พระมหาไพรวัลย์ โพสต์ชี้แจง 2 ประเด็น ย้ำไม่ได้ร้องไห้เพราะผิดหวังเสียใจเรื่องยศตำแหน่ง

พระมหาไพรวัลย์ โพสต์ชี้แจง 2 ประเด็น ย้ำไม่ได้ร้องไห้เพราะผิดหวังเสียใจเรื่องยศตำแหน่ง

พระมหาไพรวัลย์ โพสต์ชี้แจง 2 ประเด็น ย้ำไม่ได้ร้องไห้เพราะผิดหวังเสียใจเรื่องยศตำแหน่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระมหาไพรวัลย์ ย้ำ ไม่ได้ร้องไห้เพราะยศตำแหน่ง คนวิจารณ์แสดงว่าดูไลฟ์ไม่จบ เศร้าใจที่คนพุทธจำนวนไม่น้อยมีความรู้ตื้นเขินเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์

จากกรณี พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไลฟ์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ประกาศเตรียมสละสมณเพศ หลังระบุว่า ตัวเองอาจเป็นต้นเหตุทำให้ พระราชปัญญาสุธี ซึ่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง ไม่ได้รับการแต่งตั้ง ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ช่วงหนึ่งของการไลฟ์ พระมหาไพรวัลย์ พูดถึงโยมแม่พร้อมร้องไห้ออกมา โดยบอกว่าหลังจากสึกแล้วกลับไปดูแลโยมแม่ ที่ร้องไห้นั้นก็นึกถึงวันที่บวชเป็นเณร ซึ่งโยมแม่ขอกอดเป็นครั้งสุดท้าย

ล่าสุด พระมหาไพรวัลย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง หลังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ของชาวเน็ตรายหนึ่งที่ระบุว่า “เรื่องการคาดหวังต่อยศตำแหน่ง เมื่อผิดหวังแล้วก็เสียอกเสียใจนั้น…เรื่องนี้มันธรรมดามากๆ สำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับสถานภาพพระสงฆ์แล้ว…การแสดงออกถึงความเสียใจต่อความผิดหวังเรื่องยศตำแหน่ง ถึงขนาดร่ำไห้ออกมา…ขออนุญาตแสดงความเห็นว่า นั่นไม่ใช่มาตรฐานที่ ‘พระดี’ ควรปฏิบัติ”

โดยพระมหาไพรวัลย์ โพสต์ข้อความชี้แจง ระบุว่า

"อาตมาไม่รู้ว่าเป็นบทความของใครนะ แต่อาตมาขออนุญาตแลกเปลี่ยน ประเด็นแรก คืออาตมาไม่ได้ร่ำไห้เพราะผิดหวังเสียใจเรื่องยศตำแหน่ง ใครก็ตามที่พูดแบบนี้แสดงว่า แม้แต่ความอดทนที่จะนั่งฟังไลฟ์สดที่เป็นประเด็นของอาตมาจนจบ ก็ยังทำไม่ได้เลย เมื่อฟังไม่จบ ก็เป็นแบบที่เห็น คือนั่งเทียนเขียนวิจารณ์ไปเอง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างคนละเรื่องกัน

"ประเด็นที่สอง ใครก็ตามที่มองเรื่องยศตำแหน่งในวงการคณะสงฆ์เป็นแค่เรื่องยศตำแหน่ง คนคนนั้นสะท้อนความตื้นเขินของตัวเองที่มีต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก

"ที่อาตมากล่าวเช่นนี้ เพราะยศตำแหน่งในทางคณะสงฆ์มันมิใช่เพียงแค่ยศตำแหน่ง มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มันผูกพันกับอำนาจในการปกครอง อำนาจในการให้คุณและให้โทษกับผู้ที่อยู่ใต้อาณัติของยศตำแหน่งนั้นๆ อย่างแยกไม่ออก ที่สำคัญที่สุด แม้เพียงตำแหน่งในฐานะของเจ้าอาวาส หากมิได้พระภิกษุผู้ที่เป็นรัตตัญญู หรือมีพรหมวิหารธรรมอย่างมากพอในการจัดการดูแล ไม่ได้ผู้ซึ่งมีที่มาที่ชอบธรรมหรือเป็นที่ยอมรับนับถือของสังฆะทั้งหมดในอาราม

"พระภิกษุผู้นั้น ถึงที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมภาร ย่อมจะตกอยู่ภายใต้ภยาคติ หรือไม่ก็ลุแก่อำนาจอย่างง่ายๆ ย่อมจะใช้อำนาจนั้น รังแกพระลูกวัดไม่ในทางใดก็ทางหนึ่งก็ได้ ถึงที่ผิดน้อยก็อาจให้ผิดมาก หรือถึงที่ไม่ชอบพอก็อาจไล่พ้นไปจากอาราม เรื่องเหล่านี้มีปรากฏให้เห็นอยู่มากแต่เก่าก่อนทีเดียว

"อาตมาดีใจที่ชาวพุทธในสังคมไทยส่วนใหญ่ เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนากันอย่างลึกซึ้งดีเหลือเกิน แต่อาตมาเศร้าใจอย่างหนึ่ง เศร้าใจที่คนพุทธจำนวนไม่น้อยไร้เดียงสาต่อหลักการปกครองในพระราชบัญญัติแห่งคณะสงฆ์ไทย"

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook