ผอ.เกษมราษฎร์ออกโรงเคลียร์ใส่สเต็นท์คนไข้ ยันไม่ได้หัวหมอ

ผอ.เกษมราษฎร์ออกโรงเคลียร์ใส่สเต็นท์คนไข้ ยันไม่ได้หัวหมอ

ผอ.เกษมราษฎร์ออกโรงเคลียร์ใส่สเต็นท์คนไข้ ยันไม่ได้หัวหมอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผอ.รพ. ยันไม่ได้หัวหมอ เบิกตามคู่มือ สปสช. ไม่สนคำขู่เรียกเงินคืน พร้อมให้ศาลตัดสิน โวปี 52 ใส่สเต็นท์ให้คนไข้นับ 1,800 ราย

นพ.ธวัชชัย วานิชกร ผอ.รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ให้สัมภาษณ์ "เดลินิวส์" กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรียกเงินคืน กรณีโครงลวดค้ำยันหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ สเต็นท์ชนิดเคลือบยา ว่า พอ สปสช.มีหนังสือมาถึงตนเมื่อเดือน ส.ค. 2552 ขอเรียกเงินคืน 26,280,000 บาท ตนก็ทำหนังสืออุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า รพ.ได้ทำถูกต้องตามคู่มือของ สปสช. อีกทั้งราคากลางของ สปสช.ที่ระบุในคู่มือ ก็เป็นราคาเดียวกับกรมบัญชีกลาง 8.5 หมื่นบาท ตั้งแต่ปี 2548-2552 รพ.เบิกตามวิธีการเดิม ราคาเดิม ถ้ากรณีสเต็นท์มีปัญหาอุปกรณ์ตัวอื่นก็มีปัญหาหมด ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องไปไล่ราคาอุปกรณ์และอวัยวะเทียม 200 กว่าตัว และการเรียกเงินคืนกรณีสเต็นท์ของ สปสช.จึงเป็นการเรียกย้อนหลัง แต่คำสั่ง ระเบียบต่า ๆ จะไม่มีผลบังคับย้อนหลัง ตนก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้ 2 เดือนแล้วก็ยังรอคำตอบอยู่

"ยืนยันว่าผมไม่ได้หัวหมอ เราปฏิบัติตามระเบียบ แต่ระเบียบต้องไม่ใช้ย้อนหลัง และต้องมีความชัดเจน ถ้าจะให้เบิกตามราคาที่จัดซื้อจริงก็ต้องบอกว่าให้มีอินวอยซ์แนบ มีการดำเนินการเท่าไหร่ สิ่งที่ผมห่วงคือถ้าให้เบิกตามราคาซื้อจริง สุดท้ายคนจะไปฮั้วกัน และค่อยๆ เปลี่ยนบิลราคาสูงขึ้นมา ประเทศชาติจะไม่มีทางได้ของถูกเลย ทางที่ดีที่สุด คือ กำหนดราคากลางให้ชัดเจนว่าเท่าไหร่ ถ้าราคาอุปกรณ์ลดลง ก็ลดราคากลางลงมาก็ไม่มีใครว่า และอุปกรณ์ตัวไหนที่ รพ.ซื้อแล้วขาดทุนก็ควรจะปรับตรงนั้นด้วย"นพ.ธวัชชัย กล่าวและว่า ตอนนี้ยังไม่กล้าเบิกเงิน แต่ได้ทำหนังสือหารือไปยัง สปสช. ว่า รพ.จะขอเบิกตามราคากลางไปก่อน เพราะคู่มือปี 2553 บอกว่าให้บวกค่าบริหารจัดการ ก็ไม่รู้จะบวกไปอีกเท่าไหร่ ตรงนี้ก็จะมีปัญหาอีก เพราะไม่รู้ว่าจะบวกค่าดำเนินการเท่าใด อย่างกรณีสเต็นท์ไม่ได้มีชิ้นเดียว มีถึง 49 ขนาด ไม่ใช่ซื้อ 1 ตัวใช้ 1 ตัวหมด รพ.เป็นเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องเสียภาษีอีก 25 % จริง ๆ ต้นทุนสูงกว่า รพ.รัฐ อยู่แล้ว ดังนั้นค่าดำเนินการตามควรแก่กรณีเป็นดุลพินิจใคร ตนดีใจที่วันที่ 1 ธ.ค. สปสช.จัดซื้อสเต็นท์และให้ รพ.มาเบิก แต่วิธีการเบิกไม่ชัดเจนจะไปเบิกตรงไหน อย่างไร จะต้องเบิกสำรองกี่ตัว

นพ.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน รพ.ใส่สเต็นท์ให้ผู้ป่วยทั้งชนิดเคลือบยาและชนิดไม่เคลือบยา 4,390 ราย เฉพาะปี 2552 เดือน ม.ค.- ต.ค.ใส่สเต็นท์ให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,399 ราย เป็นชนิดเคลือบยา 50 % นอกจากนี้ยังใส่สเต็นท์ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมอีกประมาณ 200 กว่าราย คนไข้ที่มารักษากับ รพ.อีก 100-200 ราย โดยผู้ป่วยที่มารักษากับทาง รพ.ส่วนใหญ่ 80 % จะถูกส่งต่อมาจาก รพ.รัฐในเขตปริมณฑล ทั้งนี้ รพ.มีแพทย์ประจำดูแลด้านนี้ 2 คน พาร์ทไทม์อีก 6 คน สเต็นท์ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศเยอรมนี และ สหรัฐฯ โดย รพ.จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนไข้

ต่อข้อถามว่า บอร์ด สปสช.บางคนบอกว่าถ้า รพ.ไม่คืนเงินต้องไปเจอกันที่ศาล นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ถ้ายืนยันอย่างนั้น ก็ต้องให้คนกลางตัดสิน ซึ่งคนกลางก็ไม่มีใครมีศาลที่เดียว เนื่องจาก รพ.อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การจะจ่ายเงินออกไป 26 ล้านบาทจะต้องขออนุมัติบอร์ด และต้องชี้แจงผู้ตรวจสอบในตลาดหลักทรัพย์ และผู้ถือหุ้นได้ ตรงนี้ต้องทำออกมาให้ชัดเจนและอธิบายได้ว่า ไม่ใช่ รพ.โกง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นผู้ถือหุ้นก็รับไม่ได้

"สิ่งหนึ่งที่ผมจะยืนยันว่า รพ.ไม่ได้มีเจตนาทุจริต คือ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2551 ผมได้ทำหนังสือถึง ผอ.สปสช.เขตพื้นที่ กทม. เนื่องจาก รพ.ตรวจพบว่า สปสช.มีการจ่ายเงินซ้ำซ้อน โอนเข้าบัญชีให้แก่ รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น กรณีผ่าตัดหัวใจเป็นจำนวน 8.5 ล้านบาท แต่ป่านนี้ สปสช. ยังไม่ได้ตอบผมกลับมาเลยว่าจะหักเงินที่จ่ายซ้ำซ้อนหรือไม่ อย่างไร กรณีนี้เราได้ประโยชน์จะไม่บอกก็ได้ แต่จ่ายเกินมาเราก็บอกเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เราตรงไปตรงมา เพราะผมมองระบบของชาติ หากช่วยกันโกงระบบจะล้ม"นพ.ธวัชชัย กล่าว

ต่อข้อถามว่า คิดว่าเหตุใด สปสช.พุ่งเป้ามาที่ รพ. นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ไม่กล้าตอบว่าเป็นเพราะอะไร แต่อาจมองได้ว่าพอให้บริการเยอะ ก็อาจถูกมองได้ว่า ที่นี่ไม่ได้ทำจริงหรือทำชุ่ยๆ หรือไม่ ถ้าสงสัยแบบนั้นมาตรวจเมื่อไหร่ก็ได้ ตรวจผิดก็ระงับไม่ให้ทำและระงับการจ่ายเงินได้ แต่ในทางกลับกันถ้าให้บริการเยอะ ต้องดูว่าคนไข้ได้ประโยชน์หรือไม่ ข่าวการเรียกเงินคืนค่าสเต็นท์ ทำให้มองเห็นถึงความไม่ชัดเจนของระเบียบปฎิบัติ ซึ่งจะทำให้หน่วยบริการขาดความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการ จนเกิดการชะลอ ดีไม่ดี อาจจะออกจากโครงการ

เมื่อถามถึงกรณีที่ สปสช.ประมูลสเต็นท์ให้ รพ.มาเบิก นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า การประมูลช่วงต้นอาจจะดี ระยะยาวอาจจะมีปัญหา ถามว่าทำไมต้องประมูลเฉพาะสเต็นท์ ไม่ทำทั้ง 200 รายการในหมวดอุปกรณ์และอวัยวะเทียม อย่างสเต็นท์มีถึง 49 ขนาด รพ.อาจจะต้องเบิกมาสำรองสัก 5,000 อัน ตรงนี้จะทำอย่างไร เพราะคนไข้แต่ละคนใช้ขนาดไม่เหมือนกัน รพ.เกษมราษฎร์ อยู่ใน กทม.คงไม่เป็นไร พอจะวิ่งรถไปเปลี่ยนได้แต่ รพ.ต่างจังหวัดจะทำอย่างไร สุดท้ายต้นทุนจะใช่ 3 หมื่นบาทต่อชิ้นหรือไม่ ตนว่า วิธีที่ดีที่สุดคือ กำหนดราคากลาง แล้วปรับให้บ่อยๆ

นพ.ธวัชชัย กล่าวด้วยว่า ล่าสุดได้เรื่องเรื่องต่อ สปสช.ไปแล้วว่าคลินิกในเครือของ รพ. 4 แห่ง ที่ตั้งอยู่ย่านมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ทุ่งสองห้อง หลักสี่ และบางซื่อ รวมทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิ ใน รพ. เอง จะขอออกจากการเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งคลินิกแต่ละแห่งดูแลประชากรประมาณกว่า 1 หมื่นคน ในส่วนของ รพ. อีก 7.5 หมื่นคน รวมแล้วกว่า 1 แสนคน นอกจากนี้ยังรวมถึงทุติยภูมิด้วย โดยส่วนหนึ่งเพราะปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และส่วนหนึ่งมาจากการความไม่แน่นอนของระเบียบ สปสช. เปลี่ยนแปลงบ่อย คนทำงานก็ลำบาก กรณีสเต็นท์ก็เป็นส่วนหนึ่ง รพ.เกษมราษฎร์เป็นรพ.ขนาดใหญ่ยังถอย รพ.เอกชนอื่นๆ ตนก็กลัวๆ เหมือนกัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook