆ ก็คือ กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปที่ประเทศกัมพูชา ตำรวจสากลของเราก็ได้ประสานกับตำรวจสากลของกัมพูชาเพื่อให้จับกุมตัวให้
แต่เมื่อ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ประกาศชัดเจนมาตลอดว่า พร้อมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาพักอาศัยในกัมพูชาได้ ตำรวจสากลของกัมพูชา จึงนิ่งเฉย
สรุปว่า "อินเตอร์โปล" เป็นทางลัด แต่จะติดขัดทันทีหากผู้นำประเทศนั้น รู้เห็นเป็นใจกับผู้ต้องหา