เสียงครวญ ไทย-ขะแมร์ ข้างบนตี ข้างล่างเจ็บ

เสียงครวญ ไทย-ขะแมร์ ข้างบนตี ข้างล่างเจ็บ

เสียงครวญ ไทย-ขะแมร์ ข้างบนตี ข้างล่างเจ็บ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี, วรุณรัตน์ คัทมาตย์

ไม่ได้เป็นแค่ข่าวฮอตออกทีวี แต่บรรยากาศ ร้าวลึก ระหว่างไทย-กัมพูชาได้ส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ประเทศในทุกๆ ด้าน

วันนี้แม้สถานการณ์ยัง "ทรง" อยู่ แต่ในสายตาฝั่ง "คนทำมาหากิน" กลับรู้สึกว่า จุดเริ่มต้นของการ "สูญเสีย" ได้เริ่มขึ้นแล้ว

นับตั้งแต่ประเด็น "เขาพระวิหาร" ถูกยก "ขึ้นโต๊ะ" มาเล่นบนเวทีการเมืองระดับชาติเมื่อต้นปี พ.ศ. 2551 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาก็เริ่มคลอนแคลนมาโดยตลอด ทั้งข่าวความเคลื่อนไหวของผู้นำไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับกรณีพิพาทดังกล่าว รวมไปถึงการตรึงกำลัง และการปะทะกันของทหารทั้ง 2 ฝ่ายมักปรากฏอยู่บนพื้นที่สื่อบ่อยครั้ง

ล่าสุดเมื่อประเด็นนี้ถูกเกี่ยวโยงไปถึงการตอบโต้เพื่อ "หวังผล" ในกลุ่มของผู้บริหารประเทศ ยิ่งทำให้ความอ่อนไหวของสถานการณ์แปรเปลี่ยนเป็น "วันต่อวัน" มากขึ้น ผู้รับผลกระทบโดยตรงจากการทะเลาะกันของผู้ใหญ่ก็คงหนีไม่พ้น ชาวบ้านตาดำๆ ตามแนวชายแดน และกลุ่มพ่อค้าขะแมร์-ไทยที่ทำการค้าไปมาหาสู่อยู่เป็นประจำนั่นเอง

ใครได้ใครเสีย


ความผันผวนทางเศรษฐกิจแนวชายแดนไทย -กัมพูชา จนทำให้มูลค่าตลาดสูญไปนับพันล้านบาท ดูเหมือนจะเป็น "ชิ่งแรก" และ "ชิ่งใหญ่" ของข้อมูล "ลับ ลวง พราง" รายวัน ในวง อุษาคเนย์เสวนาสาธารณะ (Southeast Asian Public Talk) ครั้งที่ 1 ที่จัดโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยังได้สะท้อนภาพ หัวอกคนไทย และธุรกิจในกัมพูชา ที่ไม่ได้มีแค่ "กำไร" และ "ขาดทุน" เท่านั้น

สมศักดิ์ รินเรืองสิน นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา สะท้อนมุมมองแรกต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ "ภาพใหญ่" ของชายแดนไทย-กัมพูชาในฐานะคนค้าขายว่า ปัจจุบันแม้สถานการณ์จะเริ่มมีความตึงเครียด แต่ยังไม่ค่อยส่งผลกระทบเท่ากระแส "ข่าวลือ" ที่เกิดขึ้น

ด้าน วิชัย กุลวุฒิวิลาศ กรรมการผู้จัดการบริษัท สไมล์ภัณฑ์ จำกัด ที่ทำตลาดอุปโภคบริโภคอยู่ในเขมรมากว่า 10 ปี คิดว่า ผลกระทบหลักของเหตุการณ์นี้อยู่ที่สภาพจิตใจของผู้คน ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าทำให้บรรดาคู่แข่งที่เข้ามาเจาะตลาดเขมรเริ่มได้เปรียบ มากขึ้น

"เมื่อก่อนเขานิยมสินค้าไทยมาก แต่ตอนนี้มีเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเจาะตลาดกัมพูชามากขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดก็เริ่มลดลง ยิ่งมีเรื่องการเมืองเข้ามา ถามว่ามันมีผลกระทบกับการค้าชายแดนไหม ผมว่ามี ผมว่ามันมีผลกระทบทางด้านจิตใจ แล้วมันส่งผลต่อการค้าด้วย ซึ่งตอนนี้เวียดนามกำลังมาตีตลาดกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำให้เราประมาทไม่ได้"

ปรีดา สามแก้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท PD Intertrade 92 จำกัด จำลองภาพหากสถานการณ์บานปลายถึงขั้นปิดด่านว่า ทุกฝ่ายจะได้รับความเดือนร้อนเหมือนกันหมด

"คนไทยที่อยู่ฝั่งกัมพูชาเดือดร้อน พ่อค้าอาจต้องลดสินค้าคงคลังลง เพราะหากปิดด่านแล้วทำการค้าขายไม่ได้ ของที่สั่งมาก็เสียเปล่า ต้องเร่งระดมเก็บเงินไว้ เพิ่มเวรยามดูแลความปลอดภัยโกดังเก็บสินค้า หากเหตุการณ์รุนแรงมากผลกระทบเหล่านี้ก็จะตามมา ขนาดเหตุความไม่สงบที่มีการยิงปะทะกันของไทย-กัมพูชา คนก็ตื่นตระหนกกันมาก เกิดการอพยพหนีเพื่อให้พ้นวิถีกระสุน เกิดการตุนสินค้า เช่น น้ำมัน อาหารต่างๆ มันเกิดความไม่แน่นอน บางคนขายรถ ขายที่ดินก็มี"

ขณะที่ สม ไชยา (Som Chhaya) บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ CTN ของกัมพูชา มองว่าเรื่องการเมืองก็กระทบต่อมิติทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-กัมพูชา แต่อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าผู้นำประเทศจะสามารถคลี่คลายปัญหาไปในทางที่ดี ถึงอย่างไรก็อย่าให้มีการปิดพรมแดน เพราะจะกระทบทั้งสองฝ่าย

"ขณะนี้ธุรกิจของไทยที่ส่งออกไปค้าขายที่กัมพูชาอยู่มีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่หลังจากเหตุการณ์เขาพระวิหาร ชาวกัมพูชาก็เริ่มถอย เริ่มลดลง บางคนไม่เดินทางเข้ามาในไทยเลย"

เส้นความสัมพันธ์จึงไม่ได้หมายความแค่พรมแดนเท่านั้น เพราะผลกระทบดังกล่าวยังสะท้อนไปยัง สภาพเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนทั้ง 2 ประเทศด้วย

เสียงไทยในเขมร


นอกจากผลกระทบในเศรษฐกิจระดับ ภูมิภาคแล้ว บรรดาผู้ประกอบการรายย่อยชาวไทยที่ทำธุรกิจอยู่ในกัมพูชาต่างก็ต้องปรับตัว ต่อความ "ไม่นิ่ง" ของสถานการณ์เหมือนกัน

"ในเสียมเรียบ ธุรกิจคนไทยเยอะนะ มีทั้ง ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ส่วนที่พนมเปญส่วนใหญ่จะเป็นโรงงาน" ลาวัณย์ ดวงทาแสง ผู้จัดการ บริษัท Angkor amazing holiday & tours ที่เข้ามาจับงานทัวร์กับเพื่อนๆ ในเสียมเรียบให้ข้อมูลถึงภาพรวมของธุรกิจไทยในกัมพูชา

ความผันผวนของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในขณะนี้ เธอยอมรับว่า ธุรกิจทัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร และบริการจะเป็นกลุ่มธุรกิจลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะความไม่มั่นใจในสถานการณ์

"ปัญหาชายแดนก็จะมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่จะออกมาที่นี่เหมือนกัน เพราะพอเขาฟังข่าวก็จะน่ากลัว กลัวจองไม่ได้ รอดูสถานการณ์ก่อน เราก็ไม่แน่ใจว่าต่อไปมันจะเป็นยังไง ทั้งรัฐบาลเรา และรัฐบาลที่นี่"

ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ชายแดนไทย-กัมพูชา แต่คนขะแมร์อย่าง เทือน สุธี (sothy thoeun) ที่ทำอาชีพไกด์รับกรุ๊ปคนไทยอยู่เป็นประจำถึงกับต้องเอามือก่ายหน้าผากอยู่ บ่อยครั้ง

"ถึงที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาจะมีการประเมินการเติบโตของนักท่องเที่ยว มากกว่าล้านคนต่อปี แต่ในความเป็นจริง ทั้งคนขายของในตลาด ทั้งตามโรงแรม หรือคนท้องถิ่นต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ลูกค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ช่วงที่ยิงกัน คนที่อยู่พนมเปญบางคนหนีเลย กลัวว่า รัฐบาลจะเกณฑ์ไปเป็นทหาร สภาพความเป็นจริงแล้วมันไม่ถึงกับตรงนั้นหรอก เพราะมันไม่เหมือนอดีต เขาไม่ได้แก้ไขปัญหาด้วยการทำสงคราม แต่บางคนยังคิดอยู่ แต่นักท่องเที่ยวไทยหายเกลี้ยงเลย" เขาเผยรอยยิ้มเจื่อนๆ

ทางออกจาก "คนข้างล่าง"


ปฏิเสธ ไม่ได้ว่า กรณีความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา วันนี้นั้น "คนข้างบนตีกัน แต่ที่เจ็บตัวกลับเป็นคนข้างล่าง" การหาทางออกเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาใจกันอยู่ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็นมากที่สุด โดยเฉพาะบรรดาคนข้างล่างทั้งหลายที่กำลังจะตายเพราะคนข้างบน

"เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอย่าเทียวทะเลาะกับลูกค้า" ปรีดา เปรียบเปรย เขาคิดว่าหากมองกันอย่างรอบด้านนั้น การทะเลาะกันของไทย และกัมพูชารังแต่จะเสียประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

"ที่โรงเกลือ ด่านสระแก้ว เรามีรายได้จากชาวกัมพูชาที่มาซื้อสินค้าแต่ละปีมูลค่า 6-7 หมื่นล้านบาท เราไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปทะเลาะกับลูกค้า เราต้องการเพื่อนบ้านที่ดี เราก็ต้องดีกับเขา ดูได้ง่ายๆ อย่างด่านตลาดโรงเกลือ ชาวบ้านที่สระแก้วเขาก็มีรายได้จากการขายของที่มีอยู่ เช่น มะพร้าว การที่มีการค้าขายในจุดชายแดน ก็เอื้อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับประโยชน์ด้วย คือ ได้รับประโยชน์กันตั้งแต่ระดับรากหญ้าเลย ยังไม่นับรวม พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดที่ขายผัก ผลไม้ ดอกไม้สด เขาก็ได้ประโยชน์ รวมไปถึงนักธุรกิจในระดับโรงงานด้วย"

ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดไทย- กัมพูชา ประภาพรรณ ศรีสุดา ให้ความเห็นว่า อยากให้มองผ่านบทเรียนในอดีตเพื่อทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ก้าวผ่านอุปสรรคไปสู่ความร่วมมือในอนาคตต่อไป

"ตอนนี้ได้มีการตัดถนนสายการค้า ปอยเปต- พนมเปญ เพื่อความสะดวกสบายในการค้าขายระหว่างกัน จึงมีคำถามว่าไทยกับกัมพูชาจะรักกัน จะไปด้วยกันได้อย่างไร ในเมื่อตอนนี้มีอุปสรรคใหญ่ขวางอยู่ อย่างไรก็ตามอยากให้เรามองเรื่องอดีตที่ผ่านมาเป็นครู แล้วมาแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ให้อนาคตเดินหน้าต่อไปด้วยดี "

ในฝั่งของสื่อสารมวลชน สม เห็นว่าคนในวิชาชีพเดียวกับเขา เป็นตัวแปรที่สำคัญอีกทางหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดี ยิ่งในยุคที่การสื่อสารพัฒนาไปชนิดวินาทีต่อวินาที ยิ่งต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

"เพราะในปัจจุบันสื่อมาแรงมากในกัมพูชา มีสถานีโทรทัศน์และสื่อวิทยุเพิ่มมากขึ้น การติดต่อสื่อสารกันเร็วมาก แต่ผมขอย้ำว่าไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแน่ รัฐบาลทั้งสองก็มีความเอาใจใส่และระมัดระวังในการออกสื่อมากขึ้น สื่อเองก็ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวมากขึ้น เพราะบางทีมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซง มันอันตราย แล้วอาจขยายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้"

