แม่จะขาดใจ ลูกสาว 12 ขวบฉีดไฟเซอร์เข็มแรก ก่อนเข้า ICU อาการวิกฤต

แม่จะขาดใจ ลูกสาว 12 ขวบฉีดไฟเซอร์เข็มแรก ก่อนเข้า ICU อาการวิกฤต

แม่จะขาดใจ ลูกสาว 12 ขวบฉีดไฟเซอร์เข็มแรก ก่อนเข้า ICU อาการวิกฤต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด.ญ.อายุ 12 ปี ฉีดไฟเซอร์ เข็มแรก ต่อมาต้องเข้าห้อง ICU ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รพ.เด็กแจง ไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซักประวัติพบขาดโครงสร้างร่างกายผิดปกติตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยรับการรักษา

วานนี้ (2 พ.ย. 64) นางพรพรรณ อายุ 38 ปี แม่ของ น้องมิ้น (นามสมมุติ) อายุ 12 ปี เผยว่า ตอนนี้น้องยังอยู่โรงพยาบาล และมีหน่วยงานเข้ามาติดต่อช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วตามขั้นตอน

แม่เล่าย้อนให้ฟังด้วยว่า ลูกได้รับ วัคซีนไฟเซอร์ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 64 ซึ่งหลังจากฉีดวัคซีนผ่านไป 3 วัน ลูกมีอาการเจ็บหน้าอก และมีอาการไอ พอวันรุ่งขึ้น มีอาการนอนไม่สบายตัว หายใจแรงมาก พอเข้าวันที่ 6 ตนรู้สึกว่าอาการลูกไม่ค่อยดี จึงพาไปพบหมอที่คลินิก ก่อนจะทำเรื่องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชบุรี

เมื่อไปถึงทางโรงพยาบาลได้แจ้งกับตนว่า อาการน้องเริ่มไม่ไหวแล้ว ถ้าอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรีต่อ จะทำได้แค่ประคองชีวิตไว้ จึงได้ส่งตัวลูกไปรักษาต่อที่กรุงเทพฯ ซึ่งทางโรงพยาบาลแจ้งว่า น้องหัวใจอักเสบถึง 2 ห้อง ตนจึงบอกกับหมอว่าน้องได้รับวัคซีนมา จากนั้นโรงพยาบาลก็นำเลือดของลูกไปตรวจ โดยผลจะต้องรออีก 6-7 วันจึงจะรู้ผล

ด้าน พ.ญ.ปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ได้เปิดเผยถึงกรณีของน้องมิ้นว่า ทราบเรื่องราวของน้องมิ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยทางหมอที่โรงพยาบาลราชบุรี ประเมินแล้วว่าเกินศักยภาพการรักษา จึงได้ส่งต่อไปสถาบันเด็กที่กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้ทราบว่าอาการค่อนข้างหนัก ต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งการดูแลรักษาต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทางเยอะพอสมควร อาการตอนนี้ยังถือว่าวิกฤตและยังอยู่ในห้อง ICU

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลเจ็ดเสมียน ที่น้องได้รับวัคซีนนั้น ได้แจ้งให้ญาติของเด็กมายื่นคำร้องเรื่องการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีความเสียหายจากการได้รับวัคซีน ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้วทางโรงพยาบาลก็ได้ให้ทางครอบครัวของน้องมิ้นยื่นเรื่องไว้ก่อน แต่เนื่องจากการรักษาในน้องยังไม่สิ้นสุด จึงยังไม่ได้ยื่นไปที่สปสช.เขต5 ราชบุรี

ส่วนกรณีของน้องมิ้น จะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้างนั้น ทางหน่วยงานก็ได้ให้รีบยื่นเรื่องเข้ามาพิจารณาเพราะน้องค่อนข้างที่จะอาการหนัก โดยจะประสานไปทางญาติในการขอเอกสารการรักษาเพื่อมาประกอบการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม เคสน้องมิ้น ถือเป็นเพียงรายเดียวที่มีอาการรุนแรง นอกจากนั้นก็จะเป็นอาการที่เล็กน้อยจนถึงปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นไข้และปวดแขนค่อนข้างเยอะ เรียกได้ว่าเป็นอาการทั่วไป แต่สำหรับอาการที่รุนแรงก็มีแค่รายเดียวที่รับทราบ ซึ่งช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงของการเฝ้าระวัง ภายหลังจากการฉีดวัคซีน 30 วัน เราก็ต้องสังเกตอาการต่อไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวใด

ล่าสุดด้าน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า จากการซักประวัติของเด็ก โดยการสอบถามจาก พ่อและแม่ของเด็ก พบว่า น้องมีภาวะหลังโก่งและคด โดยสังเกตเห็นตั้งแต่อายุ 9 เดือน แต่ไม่เคยรักษาที่ใดมาก่อน และมีประวัติเหนื่อยง่ายตั้งแต่อายุ 2 ขวบ แต่ไม่เคยพบแพทย์มาก่อน


จากการตรวจร่างกายเด็กที่สถาบันฯ พบว่า เด็กตัวเล็กและเตี้ยกว่าเกณฑ์มาก มีหลังคดโก่งรุนแรง และมีนิ้วปุ้ม ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะปอดขยายตัวไม่เต็มที่และมีพังผืดในปอดได้

ส่วนการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงพบว่า การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี ไม่มีสิ่งที่บ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และพบการอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด จึงตรวจหัวใจเพิ่มเติมด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด และพบว่าถุงลมในปอดขยายได้ไม่เต็มที่ และบางบริเวณมีปอดแฟบ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (PICU) สถาบันฯ ระหว่างวันที่ 26-31 ต.ค. 64 ซึ่งทางสถาบันฯ ได้รักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ดูแลทางเดินหายใจ โดยขณะนี้สามารถถอดท่อทางเดินหายใจและเปลี่ยนมาให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง รวมถึงได้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง และเอกชเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจอีกครั้ง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 64 พบว่าก้อนลิ่มเลือดที่อุดตันมีขนาดเล็กลง เลือดไหลเวียนไปสู่ปอดได้ดีขึ้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี

เมื่ออาการดีขึ้น ทางสถาบันฯ ได้ย้ายผู้ป่วยเข้าดูแลในหอผู้ป่วยเด็กเฉพาะโรคในวันที่ 1 พ.ย. 64 พบว่า ผู้ป่วยหอบเหนื่อยลดลงสามารถรับประทานอาหารได้

อย่างไรก็ตาม ทีมกุมารแพทย์หลากหลายสาขาของสถาบันฯ ทั้งด้านโรคหัวใจ โรคปอด โลหิตวิทยา โรคภูมิคุ้นกัน ได้ร่วมกันดูแลน้องอย่างเต็มที่เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดปอด ทั้งนี้ ทางสถาบันฯ ขอแจ้งให้ทราบว่า อาการของเด็กไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook