17พ.ย.ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก
ปรากฏการณ์พายุฝนดาวตกครั้งนี้เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า ในวันอังคารที่ 17 พ.ย. ต่อถึง ช่วงใกล้เช้าวันพุธที่ 18 พ.ย.นี้ จะเกิดปรากฏ การณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญ น่าชม สามารถสังเกตเห็น ได้ด้วยตาเปล่าแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศไทย และครั้งนี้จะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกมากกว่าปีก่อน ๆ
สำหรับฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากโลกโคจรผ่านเข้าไปในซากสายธารฝุ่นหินของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัดเทิล ที่ยังหลงเหลืออยู่ ตามปกติคาบการโคจรของดาวหางดวงนี้คือ 33.2 ปี ในปีที่ครบรอบคาบการโคจรของดาวหาง จะเป็นการมาเติมเศษฝุ่นหินให้มากยิ่งขึ้น และเมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปในใจกลางสายธารของดาวหาง จึงมีโอกาสจะเกิดฝนดาวตกมากกว่าปกติ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า "พายุฝนดาวตก" แต่ในปีนี้คงไม่ถึงขั้นนั้น
"สำหรับในการเกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์ช่วงวันที่ 17-18 พ.ย. แม้จะไม่ใช่รอบปีของการเกิดพายุฝนดาวตกลีโอนิดส์ แต่จะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกในอัตราความชุกมากกว่าปีก่อน ๆ เพราะโลกจะโคจรตัดผ่านเศษซากสายธารฝุ่นหินของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัดเทิล ถึงสองสายธารด้วยกัน เราสามารถสังเกตได้ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืนไป แต่ช่วงที่คาดว่าจะมีฝนดาวตกชุกที่สุด น่าจะเป็นช่วงประมาณ 04.43 น. ของเช้ามืดวันที่ 18 พ.ย. ซึ่งมีอัตรา 100-500 ดวงต่อชั่วโมง เนื่องจากเป็นช่วงที่ดาวสิงโต จะอยู่กลางท้องฟ้าพอดี แต่ทุกอย่างอาจคลาดเคลื่อนได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่"
ด้านนายวิโรจน์ ลิ่วเจริญทรัพย์ หัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ช่วงคืนวันที่ 17 พ.ย. ถึงเช้าวันที่ 18 พ.ย. คาดว่าสภาพท้องฟ้าจะเปิดไม่มีเมฆมากและอากาศจะหนาวเย็นลง เอื้อต่อการดูฝนดาวตกเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป อาจ จะมีฝนตกและเมฆมาก จนเป็นอุปสรรคได้ ทั้งนี้สำหรับประชาชนที่จะขึ้นไปชมฝนดาวตกตามยอดดอยหรือพื้นที่สูง ควรจะเตรียมเสื้อกันหนาวไปใส่ด้วย ป้องกันไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วยจากอุณหภูมิอากาศที่ลดลง
อย่างไรก็ตามในการชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ครั้งนี้ มีหน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมตั้งกล้องให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมหลายแห่ง ในภาคกลางจัดที่ศูนย์ วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต คลองหก จ.ปทุมธานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออก โรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ จ.ฉะเชิงเทราและบริเวณอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ วนอุทยานเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี ทางภาคเหนือจัดที่มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายและสนามหน้า ศาลากลาง จ.อุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหา วิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ส่วนทางภาคใต้จัดที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.