สมศักดิ์ เสริมว่า ที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศมีบทเรียนมากมายจากสงครามในอดีต คงไม่มีใครอยากกลับไปอยู่ตรงจุดนั้นอีก

"พวกเขาไม่ต้องการให้มีปัญหาระหว่างเพื่อนบ้าน และในทางประวัติศาสตร์ทั้งสองประเทศก็มีความสัมพันธ์กันมาช้านาน ทั้งเขาและเราก็ไม่อยากให้มีการปิดด่าน เพราะจะเกิดข้อเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม"

คงได้แต่หวังว่า "เรื่องเก่าเล่าใหม่" คราวนี้จะจบด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพที่แท้จริง
ไม่ใช่มิตรภาพหวังผลของคนบางคนที่รังแต่จะกวนน้ำให้ขุ่น วุ่นไม่เลิก

มองต่างมุมไทย-เขมร


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะนักวิชาการด้านอุษาคเนย์ที่ศึกษาเรื่องอุษาคเนย์หรือตะวันออกเฉียงใต้ มานาน ให้มุมมองเกี่ยวกับข้อขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาว่า เขาพระวิหารถูกยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีกครั้งในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคใหม่ เป็นยุคที่อาเซียนจะกลายเป็นประชาคม เป็นองค์กรซึ่งมีน้ำหนัก มีเครดิต เบื้องต้นมองว่าประเด็นของไทยและกัมพูชาเหตุการณ์ยังคงไม่รุนแรงถึงขั้น สงคราม

"สองประเทศนี้มันไม่น่าจะไปไกลถึงขนาดเกิดสงครามปะทะกัน ทหารของสองฝ่ายยังไม่เล่นด้วย เรายังอุ่นใจได้เพราะว่าทหารทั้งสองฝ่ายจะยังไม่เข้ามามีบทบาทในตอนนี้ ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องระหว่างกัมพูชากับไทย แต่เป็นเรื่องระหว่างไทยกับไทย คือไม่มีการลดราวาศอกกันเลย ตอนนี้ผมรู้สึกว่าท้อแท้และหดหู่กับการเมืองไทย แต่เราก็หนีไปไหนไม่ได้ มันแย่ตรงนี้"

ทางด้าน รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้สะท้อนทัศนคติในอีกแง่ว่า ถ้ามองในมุมพ่อค้าหรือนักธุรกิจแล้ว แน่นอนว่าคงไม่มีใครต้องการความรุนแรง การดำเนินกิจกรรมทางการค้าต่อภาครัฐของทุกประเทศในแถบอินโดจีน ควรต้องมีการศึกษาประวัติศาสตร์การค้าเพิ่มเติม อย่าให้มีประเทศใดตกเป็นเหยื่อสงครามทางการค้า แต่ควรหันมาสร้างอารยธรรมทางการค้าร่วมกันมากกว่าการสร้างความขัดแย้งทางการ เมืองหรือใช้มายาคติทางการเมืองมาตัดสิน

"ตอนนี้มันมีมายาคติมาครอบงำ เช่น คนนั้นเลว คนนั้นไม่ดี ในประวัติศาสตร์มันไม่ได้มีความจริงทั้งหมดหรอก มันสร้างมาทั้งนั้น มันก็คือนิยายหลอกเด็ก ตอนนี้เราเอามายาคติเหล่านั้นมาเป็นจุดหมายของการอยู่รอดของประเทศ แทนที่จะมองว่า ตอนนี้เราทำอะไรที่จะให้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ เราเป็นศูนย์กลางการค้าเราก็ต้องทำให้ภูมิภาคนี้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ผมอยากให้มองว่าสิ่งที่มากับการค้าคือการสร้างอารยธรรม วัฒนธรรมหรืออารยธรรมมันสร้างได้ เราต้องสร้างขึ้นมาแล้วเราจะอยู่ได้"

 

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ เสียงครวญ ไทย-ขะแมร์ ข้างบนตี ข้างล่างเจ็บ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook